×

ภาพใหญ่เริ่มดีขึ้น

10.11.2024
  • LOADING...
การลงทุน

เดือนที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นเดือนที่น่าจะดีที่สุดของปี ดัชนีหุ้นปรับตัวดีที่สุดในรอบ 10 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยหลักก็มาจากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างเข้าลงทุนในตลาดหุ้น ก่อนหน้าที่กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง จะเริ่มเข้าลงทุนอย่างเป็นทางการ ทำให้ครึ่งเดือนแรกนี้ต้องยกให้ตลาดหุ้น ส่วนครึ่งเดือนหลังจะมาจากตราสารหนี้ ที่ผลตอบแทนปรับทิศทางเป็นปรับตัวลงเกินความคาดหมาย เมื่อมติ กนง. ออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เหนือความคาดหมายของนักลงทุน เพราะส่วนใหญ่ไม่คาดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงในรอบนี้

 

ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย ประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็กลับเข้ามาเป็นปัจจัยหลักของนักลงทุนทั่วโลก ทำให้ ณ ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ภาพรวมการลงทุนจะดูนิ่งๆ เพราะจับตาดูผลของการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด ก่อนที่สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกจะดีดตัวขึ้นเมื่อทราบว่าทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

 

ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ เริ่มจากสหรัฐฯ การจ้างงานนอกภาคเกษตรมากกว่าคาดที่เพิ่มขึ้น 233,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่คาดและสูงสุดในรอบ 1 ปี อัตราการว่างงานที่ปรับตัวลงมาที่ 4.05% GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวในระดับ 2.8% ถึงแม้จะออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 3% เกิดจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ Net Export ลดลง แต่การบริโภคที่เป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.7% เทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ไตรมาส สะท้อนภาพความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เริ่มปรับมุมมองของ Federal Funds Rate จากเดิมที่คาดว่าจะลดอีก 0.5% เป็น 0.25% ซึ่งก็เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดคือ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นการปรับลดลงก่อนหน้า 2-3 วัน หลังจากทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดย โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ทำให้ความกังวลที่จะมีการนำมาซึ่งนโยบายกีดกันทางการค้า การขึ้นภาษีศุลกากร และข้อจำกัดด้านผู้อพยพ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของทรัมป์น่าจะเริ่มมีผลได้หลังจากประชุมสภาครั้งแรก ซึ่งน่าจะประมาณกลางไตรมาส 2 ของปีหน้า นโยบายเหล่านั้นอาจจะเป็นการเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นมาสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่ Federal Funds Rate อาจจะไม่สามารถลดลงได้ตามที่คาดหมายกันไว้ก่อนหน้านี้

 

ขยับมาที่ยุโรปกันบ้าง เศรษฐกิจของยุโรปมีการขยายตัวของ GDP ราว 0.9% มากกว่าคาด นำโดยเยอรมนีที่ GDP สามารถขยายตัว 0.2% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของรัฐบาลและภาคครัวเรือน ตัวเลขขยายตัวดังกล่าวดีกว่าที่คาดการณ์กันไว้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยมาได้ และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% มากกว่าคาดที่ 1.8%

 

ในส่วนของภูมิภาคเอเชีย เศรษฐกิจของประเทศจีนเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งโดยเฉพาะภาคการผลิตของจีนที่มีการรายงาน PMI ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 50.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 49.8 ในเดือนที่แล้วและดีกว่าที่คาดการณ์ ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนเองก็เตรียมแผนตอบโต้ต่อกำแพงภาษีที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา โดยมีการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ

 

ภาพรวมตลาดหุ้นต่างประเทศในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาให้ผลตอบแทนเชิงบวกในตลาดสหรัฐอเมริกา นำโดยดัชนี NASDAQ ที่ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 2.3% เป็นรองเพียงตลาดญี่ปุ่นที่ดัชนี NIKKEI ให้ผลตอบแทนราว 3.2% ในขณะที่ตลาดที่ให้ผลตอบแทนเชิงลบคือตลาดยุโรป ดัชนี EURO STOXX 50 มีดัชนีติดลบ 2.29% และตลาดจีนและฮ่องกงที่มีผลตอบแทนเชิงลบที่ระดับ 2.5-2.7% ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดอินเดียปิดลบถึง 5.7% ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

 

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10Y UST) ปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากจากระดับ 3.80% มาที่บริเวณ 4.30% มาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ดี ปิดเดือนดัชนี MSCI ACWI แกว่งตัวคงที่ในเดือนตุลาคม

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยในเดือนตุลาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.62% ได้รับ Sentiment เชิงบวกเล็กน้อยจากการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งแรกที่ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปที่ระดับ 2.25% แต่ไม่คาดว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเหมือนอย่างในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียงการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าสู่สภาวะสมดุลมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ตลาดยังคงคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มต่อจากรัฐบาลในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี

 

โดยที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิมากถึง 2.8 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับการซื้อสุทธิในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนสถาบันมีการซื้อสุทธิราว 3.2 หมื่นล้านบาท คาดส่วนหนึ่งมาจากกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง

 

สำหรับเดือนพฤศจิกายน ผมแนะนำให้ปล่อยพอร์ตการลงทุนหุ้นไทยให้เป็นไปตามภาพใหญ่ในระดับโลก ดูค่อนข้างดีและน่าจะยาวไปตลอดเดือนนี้ และค่อยพิจารณาทำกำไรเมื่อ SET Index ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,500 จุด

 

อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ พอร์ตการลงทุนยังควรที่จะมีหุ้น 50% โดยแบ่งเน้นที่สหรัฐฯ 15% เนื่องจากปีแรกหลังการเลือกตั้งหุ้นสหรัฐฯ มักจะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนยุโรปและญี่ปุ่นรวมกัน 15% ส่วน เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้ระยะกลางของเอกชนที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% และตลาดเงิน 10% ที่เหลือลงทุนในทองคำ น้ำมัน และรีท รวมกันเป็น 10%

 

ภาพ: ben-bryant / Getty Images, anyaberkut / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X