หนึ่งในสถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังจับตามากที่สุดขณะนี้คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแผ่วกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ โดยตัวเลข GDP ของจีนในไตรมาส 2/23 เติบโตขึ้นเพียง 0.8% จากไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวที่ 6.3% ต่ำกว่าระดับที่ตลาดคาดไว้ที่ 7.3% สะท้อนภาพของการทรุดตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหลังจากที่ GDP ในไตรมาสแรกขยายตัวได้เพียง 4.5%
ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนยังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคมออกมาอย่างน่าผิดหวัง โดยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เพียง 3.7% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 4.4% ขณะที่ตัวเลขยอดค้าปลีกก็ปรับสูงขึ้นเพียง 2.5% น้อยกว่าคาดการณ์ที่ 4.5%
ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือนที่ 3.4% แต่ก็ยังต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.8% ขณะที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกรกฎาคมปรับลดลงถึง 8.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.2% ในเดือนมิถุนายนเป็น 5.3%
นอกจากนี้ ทางการจีนยังยกเลิกการเผยแพร่ตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวอายุระหว่าง 16-24 ปี ที่ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นทุบสถิติต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือนมิถุนายน อัตราว่างงานของหนุ่มสาวชาวจีนอยู่ที่ระดับ 21.3%
ย้อนกลับไปในช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศหลังมีการล็อกดาวน์อย่างยาวนานในช่วงโควิด จีนเคยถูกคาดหวังว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์หลายเดือนติดต่อกัน ประกอบกับการต้องเจอกับวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคอสังหาและภาคธนาคารเงา อีกทั้งยังมีปัญหาเงินฝืดที่สวนทางกับเศรษฐกิจโลก ทำให้ตลาดเริ่มไม่มั่นใจว่า GDP จีนในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมายหรือไม่
มุมมองของ UOB Privilege Banking ต่อเศรษฐกิจจีนในระยะสั้นยังต้องระมัดระวัง แต่ระยะกลางยังคงเป็นบวก และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การฟื้นตัวของจีนจะไม่สม่ำเสมอ กิจกรรมการผลิตและการส่งออกเริ่มชะลอตัวจากอุปสงค์ภายนอกอ่อนแอลง ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังเติบโตจากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและบริการเป็นหลัก
มาตรการด้านโควิดและการเปิด-ปิดการล็อกดาวน์ในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและครัวเรือน การฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้เวลา ปัจจัยสนับสนุนทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้เป็นตัวช่วยมากนัก การเงินของรัฐบาลในส่วนภูมิภาคอ่อนแอลงจากยอดขายที่ดินต่ำลง ขณะที่บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหากระแสเงินสด
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงโมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ลดลงจากปัจจัยกดดันต่างๆ และนโยบายที่สนับสนุนยังไม่ชัดเจนและมากเพียงพอ เราได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนในปี 2023 ลงสู่ระดับ 5.0% จากเดิมคาด 5.6% และปี 2024 คาด 4.5% จากเดิมคาดที่ 4.8%
ความกังวลต่อสถานการณ์ของเศรษฐกิจจีนที่สูงขึ้นทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี นักลงทุนทั่วโลกได้ถอนเงินทุนออกจากตลาดหุ้นจีนไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จนทำให้ดัชนี CSI 300 ของจีนปรับตัวลดลงประมาณ 4% นอกจากนี้ยังมีการเทขายพันธบัตรจีนไปแล้วถึง 3.02 หมื่นล้านดอลลาร์
การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 และมีสถานะเป็นโรงงานของโลก ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตของโลกในภาพรวม โดย IMF ประเมินว่า ทุกๆ 1% ของ GDP จีนที่ลดลงจะส่งผลให้ GDP โลกหดตัวลง 0.3% ซึ่งภูมิภาคที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเอเชียและแอฟริกาที่จีนมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าสูง
แม้จะเห็นความอ่อนแอในหลายภาคส่วน แต่เงินฝากสกุลหยวนของจีนกลับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 275 ล้านล้านหยวน ดังรูปด้านล่าง เงินออมภาคครัวเรือนของจีนเพิ่มขึ้นตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด
การที่เงินฝากสกุลเงินหยวนเพิ่มขึ้นจะส่งผลดีในระยะยาว เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนสามารถลงทุนหรือใช้จ่ายกลับเข้าไปในเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ การใช้จ่ายจะเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกมั่นใจในเศรษฐกิจ และจะนำไปสู่การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศอีกครั้ง
อีกหนึ่งจุดสำคัญคือทางการจีนยังมีมาตรการหรือกระสุนในรังเพลิงที่เหลือไว้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกพอสมควร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่งจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางลง 0.15% พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบอีก 2 แสนล้านหยวน
นอกจากนี้ จีนยังมีการปรับลดภาษีซื้อขายหุ้นจาก 0.1% ลงเหลือ 0.05% เพื่อดึงดูดนักลงทุน โดยรัฐบาลกลางเตรียมอนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นจำหน่ายพันธบัตรพิเศษ 1.5 ล้านล้านหยวน เพื่อระดมทุนในการบรรเทาหนี้สิน และผ่อนคลายนโยบายจำนองบ้าน โดยเสนอให้รัฐบาลท้องถิ่นยกเลิกกฎระเบียบที่ตัดคุณสมบัติการเป็นผู้ซื้อบ้านครั้งแรก สำหรับประชาชนที่เคยมีประวัติการจำนองบ้านแต่ชำระหนี้จนครบแล้ว
จะเห็นว่าจีนยังพอมีแรงขับเคลื่อนการเติบโตอยู่บ้าง แต่อาจไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่กำลังประสบกับแรงกดดันจากหลายทาง ภายใต้ภาวะดังกล่าว UOB Privilege Banking มีมุมมองว่าการลงทุนในจีนควรระมัดระวังในระยะสั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอาจสร้างความผิดหวังได้ และตลาดหุ้นอาจยังคง Underperform ประเทศอื่นทั่วโลกต่อไป แต่ราคาหุ้นจีนซื้อขายที่ระดับต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นความเสี่ยงขาลงจึงมีจำกัด
อย่างไรก็ดี สำหรับมุมมองในระยะ 24 เดือนขึ้นไป UOB Privilege Banking ยังมีมุมมองเชิงบวกจาก Valuation ที่น่าสนใจ แรงหนุนจากนโยบายการคลังและการเงิน และการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและ IMF คาดการณ์ว่าจีนจะเป็นเศรษฐกิจหลักที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะ 5 ปีข้างหน้า สูงกว่าสัดส่วนจากทางสหรัฐฯ ราว 2 เท่า
ทั้งนี้ ผู้ที่ลงทุนในหุ้นจีนอยู่แล้ว ควรทบทวนระยะเวลาการลงทุนและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หากลงทุนระยะยาวและยอมรับความเสี่ยงได้ การถือลงทุนในระยะกลางสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนในอนาคตได้ จากระดับ Valuation ที่น่าสนใจและมีนโยบายที่สนับสนุน
สิ่งสำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการกระจุกตัวเนื่องจากแนวโน้มระยะสั้นยังไม่แน่นอน ควรกระจายการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว
ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดต่อที่ปรึกษาทางการเงิน (Client Advisor) ของ UOB Privilege Banking ได้ที่ โทร. 0 2081 0999 หรือคลิก www.uob.co.th/privilegebanking
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/features/2023-08-20/xi-jinping-is-running-china-s-economy-cold-on-purpose?srnd=premium-asia&sref=CVqPBMVg
- https://asia.nikkei.com/Business/Markets/China-debt-crunch/More-economists-cut-China-forecasts-as-real-estate-gloom-deepens
- https://asia.nikkei.com/Business/Markets/China-debt-crunch/Evergrande-shows-China-property-zombification-5-things-to-know
- https://www.ft.com/content/5c74fcb4-7481-4709-8ac5-7438e1ef6ae1
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-27/china-s-worsening-economic-slowdown-is-rippling-across-the-globe?sref=CVqPBMVg