×

นานาชาติร่วมลงนามสนธิสัญญาทะเลหลวงครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

07.03.2023
  • LOADING...

นานาชาติเกือบ 200 ประเทศร่วมลงนามข้อตกลงทำสนธิสัญญาทะเลหลวง (High Seas Treaty) ซึ่งมีผลผูกพันทางกฎหมาย เพื่อปกป้องสิ่งมีชีวิตในเขตน่านน้ำสากล โดยข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากการเจรจานานกว่า 2 สัปดาห์ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สิ้นสุดลง โดยการประชุมในเซสชันสุดท้ายใช้เวลานานถึง 36 ชั่วโมง

 

สนธิสัญญาทะเลหลวงฉบับนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดตั้งและจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาทิ การทำเหมืองในทะเลลึก

 

ทางด้าน ลอรา เมลเลอร์ นักรณรงค์ด้านมหาสมุทรของ Greenpeace Nordic ระบุว่า “วันนี้นับเป็นวันประวัติศาสตร์สำหรับการอนุรักษ์ และเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ในโลกที่มีการแบ่งแยกส่วนนี้ การปกป้องธรรมชาติและประชาชนพลเมืองโลกสามารถคว้าชัยชนะเหนือผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ได้”

 

โดยสนธิสัญญาฉบับนี้มีการพูดคุยหารือกันมานานราว 2 ทศวรรษ เมื่อ UN ได้จัดตั้งกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับการปกป้องมหาสมุทรขึ้นในปี 2004 จนกระทั่งในปี 2015 ที่ประชุม UN ก็ได้มีมติในการพัฒนาข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายขึ้น หลังจากนั้นก็ได้มีการเริ่มเจรจาอย่างจริงจังขึ้นในปี 2018 และอีกครั้งในปี 2022 แต่กลับจบลงด้วยความล้มเหลว

 

การเจรจาครั้งล่าสุดนี้ นับเป็นการเจรจาครั้งประวัติศาสตร์และเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายในการปกป้องมหาสมุทรของโลก โดย ลอรา เมลเลอร์ ยังกล่าวอีกว่า “เรายกย่องประเทศต่างๆ ที่ร่วมกันแสวงหาการประนีประนอม ยอมละทิ้งความแตกต่าง และส่งมอบสนธิสัญญาที่เปิดโอกาสให้เราร่วมกันปกป้องดูแลมหาสมุทร รวมถึงรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องชีวิตและการดำรงอยู่ของผู้คนหลายพันล้านคน” 

 

ทะเลหลวงนับเป็นผืนน้ำขนาดมหึมาที่คิดเป็นกว่า 60% ของมหาสมุทรทั่วโลก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์และระบบนิเวศที่มีเอกลักษณ์มากมาย ทั้งยังเป็นแหล่งประมงที่สำคัญสำหรับผู้คนหลายพันล้านชีวิต นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นกันชนให้กับมนุษย์ต่อวิกฤตสภาพอากาศ เนื่องจากมหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกไว้มากกว่า 90% ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 

ในปัจจุบันต่างมีการขนานนามให้กับทะเลหลวงว่าเป็นถิ่นทุรกันดารแห่งสุดท้ายของโลก เนื่องมาจากวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้น และทำให้น้ำมีค่าความเป็นกรดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในมหาสมุทร เช่น การประมงเชิงอุตสาหกรรม การเดินเรือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ใต้ทะเลลึก และการแข่งขันเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในมหาสมุทร ก็ล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบเชิงลบให้กับท้องทะเลและมหาสมุทรแทบทั้งสิ้น

 

ขณะนี้ประเทศต่างๆ จะต้องยอมรับและให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการกำหนดเขตคุ้มครองรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ และพยายามบรรลุเป้าหมายในการปกป้อง 30% ของมหาสมุทรทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่เขตทะเลหลวงหรือน่านน้ำสากลราว 1.2% เท่านั้นที่ได้รับการปกป้อง และมีเพียง 0.8% เท่านั้น ที่ได้รับการปกป้องสูงสุดจากประชาคมระหว่างประเทศ

 

ภาพ: Irina Markova / Shutterstock

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X