×

กลยุทธ์การลงทุนในยุคหุ้นแพง

18.02.2021
  • LOADING...
กลยุทธ์การลงทุนในยุคหุ้นแพง

หากเราเชื่อว่าราคาหุ้นสะท้อนความคาดหวังต่อผลประกอบการบริษัทในอนาคต ก็นับว่าราคาหลักทรัพย์หลายตัวในปัจจุบันไม่ใช่ราคาที่ถูกในยุคนี้ โดยหากดัชนีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 1,500 จุดในวันนี้ คิดเป็น 19.4 เท่าของดัชนีกำไรต่อหุ้น (Index’s EPS) ไทยปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 77.2 จุด นั่นหมายความว่า นักลงทุนยินดีจ่ายเงินเป็นราคาสูงถึงเกือบ 20 เท่าของผลประกอบการที่ยังไม่เกิดขึ้น (Price to Earnings Ratio: PER) นับว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปีของตลาดหุ้นไทยที่มีค่าเฉลี่ย Forward Looking PER อยู่ที่แค่ประมาณ 13 เท่า และถ้าเช่นนั้น PE สูง 20 เท่า แบบนี้จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน? 

 

ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่าเบื้องหลังความแพงแบบนี้เกิดจากต้นเหตุอะไรและจะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน ทั้งนี้ ต้นเหตุหลักๆ อาจมาจาก 2 ประเด็นด้วยกัน คือ

 

ประเด็นที่ 1 นักลงทุนอาจมองข้ามผลประกอบการปีนี้ไปแล้ว และเชื่อมั่นว่าผลจากวัคซีนจะทำให้เศรษฐกิจฟื้น ส่งผลให้ผลประกอบการบริษัทเติบโตต่อในอัตราสูง ดังนั้น PER ที่สูงถึง 20 เท่าในวันนี้อาจจะลดลงเรื่อยๆ ในอนาคตได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเชื่อว่า PER ที่สูงควรดูเทียบกับอัตราการเติบโตด้วย ดังนั้น PER 20 เท่า ต้องมีพื้นฐานการเติบโตของผลประกอบการที่สูงถึงราว 20% ไปอีกหลายปี ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ผลดำเนินงาน (Earnings) รวมของทั้งตลาดจะขยายตัว 20% ได้หลายปี แม้ว่าปีนี้อัตราเติบโตระดับ 20% อาจพอเป็นไปได้ เพราะเป็นการโตมาจากฐานที่ต่ำในปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่หากมองไปข้างหน้าหลายๆ ปี การเติบโตระดับ 20% ในหลายปีแทบเป็นไปไม่ได้เลย จากที่ผ่านเศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ยอย่างมากก็เพียง 2-3% ดังนั้นตลอดช่วงหลายปีข้างหน้ากำไรของบริษัททั้งตลาดโดยรวมก็ไม่น่าสูงกว่านี้นัก

 

จากแนวคิดนี้ความแพงของตลาดต้องได้รับข่าวดีเรื่องการเติบโตของผลประกอบการอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะยืนระดับความแพงที่ PE Ratio 20 เท่านี้ต่อไปได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือผลประกอบการ หากมีสัญญาณว่าจะทำไม่ได้ตามคาดหรือมีการปรับลดประมาณการผลประกอบการโดยนักวิเคราะห์หรือเศรษฐกิจมีแนวโน้มต่ำกว่าคาด เช่น ผลของวัคซีนได้ผลต่ำกว่าคาดก็จะส่งผลให้ PE Ratio ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว

 

ประเด็นที่ 2 อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและสภาพคล่องที่สูง ซึ่งจะส่งผลให้การคำนวณมูลค่าเหมาะสมทางทฤษฎีด้วยวิธีการต่างๆ ได้ผลออกมาในระดับสูง หรือในมุมนักลงทุน หากตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนต่ำก็อาจโยกความสนใจมายังสินทรัพย์เสี่ยง ดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นได้ ในข้อนี้มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะยังลอยตัวสูงไปได้อีกระยะ เนื่องจากธนาคารกลางทั่วโลกคงยังไม่มีใครที่จะกล้าขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้ อย่างน้อยก็รอจนกว่าวัคซีนจะได้ผลในระยะหนึ่ง จนทำให้เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจริงจัง

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเรื่องของการคาดการณ์อนาคต ซึ่งตอนนี้เริ่มมีกระแสว่าอัตราเงินเฟ้ออาจมีการพุ่งสูงขึ้นมากในระยะยาว เนื่องจากสภาพคล่องทั่วโลกที่ธนาคารกลางอัดเข้ามาในระบบจำนวนมาก เห็นได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เช่น พันธบัตร 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นจาก 0.6% เมื่อกลางปี 2563 มาอยู่ที่ 1.2% ในต้นปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองเงินเฟ้อ (US 10-Year Breakeven Inflation Rate) ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.5% เมื่อกลางปีก่อน มาเป็น 2.2% ในขณะนี้ ซึ่งเมื่อมุมมองเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลลบต่อราคาหุ้นทั่วโลกได้

 

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในสภาวะเช่นนี้คือ การเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีการเติบโตของผลประกอบการสูงหรือเกี่ยวเนื่องไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้หุ้นมีความน่าสนใจกว่าตราสารหนี้, หุ้นเล็กเติบโตสูงอาจน่าสนใจกว่าหุ้นขนาดใหญ่, หุ้นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อาจน่าสนใจกว่าหุ้นตลาดพัฒนาแล้ว, หุ้นเทคโนโลยีในเอเชียจึงอาจน่าสนใจกว่าหุ้นเทคโนโลยีตะวันตกที่ปรับตัวขึ้นสูงมาก่อนหน้านี้ โดยสอดคล้องกับมุมมองว่าภูมิภาคเอเชียเป็นหุ้นที่น่าสนใจภายใต้ธีมการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังโควิด-19 อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคนด้วย

 

นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งสำคัญของการลงทุนคือการกระจายความเสี่ยง อย่างที่เราได้ยินเสมอว่า “Don’t put all eggs in one basket” หรือ “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงเวลาต่างๆ แล้ว ยังเป็นการลดความผันผวนของผลตอบแทนรวมเฉลี่ยของทั้งพอร์ตฯ ด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X