×

มหาดไทยสั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดบูรณาการมาตรการคุมโควิด-19 เข้มข้นในพื้นที่ ขอผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยงกักตนเอง 14 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
05.01.2021
  • LOADING...
มหาดไทยสั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดบูรณาการมาตรการคุมโควิด-19 เข้มข้นในพื้นที่ ขอผู้กลับจากพื้นที่เสี่ยงกักตนเอง 14 วัน

วันนี้ (5 มกราคม) ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.มท.) เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้กำหนดกรอบการปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 16) ลงวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครถือปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

 

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินการเพิ่มเติม 3 ด้านคือ 

 

1. เน้นย้ำขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเต็มขีดความสามารถ หรือ DMHTT ได้แก่ เว้นระยะระหว่างกัน สวมหน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย และใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ  

 

2. ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และความตระหนักแก่ประชาชน ให้ความร่วมมือหากทราบว่าตนเองได้เคยเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้อหรือ ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ ขอให้กักกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่นเป็นเวลา 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้าน และให้ข้อมูลที่แท้จริงกับแพทย์ 

 

3. ปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่กวดขันไม่ให้มีบ่อนการพนันในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเคร่งครัด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอเข้มงวดกวดขันและประสานการปฏิบัติร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งแจ้งกำนันและผู้ใหญ่บ้านร่วมในการหาข่าว/เบาะแสกรณีดังกล่าวด้วย 

 

และสำหรับจังหวัดและกรุงเทพมหานครที่กำหนดให้เป็น ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ ให้ดำเนินการ ดังนี้ 

 

1. ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นใดที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค 

 

2. การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดมาตรการจัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จำนวนผู้นั่งบริโภคในร้าน การจัดสถานที่ จัดให้มีระบบบันทึกผู้ใช้บริการโดยใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ หรือจดบันทึกข้อมูลให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ในกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดเวลาห้ามนั่งบริโภคในร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้กำหนดห้ามนั่งบริโภคในร้านระหว่างเวลา 21.00-06.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยให้เป็นลักษณะของการจำหน่ายแล้วนำกลับไปบริโภคที่อื่น 

 

3. การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้ดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบูรณาการและประสานการปฏิบัติ จัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงและตำรวจ ตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางคมนาคมที่เป็นเส้นทางหลักพื้นที่รอยต่อระหว่าง ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ กับ ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ และพื้นที่รอยต่อระหว่าง ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ กับ ‘พื้นที่ควบคุม’

 

หากพบบุคคลที่มีความเสี่ยงหรือเดินทางมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้บันทึกข้อมูลเพื่อสามารถสืบค้นได้ และดำเนินการตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมอบหมายนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการกับทุกภาคส่วน จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองการเดินทางในเส้นทางรองในตำบล หมู่บ้าน และชุมชน ให้ประสานสอดคล้องกับการจัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจในเส้นทางหลัก  

 

พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด และขอความร่วมมืองดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด เว้นแต่มีเหตุจำเป็น หรือเป็นกรณีการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตรที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ การปฏิบัติงานเกี่ยวกับระบบสื่อสารโทรคมนาคม สาธารณูปโภค สาธารณูปการ โดยต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ รวมทั้งรับการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด อันอาจทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ 

 

นอกจากนี้ ในกรณีจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและมีแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ให้จังหวัดประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการบริหารจัดการ โดยให้พิจารณาความเหมาะสมของสถานที่และชี้แจงสร้างความเข้าใจกับประชาชนด้วย และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานกับผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ แสวงหาความร่วมมือการปฏิบัติการดูแลผู้ใช้แรงงานร่วมกับการปฏิบัติการของภาคราชการ โดยแนะนำให้มีการนำมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากพบกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงให้ดำเนินการตามแนวทางที่ทางราชการกำหนด โดยพิจารณาร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X