ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน 185 ประเทศส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตกว่า 2,600 ล้านคน และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยปีนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดประมาณการ GDP โลกในปี 2563 ลงจาก 3.3% เป็น -3% เพราะมองว่าอาจเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย นับจากเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 (พ.ศ. 2473)
ทั้งนี้ IMF ประเมิน GDP ปี 2563 ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปลดลง ขณะที่ประเทศไทย IMF คาดว่า GDP ปี 2563 จะติดลบ 5.7% สาเหตุเพราะการท่องเที่ยวที่ลดลง คิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของ GDP โดย บล.กสิกรไทย คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าไทยในปี 2563 จะปรับลดลงเหลือ 15 ล้านคน จาก 40 ล้านคนในปี 2562
จากผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ในวงเงินคิดเป็น 22% ต่อ GDP และออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท โดยอาจเห็นการออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.75%
ในส่วนของการลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่ายังต้องจับตาสถานการณ์โควิด-19 โดยปัจจุบันคงเป้าหมาย SET Index ล่วงหน้า 12 เดือนที่ 1,370 จุด (อิง EYG ระดับค่าเฉลี่ยในอดีต) สอดคล้องกับสมมติฐานที่ 2 ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 หากถูกยับยั้งจากมาตรการอื่นๆ นอกเหนือจากการค้นพบวัคซีนหรือประสิทธิผลทางการแพทย์ที่สูงขึ้น คาดการณ์ว่าทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต เพราะมองว่ายังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดอีกรอบ
ทั้งนี้กลุ่มการท่องเที่ยวและพาณิชย์จะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก (เมื่อเทียบกับตลาดในภาพรวม) เพราะสถานการณ์ของสมมติฐานนี้ยังจะมีการใช้มาตรการที่เข้มงวด เช่น มาตรการ Social Distancing นโยบายทำงานจากบ้าน การห้ามจัดงานที่มีผู้คนรวมตัวกันจำนวนมาก พฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ ดังนั้นมองว่าหุ้นที่อิงวัฏจักรโลก เช่น กลุ่มน้ำมันและก๊าซ จะมีทิศทางดัชนีที่ดีที่สุดภายใต้สถานการณ์นี้
นอกจากนี้หากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดใกล้เข้าสู่ช่วงสิ้นสุดลงของระลอกแรก เกิดขึ้นภายในช่วงกลางหรือปลายเดือนพฤษภาคม 2563 จะมีความกังวลหลักคือกลุ่มประเทศหลักจะกังวลต่อโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดในระลอกที่สอง จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีและผลเสียจากการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้นมองว่าตลาดหุ้นไทย (SET) ในช่วง 4 เดือนตามสมมติฐานที่ 3 จะเคลื่อนไหวในกรอบล่างที่ 1,219 จุด และกรอบบนที่ 1,292 จุด
อย่างไรก็ตาม บล.กสิกรไทย เชื่อว่าตลาดจะเริ่มตอบสนองในเชิงบวกต่อกำหนดการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ โดยเรามีกลยุทธ์การลงทุน 2 รูปแบบ เมื่ออิงจากประเด็นดังกล่าว ได้แก่
1. การกลับมาดำเนินกิจกรรมตามปกติเต็มรูปแบบ มองว่าการตัดสินใจยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์แล้วกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบจะทำให้ตลาดมีปฏิกิริยาในเชิงบวกอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ยั่งยืน ในเชิงกลยุทธ์แล้ว แนะนำนักลงทุนขายทำกำไรเมื่อ SET Index เคลื่อนตัวแตะกรอบบนตามสมมติฐานที่ 3 ที่ 1,292 จุด
และหันไปเลือกหุ้นแนวตั้งรับมากขึ้น เช่น กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มอาหาร กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) กลุ่มเครื่องมือทางการแพทย์ ได้แก่ ADVANC, CPF, TU, RBF, CPALL, BJC, CBG, EGCO และ RATCH
2. การตัดสินใจคงมาตรการล็อกดาวน์ต่อไป อาจส่งผลให้ตลาดตอบรับในเชิงลบเพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย กลุ่มขนส่ง กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มการเงิน และกลุ่มการบิน ในกรณีนี้ SET Index อาจปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1,094 จุด ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสในการเข้าสะสม เพราะมีความเสี่ยงน้อยลงที่ยอดผู้ติดเชื้อจะกลับมาพุ่งสูงขึ้น ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่ายอดยืนยันผู้ติดเชื้อใหม่จะปรับลดลงมากกว่าเดิม
ทาง บล.กสิกรไทย แนะนำให้เข้าซื้อหุ้นต่อไปนี้เมื่อราคาย่อตัวลงมา ได้แก่ CPN, CRC, HMPRO, DOHOME, GLOBAL, COM7, BEM, BTS, PTG, SCC, PTTGC, BAM และ AAV เพราะหุ้นเหล่านี้ได้รับผลกระทบมามากแล้วในช่วงก่อนหน้า แต่มองว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อมีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ในท้ายที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์