สรุปภาพรวมการลงทุนทั่วโลกในปี 2563 ที่ผ่านมา สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นยังคงเป็นแชมป์ในด้านการให้ผลตอบแทนที่สุดของโลก สะท้อนจากดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงตลาดหุ้นในเอเชียอย่างจีนและเกาหลีใต้ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน
วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล กล่าวว่าปัจจัยหลักที่หนุนให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากสภาพคล่องที่ล้นระบบผลักดันให้เงินลงทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง หลังจากที่ภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลายประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งความชัดเจนของนโยบายบริหารประเทศของสหรัฐฯ หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีผ่านพ้นไป
ส่วนปี 2564 สินทรัพย์เสี่ยงจะได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากปีก่อนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Market)
ทั้งนี้ แนะนำจัดพอร์ตการลงทุนแบบผสมผสาน ดังนี้
- ตราสารหนี้ระยะสั้น 30%
- หุ้นทั้งในและต่างประเทศ 40%
- สินทรัพย์ทางเลือก 30%
โดยในส่วนของตราสารหนี้ หากอ้างอิงกับปี 2563 ที่ให้อัตราผลตอบแทน 0.8-1% แม้จะไม่มาก แต่ก็สูงว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ขณะเดียวกันยังเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงยามเกิดความผันผวนได้ด้วย
ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงนั้นแนะนำให้แบ่งเป็นหุ้นในประเทศ 50% และหุ้นต่างประเทศ 50% เน้นลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียเหนือ (จีน เกาหลี ไต้หวัน) รวมถึงตลาดหุ้นอาเซียน และเวียดนาม
“ไม่อยากให้มองข้ามตลาดหุ้นเวียดนามไป เพราะปีที่ผ่านมาถือว่า Performance ดีมาก เป็นประเทศที่น่าจับตา เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี เช่นเดียวกับ FDI ที่ไหลเข้าต่อเนื่อง ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นมองว่าปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว อาจจะต้นทุนสูงไป แต่หากเห็นจังหวะปรับฐานก็สามารถเข้าลงทุนได้เช่นกัน”
ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกนั้น แนะนำให้แบ่งเป็นลงทุนในทองคำ 5% โดยมองว่าราคาทองปัจจุบันค่อนข้างสูง หากปรับฐานลงมาค่อยเข้าลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ 25% เน้นกองรีทส์ หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทโลจิสติกส์และ Data Center
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ มองว่าปี 2564 เป็นปีที่ทุกสินทรัพย์จะปรับขึ้นทั้งหมดสอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ อีกทั้งหลายประเทศยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องล้นระบบ ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ
จึงแนะนำจัดพอร์ตลงทุนเชิงรุก แบ่งเป็นการลงทุนดังนี้
- ตลาดหุ้นต่างประเทศ 40-50%
- ตลาดหุ้นไทย 20%
- สินทรัพย์ทางเลือก เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ หรือทองคำ 30%
- ลงทุนในตราสารหนี้ 10%
“ที่ไม่แนะนำเลยคือการถือเงินสด เพราะเป็นการเสียโอกาสหาผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างมาก”
โดยหุ้นต่างประเทศที่แนะนำลงทุนคือตลาดหุ้นในเอเชียเหนือ (จีน เกาหลี ไต้หวัน) ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นเวียดนาม ซี่งล้วนทำผลงานในปี 2563 ได้ดี และเชื่อว่าปี 2564 ก็จะเป็นตลาดหุ้นที่สร้างผลตอบแทนได้น่าพอใจในสภาวะที่สภาพคล่องล้นระบบ และเอเชียก็เป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างประเทศ
สุรเดช เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่าตลาดหุ้นโลกจะยังมีความผันผวนต่อเนื่องโดยมีปัจจัยหนุนจากสภาพคล่องที่ล้นระบบในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงยังสูง เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ Brexit ที่มีแนวโน้มจะจบแบบ No-deal
อย่างไรก็ตาม หุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจกว่าสินทรัพย์อื่นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินและการคลัง อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่ายังอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีก จนทำให้เกิดภาวะนักลงทุน Search for Yield และแนวโน้มพัฒนาการเชิงบวกของการผลิตวัคซีน
ทั้งนี้ มองแนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2564 จะได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ประเทศไทยจะเผชิญความท้าทายจากโควิด-19 แต่คาดหวังว่าจะสามารถทำได้ รวมถึงแนวโน้มการไหลเข้าของกระแสเงินทุนจากต่างชาติในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียรวมถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งนักลงทุนต่างชาติได้ลดน้ำหนักการลงทุนมาต่อเนื่องกว่า 5 ปี โดยมองเป้าดัชนีหุ้นไทยในปี 2564 ที่กรอบ 1,550-1,600 จุด
สำหรับหุ้นไทย อุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือกลุ่มที่มีโอกาสในการฟื้นตัวสูง ประกอบด้วย Banking, Energy and Petrochem, Hotel, Healthcare และกลุ่มที่กำไรโตอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย Utilities, Commerce, Mass Transit, Electronics
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก คือสถานการณ์ระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด, สถานการณ์การเมืองในภูมิภาค, ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายใต้ประธานาธิบดีไบเดน และนโยบายบริหารประเทศของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการค้าและความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ
“ด้วยสถานการณ์การลงทุนยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ผู้ลงทุนยังควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนและการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของพอร์ต โดยแนะนำ K-GINCOME, K-GINCOME-SSF เป็นพอร์ตหลัก และ K-CHINA, KCHINARMF เป็นพอร์ตเสริม”
ขณะที่ ศุภกร ตุลยธัญ Executive Director กลุ่มจัดสรรสินทรัพย์และกองทุนต่างประเทศ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่าได้จัดธีมที่น่าสนใจลงทุนในปี 2564 ประกอบด้วย
1. ตลาดหุ้น Asian Emerging Market ซึ่งคาดว่าในปี 2564 จะได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีท่าทีผ่อนคลายลง เนื่องจากมาตรการการแข่งขันทางการค้าของ โจ ไบเดน แตกต่างไปจาก โดนัลด์ ทรัมป์
นอกจากนี้กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีในเอเชียยังมีความน่าสนใจสูง เช่น Tencent, Alibaba, Samsung และ TSMC ซึ่งมีอัตราการเติบโตของยอดขายเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังสูงกว่ากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในสหรัฐฯ ในขณะที่มูลค่าพื้นฐาน (12-Month Forward P/E) ที่ถูกกว่า อีกทั้งตลาดหุ้นเอเชียยังได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของ Semiconductor Cycle ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเอเชีย โดยเฉพาะในเกาหลี
แม้กลุ่มประเทศในเอเชียจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ช้ากว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แต่ Earnings และ Valuation มีความน่าสนใจกว่า ประกอบกับค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาด EM
กองทุนที่แนะนำคือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเอเชีย และควรมีการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่สูง รองรับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า
2. ตลาดหุ้นกลุ่ม Domestic Play ซึ่งประกอบด้วยจีนและยุโรป เพราะเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและกระจายวัคซีนสู่ภาคประชาชนได้เป็นจำนวนมาก เมื่อภาคการบริโภคมีแนวโน้มกลับมาแข็งแกร่ง กลุ่มประเทศที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศจึงมีความน่าสนใจ
กองทุนที่แนะนำลงทุน ได้แก่ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นจีน และกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นยุโรปขนาดเล็ก และควรจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่สูง รองรับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า
3. Short-duration Credits สำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในปีหน้าอาจมีความน่าสนใจน้อยลง อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบในกลุ่มตราสารหนี้พบว่ากลุ่มตราสารประเภท High Yield ที่มีอายุสั้นมีความน่าสนใจมากกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้กลุ่มอื่น เช่น Investment Grade ซึ่งมีส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ภาครัฐค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายขาดดุลการคลังอย่างมากในสหรัฐฯ และข่าวดีของการพัฒนาวัคซีนจะทำให้ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่ม High Yield ลดลงตามไปด้วย
กองทุนที่แนะนำลงทุน ประกอบด้วย กองทุนที่ลงทุนในตราสาร High Yield ในสหรัฐฯ ที่มีระยะสั้น และกองทุนที่เน้นการลงทุนเพื่อหา Income จากตราสารหนี้หลากหลายประเภทในสหรัฐฯ เป็นหลัก อีกทั้งควรจะมีการกระจายการลงทุนไปในตราสารหนี้ทั่วโลกด้วยเช่นกัน และยังมีการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในระดับที่สูงเพื่อรองรับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์