ภัยคุกคามในปัจจุบันมีความหลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น กลายเป็นโจทย์สำหรับการกำหนดบทบาทของ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (Special Operations Forces / SOF) ซึ่งนำไปสู่การจัดงานเสวนา Thailand Special Operations Dialogue 2025 (TSOD 2025) เพื่อระดมสมองเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยปฏิบัติการพิเศษ รวมถึงการปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ (Emerging Threats) ภายใต้บริบทโลกใหม่
งานนี้จัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ SOF และหน่วยงานด้านพลังงานจากหลายประเทศเข้าร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับภัยคุกคามที่แต่ละประเทศกังวล เพื่อเพิ่มความร่วมมือในมิติต่างๆ โดย THE STANDARD ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในงานนี้ด้วย
ข้อสรุปจากเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้ได้แบ่งภัยคุกคามออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ คือภัยคุกคามที่มีอยู่เดิม และภัยคุกคามใหม่ๆ ซึ่งต่างต้องอาศัยการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์เชิงรุกและรับ
หลายประเทศแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับความท้าทายที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษต่างๆ กำลังเผชิญ เช่น กลุ่มหัวรุนแรง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยทางทะเล รวมถึงการลักลอบขนวัสดุนิวเคลียร์ข้ามชาติ โดยที่ภัยคุกคามที่มีอยู่เดิมก็มีโจทย์ท้าทายและความซับซ้อนมากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างโดรนในสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น
ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อเสนอแนะว่าหน่วยปฏิบัติการพิเศษจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) ที่มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เช่นกัน
ส่วนอีกบทบาทสำคัญของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทั่วโลกคือการช่วยเหลือพลเรือนในเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันก็มีความท้าทายมากขึ้นและต้องอาศัยการตอบสนองที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
ซึ่งการรับมือหรือการจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีความร่วมมือระหว่างประเทศ การแชร์ข่าวกรอง และการเป็นหุ้นส่วนระดับนานาชาติ
ส่วนโจทย์การเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติการพิเศษนั้น ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า SOF จำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถที่สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและรูปแบบของสงครามที่เปลี่ยนไป ซึ่งมิติที่มีการโฟกัสเป็นพิเศษคือ การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ การต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และระบบอาวุธที่ไม่มีมนุษย์ควบคุม เช่น โดรน
นอกจากนี้เวทีเสวนามีข้อแนะนำว่า SOF ควรเพิ่มขีดความสามารถในด้านการทำสงครามไซเบอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และรักษาระบบการสื่อสารที่ปลอดภัย เพื่อคงความได้เปรียบเหนือศัตรูด้วย
ส่วนวิธีการในการพัฒนาขีดความสามารถที่มีประสิทธิภาพนั้น มีข้อสรุปว่า SOF ต้องให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาภายในประเทศและการพัฒนาร่วมกับพันธมิตร โดยสามารถเสริมสร้างความยืดหยุ่นผ่านกลไกการหารือร่วมกัน (Joint Dialogue) การฝึกซ้อม (Training) และการซ้อมรบร่วมกับพาร์ตเนอร์และพันธมิตร