ตอกย้ำความไม่แน่นอนของโลกแห่งการลงทุนมากยิ่งขึ้นด้วยข่าวสารรอบด้านที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา เพียงช่วงสั้นๆ สิ่งที่วางแผนไว้รับมือก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อพบว่าผลที่ได้อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่ประเมินไว้ ดังเช่นประเด็นร้อนประเด็นใหญ่ของโลก เมื่อ Fed ส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงและถี่กว่าเดิม ทั้งๆ ที่เพิ่งบอกว่าจะดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เพิ่งเข้าสู่ไตรมาส 2 ตลาดลงทุนก็ต้องสะดุดกับ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ออกมาส่งสัญญาณเมื่อปลายเดือนเมษายนว่า Fed เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในรอบประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อพุ่งแรง ถือเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมและต้องทำในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นปัจจัยลบตัวหลักที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวในระยะข้างหน้านี้
ฝั่งนักลงทุนทั่วโลกมองคาดการณ์ล่วงหน้าไปถึงขนาดว่า อาจเห็น Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ถึง 2 ครั้งติดต่อกันในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้ ตามมาด้วย Sentiment โดยส่วนใหญ่วิตกกังวลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะข้างหน้า
มาดูสินทรัพย์ลงทุนที่ตอบรับข่าวนี้เร็วสุด ต้องยกให้กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นสูงระดับ 3% ทันทีที่ประธาน Fed ประกาศออกมา ไม่เพียงเท่านั้น เกิดภาวะ Inverted Yield Curve กลับมาอีกครั้ง โดยอัตราผลตอบแทนพันธฐบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 5 ปี ‘ปรับตัวขึ้นสูงกว่า’ พันธบัตรอายุ 10 และ 30 ปี หลังจากที่เมื่อช่วงต้นปีเกิดภาวะ Inverted Yield Curve ขึ้นกับ US Bond Yield อายุ 2 ปี ไปก่อนหน้าแล้วรอบหนึ่ง
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ก็ปรับตัวขึ้นตามสหรัฐฯ จากต้นปีนี้อยู่ที่ 1.99% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ช่วง 0.5-0.6% สอดคล้องกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ
วันนี้เกิดภาพเปลี่ยนของการขึ้นดอกเบี้ยแรงและถี่ในช่วงเวลาเพียง 1 เดือนเศษ คงจำกันได้ว่าเมื่อเดือนมีนาคม ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.25% ที่ถือเป็นอัตราพื้นฐานที่ธนาคารกลางทั่วโลกใช้กัน และจะปรับขึ้น 6 ครั้งในปี 2022 ซึ่งประเดิมเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ปรับขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 0.25-0.50% จากเดิมอยู่ระดับต่ำ 0.00-0.25% มาหลายปี และคาดภายในสิ้นปี 2022 ดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 1.75-2.00% และปี 2023 Fed อาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 3-4 ครั้ง ดอกเบี้ยจะขึ้นไปอยู่ที่ราว 2.50-3.00% และปี 2024 อาจจะคงดอกเบี้ยไว้ ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ท่ามกลางความวิตกกังวลของนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม ที่เห็นว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงและถี่ขนาดนี้ของ Fed อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2023
แต่ประธาน Fed ตอบโต้คำถามนี้ว่า Fed มีเครื่องมือในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอยู่ ถึงแม้จะประสบกับแรงกดดันต่างๆ มากมาย
ผมเชื่อว่าบางคนยังมีคำถามค้างคาใจว่า การเกิดภาวะ Inverted Yield Curve บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจอย่างไร และจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยจริงหรือ เพราะเพิ่งเห็นการฟื้นตัวเพียง 1 ปีกว่าเอง และส่วนใหญ่อยากได้คำแนะนำว่า ควรจัดพอร์ตรับมืออย่างไรดี?
จับสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ แค่ชะลอตัวหรือถดถอย
หากดูดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์ก็ยังส่งสัญญาณดี ข้อมูลจาก Conference Board หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รายงานว่า ดัชนี LEI (Leading Economic Index) ซึ่งเป็นมาตรวัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต อยู่ที่ 119.9 จุดในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าเทียบกับเดือนมกราคม ดัชนีปรับตัวลดลงเล็กน้อย -0.5%
Ataman Ozyildirim ผู้อำนวยการอาวุโสวิจัยเศรษฐกิจ บอกว่า ดัชนี LEI เดือนกุมภาพันธ์ยังไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบจากความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจส่งผลให้ดัชนี LEI ของสหรัฐฯ ลดลงได้ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังมั่นใจในการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักหลังจากโควิด
และล่าสุด Fed คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในปีนี้เพิ่มขึ้น 2.8% ส่วนในปี 2023 และ 2024 ตัวเลข GDP เติบโตลดลงเหลือ 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ แม้ตัวเลขจะโตลดน้อยลงไปบ้าง แต่ภาพสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่และยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผลประกอบการบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้วย
มุมมองของ Kathy Bostjancic หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Oxford Economics เห็นว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อยุติปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ปรับตัวสะท้อนราคากันไปแล้ว เนื่องจากรับรู้ไทม์ไลน์ของ Fed มาโดยตลอด ช่วยบรรเทาความผันผวนจากนโยบายการเงินในภาพรวม และส่งสัญญาณว่า Fed จะดูแลภาพรวมเศรษฐกิจได้
ในมุมมองของ PIMCO Cyclical Outlook ณ เดือนมีนาคม 2022 เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะยังคงขยายตัวต่อไปได้ในระดับ 3% อย่างไรก็ตามยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ที่อาจต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation จากปัจจัยหลัก 4 ประเด็น ได้แก่ 1. ระดับราคาพลังงานและอาหารที่ปรับสูงขึ้น 2. ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเกิดสภาวะชะงักงัน (Supply Chain Disruption) 3. ภาวะทางการเงินและสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้นจากการปรับลดงบดุลของสหรัฐฯ 4. ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ในขณะที่เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง หรือที่เรียกกันว่าภาวะ Stagflation
ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกก็จับสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะการเกิดภาวะ Inverted Yield Curve คือ ภาวะอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นอายุ 2 หรือ 5 ปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว เช่น อายุ 10 หรือ 30 ปี ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติ เกิดขึ้นได้ในวงจรเศรษฐกิจ ‘ขาลง’
อยากให้นึกภาพว่าการที่คุณซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็เท่ากับคุณเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล ถ้าเป็นพันธบัตรอายุยาว คุณก็ต้องอยากได้ดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ให้รัฐบาลในระยะยาวที่ ‘สูงกว่า’ ระยะสั้น เพราะเงินคุณต้องไปจมอยู่รัฐบาลเป็นเวลานานตามอายุพันธบัตรที่ซื้อไว้ ถือเป็นภาวะปกติการลงทุนครับ
ส่วนเวลาที่ต้องการดูว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรแต่ละระยะเวลาหรือแต่ละอายุสูง-ต่ำแค่ไหน จะดูจากกราฟเส้นอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรแต่ละอายุ (Yield Curve) ไล่เรียงตั้งแต่อายุ 1 เดือน, 3 เดือน ไปจนถึงพันธบัตรระยะยาวอายุ 30 ปี ซึ่งจะปรากฏอยู่ในตลาดรองซื้อขายตราสารหนี้ของแต่ละประเทศ
ในภาวะปกติเส้น Yield Curve ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตรกับอายุพันธบัตรในระยะต่างๆ เราก็จะเห็นเส้นกราฟโค้งขึ้นจากซ้ายล่าง (พันธบัตรอายุสั้นดอกเบี้ยต่ำ) ไต่ไปด้านขวาบน (พันธบัตรอายุยาวดอกเบี้ยสูง) ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาวจะสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้น ตามเหตุและผลของคนถือพันธบัตรอายุยาวกว่าต้องได้ผลตอบแทนสูงกว่า
อัตราดอกเบี้ยที่นำมาประกอบเป็น Yield Curve จะถูกกำหนดจากกลไกตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก ที่มีผู้เล่นทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบันที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเศรษฐกิจระดับท็อปของวงการ เส้น Yield Curve เป็นสัญญาณสะท้อนมุมมองทิศทางเศรษฐกิจออกมา
กลับมาในปัจจุบันที่เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ เมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว คุณจะเจอกราฟเส้น Yield Curve ที่ลาดลงจากมุมซ้ายบน (พันธบัตรอายุสั้นดอกเบี้ยสูง) ไหลลงมามุมขวาล่าง (พันธบัตรอายุยาวที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่า)
ตั้งแต่เดือนมีนาคม เกิดภาวะ Inverted Yield Curve ในตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ หลายวัน แต่บางวัน Yield Curve นี้ก็กลับมาเป็นปกติ เป็นภาพที่สะท้อนว่านักลงทุนสถาบันยังมีมุมมองที่ต่างกันต่อโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในอนาคต
อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะ Inverted Yield Curve เป็นเรื่องที่ไม่ควรเพิกเฉย เพราะเปรียบเสมือนเครื่องเตือนว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า สถิติบอกกับเราว่าภาวะ Inverted Yield Curve เป็นสัญญาณเตือนเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ที่แม่นยำ 100% ในช่วง 60 ปีหลัง
เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดความไม่แน่นอนสูง เงินลงทุนจะถูกย้ายไปหลบภัยในตลาดตราสารหนี้ และการซื้อพันธบัตรอายุยาวย่อมปลอดภัยกว่าอายุสั้น เพราะถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ยังมีเวลาอีกนับสิบปีที่รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ เท่ากับว่าโอกาสโดน ‘เบี้ยวหนี้’ อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเมื่อมีคนอยากซื้อพันธบัตรอายุ 10 หรือ 30 ปีกันมากขึ้น ราคาพันธบัตรระยะยาวจะสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจะต่ำลง สวนทางกับพันธบัตรระยะสั้นที่ไม่มีใครต้องการ ราคาก็จะตก อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับก็จะสูงขึ้น จึงเกิดเป็นภาวะ Inverted Yield Curve ขึ้น
นี่คือสิ่งที่นักลงทุนสถาบันกำลังมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในตอนนี้ เพราะในช่วงที่เหลือของปี Fed ยังต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งเพื่อคุมเงินเฟ้อ และยังมีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเข้ามาเติมเชื้อไฟ ดังนั้นเงินเฟ้อทั่วโลกตอนนี้ยังรุนแรงอยู่ ซึ่งประเมินกันว่า Inverted Yield Curve รอบนี้อาจเป็นแค่การเตือนเบาๆ ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าแค่ชะลอตัว ไม่น่าจะถึงขั้นภาวะถดถอยก็ได้
สถิติภาวะ Inverted Yield Curve ลางบอกเหตุ
ผมขอพูดถึงสถิติที่ผ่านมา รอบล่าสุดที่เกิด Inverted Yield Curve ในปี 2005-2006 นักวิเคราะห์ก็มองว่าจะไม่เกิดเศรษฐกิจถดถอยแน่นอน เพราะมีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว พูดแบบเดียวกับรอบนี้ แต่พอถึงปี 2008-2009 สหรัฐฯ ก็เจอวิกฤต Subprime ระบบการเงินและเศรษฐกิจล้มระเนระนาด จน Fed ต้องออกมาตรการอัดฉีดปริมาณเงิน (QE) เข้าระบบจำนวนมหาศาลเป็นเวลาหลายปี ซึ่งยังทิ้งผลกระทบอยู่ในทุกวันนี้
หากย้อนกลับไป 2 ครั้งหลังสุดที่เกิด Inverted Yield Curve ปี 2001 และ 2008 ก็มักเกิดเหตุการณ์ Black Swan ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ Y2K เหตุการณ์ตึกถล่ม 9/11 และวิกฤต Subprime ซึ่งบ่งชี้ว่าเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมักจะมาแบบเหนือความคาดหมาย เพราะฉะนั้นควรทำความเข้าใจสถานการณ์และเตรียมตัวไว้ก่อนดีกว่าครับ
กระจายลงทุนอย่างไรให้ทนทานฝ่าทุกวิกฤต
สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็น Inverted Yield Curve ที่เกิดขึ้นตอนนี้ หรือภาวะ Stagflation ที่มาเงียบๆ ผมอยากแนะนำว่า คุณไม่ต้องตกใจ เพราะไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นทันทีทันใด คุณยังมีเวลาให้ทำความเข้าใจกับสถานการณ์และทบทวนพอร์ตลงทุนอีกเป็นปี
ผมขอยกตัวอย่างพอร์ตลงทุนของลูกสาว ถือ Global ETF แน่นอนว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ ได้รับผลกระทบจากราคาพันธบัตรที่ลดลงจากแรงเทขาย เพราะ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกหลายครั้งลากยาวทั้งปีนี้จนถึงต้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดแรงซื้อพันธบัตรที่ออกใหม่ตามกลไกตลาด แต่หลักการจัดพอร์ต Global ETF มีการกระจายความเสี่ยงผ่านหุ้นและตราสารหนี้ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้สูงที่สุดและลดความเสี่ยงให้มากที่สุด ตามทฤษฎีจัดพอร์ตรางวัลโนเบล Modern Portfolio Theory ดังนั้นพอร์ตลงทุนจะไม่ผันผวนมาก
เพราะฉะนั้นหากคุณเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ เป็นอย่างดี และมั่นใจว่ารับความผันผวนได้สูง จงทำจิตใจแข็งแกร่งดั่งหินผา จนสามารถทนเห็นพอร์ตขาดทุนหนักๆ ได้ คุณจะสามารถผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้
แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าอยากเน้นปลอดภัยมากกว่า ก็สามารถหนีจาก Inverted Yield Curve และตลาดหุ้นสหรัฐฯ มาอยู่กับ Normal Yield Curve กับแผน Jitta Ranking ที่มีให้เลือกทั้งหุ้นจีน เวียดนาม และไทย ด้วยวิธีทยอยลงทุนแบบ DCA เพราะการเข้าลงทุนในหุ้นดีราคาถูก สามารถทนทานเงินเฟ้อได้ ที่เรียกว่า หุ้นคุณค่า (Value Stock) ก็ยังสร้างผลตอบแทนได้ดีอยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย และยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกลับมาเป็นขาขึ้น การเติบโตของพอร์ตคุณก็จะติดจรวดขึ้นมาทันที
แต่หากยังไม่อยากลงทุนเพิ่มในช่วงตลาดไม่แน่นอน คุณก็อยู่นิ่งๆ และทบทวนดูพอร์ตว่ายังอยู่ในหลักการลงทุนที่ถูกต้อง สินทรัพย์มีคุณภาพ และทำจิตใจให้แข็งแกร่ง ก็จะสามารถทำผลตอบแทนที่ดีได้ไม่ว่าจะเจอกี่วิกฤตก็ตามครับ
ที่ผ่านมานักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ของโลก เช่น Warren Buffett หรือ Ray Dalio และอีกจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่ผ่านการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลายรอบทั้งนั้น แต่ก็ยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยชนะตลาดหุ้นได้ จนกลายเป็นตำนานที่พูดถึงกันทุกวันนี้