×

กูรูแนะจับตาภาวะ Inverted Yield Curve สัญญาณเตือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงถดถอย

22.03.2022
  • LOADING...
Inverted Yield Curve

นักเศรษฐศาสตร์เตือนโอกาสเกิดภาวะ Inverted Yield Curve มีสูง หลัง Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยกดเงินเฟ้อแรง สะท้อนถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมากขึ้น 

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า การออกมาส่งสัญญาณของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเวลานี้อยู่ในระดับที่สูงเกินไป และ Fed จะทำทุกอย่างรวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 0.25% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพของระดับราคา (Price Stability) อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น หรือ Inverted Yield Curve 

 

“ตลาดตอบรับการส่งสัญญาณของประธาน Fed ค่อนข้างแรง เห็นได้จากบอนด์ยีลด์ตัว 2 ปี และ 5 ปี ที่ปรับสูงขึ้น ทำให้โอกาสที่เราจะได้เห็น Inverted Yield Curve มีความเป็นไปได้สูง โดย Inverted Yield Curve นี้มักจะเกิดก่อนที่เศรษฐกิจจะถดถอย แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป คงต้องจับตาดูท่าทีของ Fed ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ก่อนว่าจะถอนคันเร่งแรงแค่ไหน ถ้าคุมเงินเฟ้อมากเกินไปโอกาสเกิด Recession กับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอได้” นริศกล่าว

 

อย่างไรก็ดี นริศระบุว่า โอกาสที่บอนด์ยีลด์ไทยจะวิ่งตามสหรัฐฯ จนเข้าสู่ภาวะ Inverted Yield Curve ในขณะนี้ยังไม่มี เนื่องจากบอนด์ยีลด์ไทยที่วิ่งตามสหรัฐฯ จะเป็นตัวยาว 10 ปี ขณะที่ตัว 2 ปี และ 5 ปี จะวิ่งใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้นถึงแม้ว่าบอนด์ยีลด์ตัวสั้นของสหรัฐฯ จะวิ่งขึ้น ก็จะไม่ทำให้บอนด์ยีลด์ตัวสั้นของไทยวิ่งตาม เพราะคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยส่งสัญญาณชัดว่าจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

 

“บอนด์ยีลด์ไทยจะชันขึ้น แต่ผลกระทบในแง่ต้นทุนการกู้ยืมที่ส่งผ่านมาคงมีไม่มาก เพราะภาคเอกชนไทยกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งดอกเบี้ย MLR ก็อ้างอิงกับดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนบริษัทที่ออกหุ้นกู้ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในระยะเวลา 3-5 ปี ต้นทุนอาจมีขึ้นตามไปบ้างแต่คงไม่มาก” นริศกล่าว

 

ด้านอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า บอนด์ยีลด์ระยะสั้นของสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นเร็วกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ทำให้โอกาสที่ Yield Curve ของสหรัฐฯ จะมีความชันลดลง (Flattening) และเข้าสู่ภาวะ Flat Yield Curve ซึ่งจะเกิดก่อน Inverted Yield Curve มีสูงขึ้น 

 

อย่างไรก็ดียังมองว่าภาวะที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่ใช่สัญญาณของ Recession แต่เป็นสัญญาณของสภาพคล่องในระบบที่มีสูง ประกอบกับความตกใจของเงินเฟ้อและความกังวลจากภาวะสงคราม โดยเชื่อว่าเมื่อ Fed มีการประกาศมาตรการ QT ที่ชัดเจนออกมา จะไปช่วยเร่งบอนด์ยีลด์ตัวยาวให้ขยับขึ้น เนื่องจาก Fed ต้องลดการถือครองลง

 

อมรเทพระบุว่า แม้ว่าผลกระทบในแง่การส่งผ่านต้นทุนการกู้ยืมจากภาวะดังกล่าวมายังภาคเอกชนไทยที่มีการระดมทุนจากหุ้นกู้อาจมีไม่มาก แต่ผลกระทบที่น่ากังวลและแรงกว่าจะเกิดผ่านอัตราแลกเปลี่ยน ที่เมื่อความต้องการดอลลาร์ในตลาดมีสูง เงินบาทจะอ่อนค่า โดยคาดว่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าจาก 33.5 บาทต่อดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 34.5 บาทต่อดอลลาร์

 

“การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้จะต่างจากปีที่ผ่านมา ที่เรามองว่าบาทอ่อนจะช่วยให้ส่งออกโต ช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตในยามที่ท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น เพราะตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ บาทอ่อนหมายถึงต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นด้วย เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์ของแบงก์ชาติว่าจะดูแลเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่างไร” อมรเทพกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising