×

ลงทุนอะไรดี ครึ่งหลังปี 2566

13.07.2023
  • LOADING...
การลงทุน

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก เพิ่งจะปีใหม่ไปไม่นาน เวลานี้เรามาอยู่ในครึ่งหลังของปี 2566 แล้วนะครับ แม้ภาพรวมตลาดอาจจะไม่สดใสนัก แต่มองโลกในแง่ดี ปีนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเท่าปีที่ผ่านมา จริงไหมครับ และช่วงที่เหลือของปีเมฆหมอกจะจางหาย แสงสว่างการลงทุนจะอยู่ตรงไหน ผมจะพาไปส่องหาครับ

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ในครึ่งปีหลังการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวค่อนข้างลำบาก เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง ผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศจะต้องมีความระมัดระวังในการผลักดันนโยบายสนับสนุน โดยที่จะไม่ทำให้หนี้ของแต่ละประเทศพุ่งสูงจนเกินไป 

 

เราได้เห็นนักวิเคราะห์หลายท่านให้ความหวังว่า เศรษฐกิจในสหรัฐฯ น่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า (ช่วงกลางปีถึงปลายปี 2567) แต่ก็จะเป็นการถดถอยแบบที่ไม่รุนแรงมาก (Mild Recession) เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ยังแข็งแกร่ง แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและส่งผ่านไปยังลูกค้า ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะส่งผลต่ออัตรากำไรของบริษัทที่ลดลงตามมานั่นเอง

 

ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อนั้นทางหอการค้าสหรัฐฯ ได้คาดว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ในช่วงที่ผ่านมา จะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงได้ในปี 2567 แต่ยังคงต้องจับตามองเส้นอัตราผลตอบแทน Inverted Yield Curve ที่เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความเสี่ยงการเกิดเศรษฐกิจถดถอย และกดดันตลาดหุ้นในขณะนี้

 

สำหรับมุมมองของผมแล้ว แม้จะยังมีความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ผมมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นบวก หากไปดูตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ภาพรวมตลาดโลกยังสามารถทำผลตอบแทนได้เหนือกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ถึงแม้ว่าหลายธนาคารกลางจะออกนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงและความท้าทายที่จะต้องออกแบบนโยบายที่กระทบตลาดน้อยที่สุดในยามนี้ ซึ่ง Fed เองยังมีความชัดเจนว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนกรกฎาคมนี้ และอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 

 

สินทรัพย์ที่ควรมีติดพอร์ต ‘ครึ่งปีหลัง’

 

หลายท่านที่ถามเข้ามาว่าในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 ยังมีสินทรัพย์ที่น่าลงทุนอยู่บ้างไหม ส่วนตัวผมมองว่าสินทรัพย์ดีๆ ยังมีอยู่ในหลายส่วนของโลก ที่นักลงทุนสามารถใช้จังหวะนี้ลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น 

 

หากพิจารณาโอกาสที่ Fed จะเริ่มคงอัตราดอกเบี้ยและอาจปรับลดลงในอนาคต ซึ่งตลาดคาดว่า Fed จะมีการลดดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีหรือกลางปี 2567 ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาลให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ได้ออกมาตั้งแต่ในช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงจะได้รับความสนใจมากขึ้น ดังนั้น การจัดสรรพอร์ตลงทุนให้มีสัดส่วนของตราสารหนี้ตามระดับความเสี่ยงของตัวเอง ผมมองว่าจะช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุนของคุณได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการลงทุนใน ETF เพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลายทั้งตราสารหนี้และหุ้นในหลายๆ อุตสาหกรรม เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่สูง

 

จากการสำรวจของ PWC คาดว่าตลาด ETF ทั่วโลกจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งคาดการณ์ว่า สินทรัพย์ ETF ภายใต้การจัดการ (Asset Under Management: AUM) จะมีมูลค่าอย่างน้อย 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินที่ไหลเข้ากองทุนและผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้ว่า AUM ของ ETF ทั่วโลกจะสามารถทะลุ 20 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2569 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) 17% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

ส่วนของ Jitta Wealth เองก็มีนโยบายการลงทุนในกลุ่ม ETF เช่นกัน คือ Global ETF ที่มีการแบ่งสัดส่วนการลงทุนทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ โดยขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนสามารถรับได้ และจัดพอร์ตการลงทุนตามสูตร Modern Portfolio Theory ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันนามว่า Harry Markowitz ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2533 ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือ แนวโน้มผลตอบแทนใน Global ETF ทั้ง 3 แผนการลงทุนที่มี เริ่มได้รับความสนใจและมีแนวโน้มผลตอบแทนที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

 

หุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ โอกาสที่ห้ามพลาด

 

ปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดโดยรวมได้มีการปรับตัวลดลงเนื่องด้วยสถานการณ์ต่างๆ เช่น การที่ Fed เร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 10 รอบติดต่อกัน เพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งในเดือนมิถุนายน 2566 เงินเฟ้อได้ลดลงมาอยู่ที่ 4.1% แล้ว นับว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงมีความสัมพันธ์กับการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์ทางการเงินอย่างดัชนี Nasdaq ที่หากเปรียบเทียบผลตอบแทนตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 32.48% เทียบกับอัตราเงินเฟ้อลดลงจาก 6.4% มาที่ 4.1% หรือลดลง 35.6%

 

หุ้นเทคโนโลยีครอบคลุมบริษัทต่างๆ มากมาย ตั้งแต่สตาร์ทอัพไปจนถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Apple, Microsoft และ Google กำลังจะมีทิศทางที่ดี เนื่องจากในสภาวะตลาดปกติที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับกลางถึงต่ำนั้น บริษัทเหล่านี้ใช้เงินจำนวนมากในการขยายและนำมาลงทุนในบริษัทตนเองต่อ แต่ในช่วงที่สภาวะตลาดดอกเบี้ยขาขึ้นจะทำให้บริษัทมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น หากตลาดมองว่าดอกเบี้ย Fed ใกล้ถึงจุดสูงสุดเรียบร้อยแล้ว นักลงทุนจะคาดการณ์ไว้ว่า หลังจากนี้หากดอกเบี้ยอยู่ในระดับคงที่และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง ก็จะทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจลงทุนหุ้นเทคโนโลยีอีกครั้ง 

 

และหากดูในส่วนของ P/E ล่าสุดของตลาด Nasdaq จะอยู่ที่ 21.73 เท่า ซึ่งหากเทียบกับเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้วจะอยู่ที่ 27.01 เท่า จะเห็นได้ว่าด้วยรายได้ของบริษัทต่างๆ ในตลาดที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อน ทำให้ Valuation ของหุ้นเทคโนโลยีไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงเหมือนในอดีต จึงมีความน่าลงทุนอยู่

 

แนวโน้มดังกล่าว Jitta Wealth ก็เห็นภาพเดียวกัน โดยกองทุนส่วนบุคคลของ Jitta Wealth นโยบายหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ (Jitta Ranking – U.S. Tech) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2566 สร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 34.76% และนโยบายหุ้นสหรัฐฯ (Jitta Ranking – U.S.) สร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 23.78% เทียบกับ S&P 500 ที่สร้างผลตอบแทนได้เพียง 13.71% เวลานี้จึงถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเริ่มเข้าลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ก่อนที่ Fed จะคงหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย

 

ตลาดหุ้นเนื้อหอม ต่างชาติสนใจเข้าลงทุน ‘ญี่ปุ่น’ 

 

อีกตลาดที่ผมเริ่มเชียร์ตั้งแต่ปีก่อน และยังเชียร์อยู่และเชียร์ต่อไป ต้องยกให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเลยครับ 

 

ในไตรมาสแรกเศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราต่อปีที่ 2.7% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.6% ส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้น ขณะที่ค่าเงินเยนก็สนับสนุนไม่น้อยทีเดียว รวมถึงภาคการท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวก โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 8.6 ล้านคน เพียงแค่ 5 เดือนแรกของปีก็แซงหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงปี 2565 ที่ตลอดทั้งปีมี 3.8 ล้านคนไปแล้ว 

 

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังมุ่งเน้นไปที่การใช้จ่ายภาคเอกชน และวางแผนที่จะลดการใช้จ่าย เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน โดยจะมีมาตรการฟื้นฟูสถานะทางการคลังต่างๆ เช่น การสนับสนุนให้บริษัทลงทุนในทรัพยากรมนุษย์และเสนอค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งรวมอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานกำลังท้าทายธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่า 3% ขณะที่การขึ้นค่าแรงจะยิ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก ดังนั้น การที่จะลดให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% ควบคู่ไปกับการเติบโตของค่าจ้างที่มากขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทาย BOJ เวลานี้ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของ BOJ ก็ไม่ได้เข้มงวดเหมือนธนาคารกลางอื่นๆ เนื่องจากญี่ปุ่นมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมเศรษฐกิจที่เปราะบาง และต้องการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจากภาวะเงินฝืด

 

ปัจจุบันรัฐบาลญี่ปุ่นใช้การควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) โดยกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% และกำหนดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับ 0% อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าเป้าหมาย 2% เป็นเวลานานกว่า 1 ปี ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในที่สุดแล้ว BOJ อาจต้องปรับนโยบาย YCC และมีนโยบายการเงินที่เข้มงวดแบบที่ประเทศอื่นๆ กำลังใช้อยู่

 

อีกหนึ่งกระแสลมที่ช่วยโหมให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นคึกคักขึ้นมาอีกก็คือ การที่นักลงทุนระดับโลกอย่างปู่ Warren Buffett ได้เพิ่มการลงทุนผ่าน Berkshire Hathaway ในญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะใน 5 หุ้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่รู้จักกันในชื่อ Sogo Shosha (Itochu Corp., Marubeni Corp., Mitsubishi Corp., Mitsui, and Sumitomo Corp) โดยสัดส่วนการถือหุ้นของ Berkshire Hathaway ในบริษัทเหล่านี้มีสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า 8.5% โดยมูลค่ารวมของการลงทุนเหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาหุ้นสาธารณะที่ Berkshire ถืออยู่นอกสหรัฐอเมริกา และไม่นานมานี้ดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่นทั้ง Nikkei 225 และ Topix ได้เข้าใกล้จุดสูงสุดในรอบ 30 ปี หรือตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความน่าสนใจของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงนี้

 

ตลาดหุ้นเวียดนามฟื้นแล้ว

 

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเวียดนามเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงใกล้แตะระดับ 5% จนทำให้ธนาคารกลางต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้ง โดยปรับขึ้นครั้งละ 1% สร้างความแตกตื่นให้กับนักลงทุนและเศรษฐกิจเวียดนาม นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ

 

แต่ข่าวดีครับ เวลานี้สถานการณ์เลวร้ายในปีก่อนหน้าเริ่มคลี่คลายลงแล้ว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดของเดือนมิถุนายนลดลงมาอยู่ที่ 2% โดยใกล้เข้าสู่สภาวะปกติ และหากดูในส่วนของผลตอบแทนดัชนี Vietnam Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.01% ตั้งแต่ต้นปี

 

ในขณะที่สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มดีขึ้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งมีการเจรจาขยายระยะเวลาชำระหนี้กับสถาบันการเงินและเจ้าหนี้ ทำให้สภาพคล่องของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เริ่มดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้ออกนโยบาย Social Housing เพื่อฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้พัฒนาโครงการ Social Housing จะได้รับสิทธิประโยชน์หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยพิเศษที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป 1.5-2% และวงเงินสินเชื่อระดับ 120 ล้านล้านดอง 

 

นอกจากปัจจัยที่เริ่มคลี่คลาย ปัจจัยการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจเวียดนามจากผลกระทบสภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน การบริโภคในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการขยายตัวมากถึง 12.6% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่า แตะที่ 4.6 ล้านคน 

 

สรุปแล้ว เวียดนามยังมีหลายปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ และในส่วนของ FDI ต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น ล่าสุด Foxconn ได้ลงทุนในเวียดนามถึง 250 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการเพิ่มการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV ซึ่งจะเป็นการลดการพึ่งพาการผลิตจากจีน หากในอนาคตมีปัญหาทางด้าน Supply Chain 

 

เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านมาถึงตรงนี้เริ่มใจชื้นแล้วใช่ไหมครับ ตลาดหุ้นไทยอาจจะหม่นๆ จากความไม่แน่นอนที่ยังรุมเร้า แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีความหวังในโลกของการลงทุนอยู่อีกหลายแห่งทีเดียว การกระจายโอกาสการลงทุนจะช่วยให้คุณลดแรงกดดันจากความผันผวนของสินทรัพย์ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งไปได้ ขอเพียงคุณศึกษาให้มาก เพราะความรู้จะช่วยให้ความเสี่ยงลดลงได้ครับ ขอให้มีความสุขทุกการลงทุนนะครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X