×

ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว

08.10.2022
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

ประเด็นร้อนในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนยวบเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ดอลลาร์จึงแข็งค่าขึ้น และกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนลงมาทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเวลานี้ คุณคงกังวลว่าค่าเงินบาทจะอ่อนไปถึงไหน และกระทบเงินลงทุนในพอร์ตของคุณอย่างไร จะมีทางออกที่ดีในภาวะนี้อย่างไรบ้าง ผมจะค่อยๆ เฉลยคำตอบครับ

 

สถานการณ์ล่าสุด (3 ตุลาคม) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 38.06/08 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลที่ Fed เรียกประชุมฉุกเฉิน (Closed Meeting) เมื่อคืนวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาทบทวนและตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยล่วงหน้าและดอกเบี้ยมาตรฐาน (Advance and Discount Rate)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ส่วนต่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทยทิ้งช่วงห่าง กดดันบาทอ่อนต่อเนื่อง

ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้เอง โดยอ่อนค่าราว 6.8% จากระดับที่อยู่ราว 35-36 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นอ่อนค่ารวดเร็วพร้อมๆ กับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากราคาน้ำมันและราคาอาหาร ค่าไฟ สินค้าต่างๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินไทย (กนง.) เพิ่งจะเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก 0.25% เมื่อเดือนสิงหาคม และต่อเนื่องในปลายเดือนกันยายนอีก 0.25% ติดต่อกัน 2 ครั้ง มาสู่ระดับ 1% จากที่ได้คงดอกเบี้ยมายาวนานหลายปีที่ระดับ 0.50% ท่ามกลางเงินเฟ้อไทยที่ทรงตัวอยู่ระดับสูงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม โดยล่าสุดเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 7.86% สูงสุดในรอบปี 2565 และยังทำสถิติในรอบ 14 ปีด้วย

 

ฝั่ง Fed ปีนี้ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วราว 5 ครั้งจากการประชุม 6 ครั้ง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมารอบประชุมปลายเดือนมกราคม Fed คงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% ซึ่งมีสัญญาณเงินเฟ้อขึ้นสูงแล้ว แต่หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันพุ่งเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างรวดเร็ว ดันให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งเกินคาด ทำให้ในการประชุมรอบปลายเดือนมีนาคม Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แต่กดเงินเฟ้อไม่ลง จึงเร่งระดับขึ้นดอกเบี้ยต่อด้วย 0.50% สู่ระดับ 0.75-1% ปลายเดือนพฤษภาคม 

 

หลังจากนั้นเงินเฟ้อพุ่งเหนือ 7-8% จนไต่ระดับทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี จึงขึ้นดอกเบี้ยแรงด้วย 0.75% ติดต่อกัน 3 รอบ ตั้งแต่รอบประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายน จนถึงล่าสุดวันที่ 20-21 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อยู่ที่ 2.25-2.50% และต้องรอลุ้นการประชุมฉุกเฉิน จะมีเซอร์ไพรส์ชี้ชะตาช่วงเวลาที่เหลืออย่างไร แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ Fed เพิ่งออกมาย้ำตลอดว่ายังต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปถึงปี 2566 เพื่อให้เงินเฟ้อกลับมาสู่เป้าหมาย 2% ซึ่งเป็นภารกิจหลักอันดับแรกของ Fed ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมที่ออกมาทรงตัวระดับสูงที่ 8.3% หลังจากที่เดือนพฤษภาคมเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงทำลายสถิติในรอบ 40 ปี

 

ไทม์ไลน์ของการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ และดอกเบี้ยไทย จะทำให้เห็นว่าจุดสตาร์ทของการขึ้นดอกเบี้ยไทยช้ากว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงตั้งแต่ต้นปีนี้และมาเร่งตัวในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผลพวงราคาน้ำมัน และสูงทำสถิติในรอบ 40 ปีช่วงไตรมาส 2 แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลายรอบก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถกดเงินเฟ้อลงได้ ขณะที่เงินเฟ้อไทยพุ่งขึ้นแรงราวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ทะลุ 5.08% จากต้นปีอยู่แค่ 2.17% เท่านั้น และมาพีคสุดช่วงเดือนพฤษภาคมทะลุ 7% หลังจากนั้นแม้ราคาน้ำมันโลกลง แต่เงินเฟ้อไทยยังเร่งตัวสูงต่อในไตรมาส 3 อย่างชัดเจนว่านี่ไม่ใช่เงินเฟ้อชั่วคราวแล้ว และเป็นจุดตัดที่ทำให้ กนง. ประกาศขึ้นดอกเบี้ยซึ่งช้ากว่าสหรัฐฯ ครึ่งปี ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยทิ้งห่างกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ ถึง 1.25-1.50% จนเกิดเงินไหลออกจากสินทรัพย์ต่างๆ ในไทยไม่น้อย ส่วนใหญ่เลือกถือเงินสดและกลับไปสู่สกุลเงินที่ปลอดภัยคือ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ ยิ่งทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงแรง

 

มองแนวโน้มไปข้างหน้า ยังคงเห็นสัญญาณเงินเฟ้อทรงตัวระดับสูง และยังฝังตัวอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกรวมถึงไทยด้วย ดังนั้นธนาคารกลางหลายๆ ประเทศที่เผชิญโจทย์กับภาวะเงินเฟ้อท่วมโลกจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยตึงตัว เพื่อดึงเงินเฟ้อให้ลงมาสู่กรอบเป้าหมายช่วยดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นการแลกกับการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจลงในช่วงหลังโควิด

 

แม้ว่าเทรนด์ดอกเบี้ยต่ำจะหมดยุคลง และจากนี้ไปจะเห็นดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่องถึงปีหน้า และค่าเงินดอลลาร์คงยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกดดันหลายๆ สกุลเงินหลักของโลกให้อ่อนตัวลงรวมถึงค่าเงินบาทไทยตามไปด้วย โดยเวลานี้คาดการณ์กันว่าจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะ 39-40 บาทต่อดอลลาร์ได้เหมือนกัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็อย่าเพิ่งละเหี่ยใจกัน ผมมีเคล็ดวิชาลงทุนต่างประเทศแบบสวนกระแส ไม่แคร์เงินบาทอ่อน มาแชร์กันครับ

 

เปิด 3 วิธี สับหลีกการลงทุนช่วงค่าเงินบาทอ่อน

แน่นอนว่าคนที่ลงทุนต่างประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนลงเกินคาด เพราะเมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐยังมีค่าประมาณ 33 บาทอยู่เลย จู่ๆ ปีนี้ค่าเงินบาทอ่อนลงมาที่ 1 ดอลลาร์เท่ากับ 38 บาท เท่ากับเงินดอลลาร์แข็งขึ้นมา 10% ทีเดียว คนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศสกุลเงินบาทก็จะขาดทุน 10% แต่นี่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงเวลาหนึ่งนะครับ

 

ผมเข้าใจครับว่าเป็นใครก็ใจหายไปเหมือนกัน แม้จะรับรู้ตั้งแต่ก่อนลงทุนอยู่ตลอดแล้วว่า การลงทุนต่างประเทศไม่ว่าอย่างไรก็หลีกเลี่ยงความเสี่ยงเรื่องค่าเงินไม่ได้

 

แต่เราสามารถสับหลีกการลงทุนได้นะครับ วิธีที่ง่ายที่สุดในการลงทุนสู้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งเป็นหินแบบนี้คือ การหนีไปลงทุนประเทศอื่นที่คุณไม่ต้องแลกเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐโดยตรง เลือกวิธีง่ายๆ แบบนี้แหละครับ

 

เพราะโลกแห่งการลงทุนใบนี้กว้างใหญ่มาก ยังมีประเทศที่คุณไม่ต้องแลกเงินดอลลาร์เพื่อลงทุนและเหมาะที่จะลงทุนระยะยาวนั่นคือประเทศจีน ลองมาดูอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนในระยะเวลา 1 ปี เมื่อช่วงวันที่ 18 กันยายน 2564 เงิน 1 หยวน แลกได้ 5.16 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีนี้ เงิน 1 หยวน แลกได้ 5.27 บาท เท่ากับเงินหยวนแข็งค่าขึ้นแค่ +2.09% เมื่อเทียบกับเงินบาท

 

คุณก็น่าจะรู้สึกดีขึ้นมาเมื่อจะออกไปลงทุนตลาดหุ้นจีน โดยแลกเงินบาทเป็นเงินหยวน เลือกลงทุน ‘หุ้นดี ราคาเหมาะสม’ ในตลาดหุ้นจีนที่ราคาลดลงมากตั้งแต่ปีที่แล้วและเพิ่งเริ่มฟื้นตัวในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังปักธงไว้ที่ระดับ 5.5% ท่ามกลางแรงอัดฉีดของรัฐบาลกว่าหลายล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตสูงต่อเนื่องหลังโควิด

 

อีกประเทศที่น่าสนใจคือตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากช่วงนี้ ‘เงินเยน’ อ่อนค่าหนักเมื่อ เทียบกับดอลลาร์เช่นกัน และยังมีแนวโน้มว่าเงินเยนจะอ่อนค่ามากกว่าเงินบาท ทำให้คุณแลกเงินสกุลนั้นได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2564 เงิน 1 บาท แลกได้ 3.28 เยน เมื่อเทียบกับตอนนี้ (18 กันยายน 2565) เงิน 1 บาท แลกได้ 3.88 เยน เรียกว่าเงินเยนอ่อนค่าลงถึง 18.29% เมื่อเทียบกับเงินบาท ในรอบปีที่ผ่านมาอยากจะบอกว่า ‘เงินเยนอ่อนปวกเปียก’ กว่าเงินบาทครับ ซึ่งน่าจะทำให้คุณเห็นโอกาสการลงทุนหุ้นญี่ปุ่น เพราะเงินเยนที่อ่อนค่าลงขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังกลับมาเติบโต โดยปีนี้คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัว 3.3% หลังไตรมาส 2 ที่ผ่านมาโตราว 2.4%

 

ซึ่งหากคุณยังรักจะลงทุนหุ้นในต่างประเทศ ก็สามารถเลือกลงทุนใน Jitta Ranking จีน และ Jitta Ranking ญี่ปุ่น เพราะ Jitta Wealth จะนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินหยวนและเงินเยนโดยตรง ทำให้คุณไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งโป๊กจนถึงปีหน้า

 

นอกจากวิธีแรกนี้ก็ยังมีอีกวิธีที่คุณไม่ต้องกังวลหรือยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเลย วิธีนี้ก็ง่าย เพราะคุณก็แค่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยแทน ค่าเงินของคุณจะคงที่ระดับ 1 บาท เท่ากับ 1 บาทเสมอ ซึ่งเศรษฐกิจไทยปีนี้มีสัญญาณฟื้นตัวดีกว่าปีก่อนๆ แน่นอน เพราะภาคท่องเที่ยวกลับมาเร็วเกินคาด นักท่องเที่ยวต่างชาติเกินหลักล้านคนแล้ว ปีนี้คาดการณ์ GDP ไทยโต 3.3% แม้คงมีการฟื้นตัวไม่กระจายทั่วถึงในรูป K Shape แต่ก็พบว่ามีหลายภาคธุรกิจทยอยฟื้นตัวกันได้แล้วในปีนี้ และแน่นอนว่าผลประกอบการ ‘รายบริษัท’ ในไทยเติบโตดีเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งสามารถควานหา ‘หุ้นดี ราคาถูก’ ในตลาดหุ้นไทยด้วยตัวเอง หรือดูในแอปพลิเคชัน Jitta.com ที่ได้นำ AI มาวิเคราะห์งบการเงินย้อนหลัง 10 ปีของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกกว่าพันตัว เพื่อให้คะแนนหุ้นที่ราคาเหมาะสมและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ซึ่งนักลงทุนสามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้นทั่วโลกรวมถึงหุ้นไทยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้วยครับ 

 

อีกวิธีสุดท้าย DCA หรือ Dollar-Cost Averaging 

คำตอบสุดท้ายที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ได้เสมอในการช่วยคุณบริหารความเสี่ยงเรื่องราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่ช่วยบรรเทาความผันผวนได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญการ DCA เป็นการทำให้คุณมีวินัยในการลงทุนมากขึ้น และยังช่วยให้เงินลงทุนของคุณทบต้นสามารถเติบโตขึ้นในระยะยาวด้วย

 

ผมเชื่อว่าหากคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วน่าจะใจชื้นขึ้น มองหาโอกาสการลงทุนในตลาดโลกหรือไทยที่ตอบโจทย์ความสบายใจของคุณ ที่สำคัญอยากให้คุณเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงก่อนตัดสินใจใส่เงินเข้าไปลงทุน และอย่าวิตกไปแต่เรื่องค่าเงินว่าน่ากลัว เพราะหากคุณเข้าใจและรู้วิธีรับมือการลงทุนหุ้นต่างประเทศจะช่วยเปิดโลกการลงทุนให้คุณได้ค้นพบโอกาสลงทุนใหม่ๆ ที่ตรงใจคุณมากที่สุด และสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้ดี

 

สำหรับนักลงทุนระยะยาวผมขอย้ำว่า เรื่องความผันผวนของค่าเงินและอัตราเงินเฟ้อเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เพราะในเวลาที่สถานการณ์เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ การลงทุนใน ‘หุ้นคุณภาพดี’ ของคุณจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เพราะเหตุการณ์ในอดีตก็บอกเราแล้วว่า เมื่อถึงจุดที่ตลาดหุ้นพลิกกลับ ราคาหุ้นคุณภาพดีจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจนคุณไล่ซื้อไม่ทัน

 

เพราะฉะนั้นการจับจังหวะลงทุนก็อาจทำให้คุณพลาดผลตอบแทนช่วงตลาดหุ้นพลิกเป็นขาขึ้นได้นะครับ ขอให้มีความสุขกับโลกแห่งการลงทุนนะครับ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising