×

รู้จักภาษี e-Service เมื่อรัฐไทยพยายามเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
15.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ครม. เห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากบริการบนอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการในต่างประเทศ เช่น Netflix, Spotify, โฆษณา Facebook, Google ไปจนถึงการซื้อแอปฯ จาก Play Store, App Store 
  • หากกฎหมายผ่าน ผู้บริโภคน่าจะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นอีก 7% เพราะอย่างน้อยๆ ตามหลักการแล้ว VAT เป็นหน้าที่ของผู้บริโภค บริษัทที่มีหน้าแค่ส่งมอบภาษีให้รัฐเท่านั้น 
  • หลายประเทศก็กำลังพยายามหาวิธีและออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีผู้ให้บริการไอทีต่างชาติ ส่วนการเก็บภาษี VAT ก็มีหลายประเทศนำร่องไปก่อนไทยแล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการเก็บภาษีกับบริษัทไอทีต่างชาติกลับมาเป็นที่พูดถึงในไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้นำร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ฉบับแก้ไข นำเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณา เพื่อจัดกับภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ให้บริการจากบริษัทไอทีต่างประเทศ

 

การเก็บภาษีบริษัทไอทีต่างชาติเป็นความพยายามของรัฐบาลหลายประเทศมานาน ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทย ซึ่งก็มักจะนำไปสู่คำถามใหญ่ๆ คือ ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

 

แก้ไข พ.ร.บ. ภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมบริการไอทีจากผู้ให้บริการต่างชาติ

การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่แล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … เพื่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ให้บริการ e-Service ต่างชาติ โดยมีสาระสำคัญ 2 ส่วนคือ

 

  • แก้ไขเพิ่มเติมนิยามของคำว่า ‘สินค้า’ ให้ครอบคลุม ‘บริการทางอิเล็กทรอนิกส์’ ที่หมายถึงบริการที่ส่งมอบผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น Netflix, Spotify, Facebook, Google, Apple และ ‘อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม’ ที่หมายถึงบริการจำพวก Cloud Computing อย่าง AWS, Microsoft Azure, Google Cloud Platform
  • กำหนดให้ผู้ให้บริการในกลุ่มข้างต้น และมีรายรับในประเทศไทยเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรและส่งภาษีแทน

 

ร่างแก้ไข พ.ร.บ. เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีกฎหมายเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติ แม้จะเป็นแค่ VAT ไม่ใช่ภาษีนิติบุคคล แต่ก็ถือว่าค่อนข้างสำคัญ เพราะที่ผ่านมาประเด็นการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลหลายประเทศพยายามออกกฎหมายมาบังคับใช้ เพื่อเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ 

 

วิธีการของบริษัทเหล่านี้คือการจดทะเบียนในประเทศที่ฐานภาษีต่ำ (Tax Haven) แล้วบันทึกเป็นรายรับในประเทศเหล่านั้นแทน แม้ตัวลูกค้าจะอยู่ในประเทศอื่นก็ตาม เช่น ใบเสร็จของ Netflix จะขึ้นที่อยู่เป็นกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือใบเสร็จของ Spotify จะขึ้นที่อยู่เป็นกรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ไม่รวมวิธีการโยกย้ายเงินหรือรายรับไปไว้กับบริษัทลูก เพื่อลดการจ่ายภาษีอีกทาง ซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

 

หลังจากนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเข้าสู่วาระการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งก็อาจมีการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากผ่านความเห็นชอบ ก็จะบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

 

เก็บ VAT แล้วค่าบริการอาจจะแพงขึ้น

ทุกวันนี้ผู้บริโภคอย่างเราก็จ่าย VAT กับสินค้าและบริการแทบจะทุกชนิดอยู่แล้ว (แทบจะ เพราะไม่ใช่ผู้ให้บริการหรือผู้ขายสินค้าทุกรายจะเข้าระบบ VAT) ซึ่งส่วนใหญ่ VAT จะรวมอยู่ในค่าสินค้าและบริการไปเลย โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเพิ่มต่างหาก เช่น จ่ายค่าสินค้า 100 บาท หากดูในใบเสร็จจะแยกเป็นราคาสินค้า 93.457 บาท และ VAT (7%) อีก 6.543 บาท

 

แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้บริโภคจ่าย VAT เพิ่มจากราคาสินค้าและบริการ เช่น บุฟเฟต์ราคา 499 เก็บ VAT เพิ่มอีก 7% (34.93) สรุปที่ต้องจ่ายคือ 533.93 บาท

 

ดังนั้นเมื่อกฎหมายเก็บ VAT จากบริการไอทีต่างชาติบังคับใช้และผู้ให้บริการเหล่านั้นมาจดทะเบียนกับกรมสรรพากร ความเป็นไปได้ของราคาค่าบริการอย่างเช่น Netflix, Spotify, Apple Music หรือการซื้อแอปฯ ในสมาร์ทโฟน จะมี 2 กรณีเหมือนกันคือ ค่าบริการเท่าเดิม จำนวนเงินที่ผู้บริโภคอย่างเราจะต้องจ่ายยังเท่าเดิม แต่ผู้ให้บริการจะหัก 7% ส่งเข้ารัฐ หรือเก็บจากผู้บริโภคเพิ่มไปเลย เช่น Netflix จากเดิมจ่ายเดือนละ 420 บาท ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 7% เป็นทั้งหมดราว 450 บาท

 

อย่างไรก็ตาม หากคิดในมุมบริษัท ตามตรรกะทุนนิยมง่ายๆ จะพบว่าไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่บริษัทเหล่านี้จะยอมเข้าเนื้อ หักรายได้ของตัวเองเพื่อจ่ายให้กับรัฐบาลด้วยการเก็บค่าบริการเท่าเดิม (และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าบริษัทเหล่านี้พยายามเลี่ยงการจ่ายภาษีให้น้อยที่สุดอยู่แล้วด้วย) 

 

ไม่รวมหลักการที่ ภาระหน้าที่ในการจ่าย VAT จริงๆ แล้วเป็นของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการ ไม่ใช่ภาระของบริษัทที่ขายสินค้าหรือให้บริการ (ที่มีภาระต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้ว) หน้าที่ของบริษัทเหล่านี้มีแค่ ‘รวบรวม’ VAT และ ‘ส่งมอบ’ ให้กับรัฐแทนผู้บริโภคเท่านั้น ส่วนรูปแบบในการเก็บก็แล้วแต่ผู้ให้บริการอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าจะรวมอยู่ในราคาสินค้าบริการหรือเก็บเพิ่มต่างหาก

 

ดังนั้นผลกระทบกับผู้บริโภคอย่างเราๆ หลังการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้คือน่าจะต้องจ่ายค่าบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นเพราะถูกบวก VAT เข้าไปอีก 7% นั่นเอง

รัฐถังแตกจึงต้องรีดภาษี?

สำหรับกฎหมายด้านภาษีบางฉบับที่รัฐบาลออก อาจน่าตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในแง่เหตุและผลของการเก็บ แต่สำหรับกฎหมายเก็บ VAT จากผู้ให้บริการไอทีต่างประเทศฉบับนี้ น่าจะค่อนข้างสมเหตุสมผลมากกว่า เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการเหล่านี้เข้ามาหารายได้จากลูกค้าในประเทศไทย การบริโภคสินค้าและบริการก็เกิดขึ้นในไทย ปีหนึ่งรวมกันอาจมีหลายร้อยถึงหลายพันล้านบาท แต่เม็ดเงินเหล่านี้กลับไม่เคยสร้างรายได้ใดๆ ให้กับรัฐไทยเลย 

 

อย่างไรก็ตาม หลักการจดทะเบียนของบริษัทไอทีเหล่านี้เพื่อนำส่ง VAT ปัญหาต่อไปที่จะตามมาคืออาจเกิดการแจ้งรายได้ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อลดการจ่ายภาษีอีกต่อ อย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปีที่แล้วว่า กรมสรรพากรญี่ปุ่นตรวจพบว่า Facebook ญี่ปุ่นแจ้งรายได้ต่ำกว่าความจริงไป 500 ล้านเยน 

 

นอกจากนี้ปัญหาการเก็บภาษีบริษัทไอทีข้ามชาติลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาแค่ประเทศไทย ดังที่กล่าวไปว่าหลายประเทศก็กำลังพยายามหาทางและออกกฎหมายให้บริษัทเหล่านี้จ่ายภาษีที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ ให้ได้อยู่ 

 

โดยตอนนี้ประเทศที่มีกฎหมายเก็บ VAT กับผู้ให้บริการไอทีต่างชาติก็มีนอร์เวย์ ที่เริ่มในปี 2011, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่เริ่มในปี 2015, นิวซีแลนด์ปี 2016, ไต้หวันและออสเตรเลีย ปี 2017 ส่วนเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียก็เพิ่งเริ่มเก็บเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และอินโดนีเซีย กฎหมายจะมีผลบังคับใช้เดือนกรกฎาคมนี้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising