เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ในบทความ ‘ส่องกล้องมอง 2021 ปีแห่งความเสี่ยงและโอกาส’ ที่ตีพิมพ์ใน THE STANDARD WEALTH นั้น เรามองว่าปี 2021 เป็นปีแห่งความเสี่ยงและโอกาส โดยมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่อาจมีอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่วัคซีนอาจล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบไม่เท่าเทียมกัน (หรือแบบรูปตัว K) ขณะที่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะเป็นสงครามแย่งพันธมิตร ในส่วนโอกาสนั้น เรามองว่าการเร่งตัวของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และการปฏิวัติพลังงานสะอาด (Clean Energy Revolution) จะเป็นโอกาสของการลงทุน ภาพทั้งหมดเป็นไปตามที่เรามองในระดับหนึ่ง แม้ในรายละเอียดอาจแตกต่างจากที่เรามองบ้างก็ตาม
ในปีนี้เรามองธีมของเศรษฐกิจการลงทุน 5 ธีม โดยภาพใหญ่จะเป็นปีแห่งการกลับสู่ภาวะปกติ หรือ Normalization โดยมีรายละเอียดดังนี้
ธีมที่ 1 เศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยภาพใหญ่ของโลกปีหน้าคือ Global Growth Normalization หรือการที่เศรษฐกิจโลกค่อยๆ กลับมาสู่ความเป็นจริงมากขึ้น หลังจากที่ตกต่ำมากในปี 2020 และฟื้นรุนแรงในปีนี้ โดยประเทศพัฒนาแล้ว การขยายตัวจะชะลอลง ส่วนในฝั่งประเทศกำลังพัฒนา (ยกเว้นจีน) เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว (แต่จะเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนทางการเงินโลกมากขึ้น) ขณะที่ในส่วนของจีนจะชะลอลงจากความเสี่ยง 3 ประการ อันได้แก่ 1. วิกฤตพลังงาน 2. วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และ 3. แนวนโยบาย Zero Covid หรือการไม่ทนต่อผู้ติดเชื้อโควิดเลย โดยหากมีผู้ติดเชื้อจะประกาศล็อกดาวน์ทันที ซึ่งความเสี่ยงทั้งสามจะทำให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงมาก แต่ก็จะมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐคอยประคับประคอง
ธีมที่ 2 เงินเฟ้อโลกจะลดลงครึ่งปีหลังของปีหน้า โดยแม้ปัจจุบันหลายฝ่ายจะกังวลถึงความเสี่ยงเงินเฟ้อ แต่เมื่อเวลาล่วงไปสู่กลางปีหน้า ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงได้จาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1. เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงในปีหน้า โดยจะโตประมาณ 5% จาก 8% ในปีนี้ ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง โดยเฉพาะโลหะอุตสาหกรรมที่จีนบริโภคถึงกว่า 60-80% ของการบริโภคทั้งโลก 2. ปัญหาคอขวดมีแนวโน้มจะคลี่คลาย เห็นได้ทั้งจากราคาโภคภัณฑ์ที่เริ่มลดลง อันเป็นผลจากการผลิตมากขึ้น และจากปริมาณเรือที่จอดรอในท่าเรือต่างๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เริ่มลดลง และ 3. จากสภาพคล่องทางการเงินโลก (Global Monetary Condition) ที่เริ่มตึงตัว โดยเฉพาะจากทางฝั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เร่งลดทอนมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้เงินเฟ้อในครึ่งหลังของปีหน้าจะลดลงจากระดับปัจจุบันที่ประมาณ 5.6% แต่เงินเฟ้อใน 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนหน้าที่ประมาณ 3% เนื่องจากความต้องการสินแร่หายาก รวมถึงสินแร่อุตสาหกรรมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลจะเป็นปัจจัยผลักดันเงินเฟ้อขึ้น (หรือที่เรียกว่า Greenflation)
ธีมที่ 3 นโยบายการเงินโลกจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น โดยหลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกนำโดยสหรัฐฯ (Fed) ได้ทำนโยบายการเงินผ่อนคลายขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นขณะที่เงินเฟ้อเริ่มกลับมา ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ เริ่มต้องลดทอนมาตรการผ่อนคลาย ทั้งมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ย
ในปีหน้าจะเป็นปีแห่งการลดทอนมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายลง แต่การถอนมาตรการจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้มาก เนื่องจากหนี้สาธารณะและภาคเอกชนทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นมหาศาล เพราะหากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป จะทำให้ภาระหนี้ของรัฐบาลและเอกชนเร่งตัวขึ้นและกดดันเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ เรามองว่าในฝั่งของนโยบายการเงินสหรัฐฯ นั้น การลดทอน QE อย่างรวดเร็วจะลดทอนแรงกดดันเงินเฟ้อจากความคาดหวัง (Inflation Expectation) ได้ดีระดับหนึ่ง ทำให้ Fed ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยนัก เพราะอาจไปกดดันภาพเศรษฐกิจที่จะเริ่มชะลอตัวได้
ธีมที่ 4 สงครามเย็นระหว่างสองมหาอำนาจจะรุนแรงขึ้น จากการเมืองในประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ จะส่งผลให้ความรุนแรงของการเผชิญหน้ามีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยในสหรัฐฯ ที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง Mid-Term Election ในช่วงปลายปี ที่สภาล่างจะมีการเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด ขณะที่สภาบนมีการเลือกตั้ง 1 ใน 3 ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะจัดการประชุม National Party Congress ครั้งที่ 20 ที่จะมีการต่ออายุประธานาธิบดีสีจิ้นผิงอีก 5 ปี และด้วยการประชุมที่มีความหมายเชิงการเมืองภายในต่อผู้นำทั้งสองประเทศ ฉะนั้น จึงเป็นไปได้สูงที่จะเห็นภาพความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเพื่อแสดงพลังต่อสาธารณชน
ดังนั้น เราคาดว่าจะเห็นความตึงเครียดมากขึ้นใน 4 ด้าน อันได้แก่
- สงครามการค้า: สหรัฐฯ จะไม่ยกเลิกสนธิสัญญาการค้าระยะที่ 1 ในขณะที่จีนจะไม่สนใจ และจะสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่นๆ ต่อไป เช่น การยื่นคำร้องเข้าร่วม CPTPP
- สงครามเทคโนโลยี: ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นทำ R&D โดยจีนปรับงบประมาณประจำปีเพิ่มขึ้น 7% ในขณะที่สหรัฐฯ มีงบประมาณด้านการพัฒนา R&D จำนวน 2.5 แสนล้านดอลลาร์
- สงครามทุน: สหรัฐฯ กดดันจีนมากขึ้น เช่น บังคับให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯ ส่งรายละเอียดบัญชีเชิงลึกให้สำนักงาน ก.ล.ต. ขณะที่จีนพยายามบังคับให้บริษัทต่างๆ จดทะเบียนในตลาดจีนมากขึ้น
- สงครามภูมิรัฐศาสตร์: สหรัฐฯ จะเดินหน้าสร้างพันธมิตรร่วมอย่างต่อเนื่อง เช่น AUKUS (ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ) และ Quad (สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย) ในขณะที่จีนจะดำเนินการอย่างจริงจังกับไต้หวัน ซึ่งเรามองว่าเป็นจุดเปราะบางที่สุดระหว่างสองประเทศ
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าความขัดแย้งขั้นรุนแรงจนถึงขั้นสงครามนั้นคงยังไม่เห็นในปีหน้า เนื่องจากการเกิดสงครามในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองน่าจะไม่เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
ธีมสุดท้าย จะมี 5 ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผันผวนในปีหน้า ได้แก่
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และแนวนโยบายของรัฐบาลจีน
- 2. ความผันผวนด้านการเงินโลกโดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ จากความตึงตัวทางการเงินโลกที่มากขึ้น
- ความเสี่ยง Global Stagflation หรือเศรษฐกิจตกต่ำแต่เงินเฟ้อสูง
- ความผันผวนด้านภูมิอากาศโลก อันเป็นผลจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้น และ
- ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ (โอไมครอน) ซึ่งจะยิ่งนำความเสี่ยง Global Stagflation ให้รุนแรงขึ้น
ในประเด็นโอไมครอนนี้ เรามองว่าจะเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจในระยะใกล้ แต่ในระยะต่อไปแล้วความเสี่ยงโอไมครอนจะลดลง โดยหากจะประเมินผลกระทบเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างชัดเจน จำเป็นต้องตอบคำถาม 3 ข้อ คือ 1. วัคซีนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพเพียงใด 2. เชื้อดังกล่าวอันตรายกว่าเดลตาหรือไม่ และ 3. หากต้องล็อกดาวน์แล้ว ทางการจะมีมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด
ในส่วนของประสิทธิภาพของวัคซีน อาจต้องรอการยืนยันจากผู้ผลิตวัคซีน อย่างไรก็ตาม จากผู้ติดเชื้อเบื้องต้น เป็นไปได้ว่าวัคซีนในปัจจุบันอาจไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนได้ แต่อาการของโรคไม่รุนแรง ทำให้การล็อกดาวน์ไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็เป็นไปได้ที่ทางการต่างๆ จะจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งในระยะต่อไป
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของเราพบว่า ในแง่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก อัตราการขยายตัวอาจจะลดลงจากระดับที่ IMF คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2022 ที่ 4.9% เหลือเพียง 3.6% โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไวรัสและประสิทธิภาพของวัคซีน ส่วนในแง่การตอบสนองด้านนโยบายทั่วโลก เราเชื่อว่าในกรณีเกิดการระบาดปานกลางและรุนแรง ทางการของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจจะผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม
ด้านเศรษฐกิจไทยและนโยบาย เราเชื่อว่าผลกระทบด้านลบจะมีให้เห็นในรูปของการอุปโภคบริโภคและรายได้จากนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง โดยจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของมาตรการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดย GDP จะขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงจาก 3.6% ในกรณีฐาน สู่ 2.9% ในกรณีปานกลาง และ 2.5% ในกรณีรุนแรง การบริโภคภายในประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยจะเติบโตลดลงสู่ 2.9% ในกรณีปานกลาง และ 2.2% ในกรณีรุนแรง และมีโอกาสที่การบริโภคจะหดตัวลงในไตรมาส 1 ขณะที่นโยบายอาจจะผ่อนคลายลงเล็กน้อย แต่เนื่องจากทางการกังวลเกี่ยวกับวินัยการคลัง เราจึงไม่คิดว่าจะเห็นการออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังชุดใหญ่
จากพัฒนาการล่าสุดในปัจจุบัน เรามองว่าสถานการณ์ทั้งหมดโดยเฉพาะด้านโอไมครอนไม่น่าจะรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นการระบาดที่อาจระบาดง่าย แต่อาการไม่รุนแรง และวัคซีนอาจจะเอาอยู่ในระดับหนึ่ง ฉะนั้น ภาพ Normalization รวมถึงภาพการลงทุนน่าจะยังสามารถไปต่อได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความเสี่ยง ทั้งจากโอไมครอน การตึงตัวของนโยบายการเงิน และเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอแรง
เหล่านี้คือธีมทั้งห้าของเศรษฐกิจและการลงทุนโลกที่น่าจะกลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถละเลยความเสี่ยงต่างๆ ได้ นักลงทุนโปรดกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง แต่ยังได้ผลตอบแทนที่ดี