×

มหาดไทยเร่งสปีดปราบมาเฟีย ปิดฉากมหากาพย์ทวงที่ดิน 5 หมื่นล้าน คืนหาดเลพังให้ภูเก็ต

13.05.2024
  • LOADING...

‘เกาะภูเก็ต’ ไข่มุกอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก

 

ในช่วงที่ผ่านมาปรากฏรายงานข่าวต่อเนื่องว่า ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีผู้มีอิทธิพลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มักมีลักษณะเป็นการข่มเหงและรังแกประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้มีอิทธิพลชาวต่างชาติ

 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อติดตามและรับฟังรายงานผลการปฏิบัติงาน พบว่า ปัจจุบันมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตราว 1.4 ล้านคน เป็นสัญชาติรัสเซียมากที่สุด พบผู้กระทำผิดที่เป็นชาวต่างชาติและมีการดำเนินคดีเพิกถอนการอยู่ต่อตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 98 ราย

 

นายกรัฐมนตรีออกปากสั่งด้วยตนเองว่า “รัฐบาลลงทุนที่ภูเก็ตเป็นแสนล้าน แต่ถ้ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เช่น กรณีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทำมาหากินอย่างไม่ถูกต้อง ที่ลงทุนจะพังพินาศได้ ขอให้ช่วยกันดูให้ดี เพราะเราลงทุนไปสูง ไม่อยากให้น้ำผึ้งหยดเดียวเป็นปัญหาให้เรื่องที่เราทำเสียหาย”

 

ทำให้เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแลปัญหาการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ลงพื้นที่มามอบนโยบาย รวมถึงร่วมปล่อยแถวการสนธิกำลังฝ่ายตำรวจ ทหาร และพลเรือน พร้อมขบวนรถในการปฏิบัติภารกิจจัดระเบียบสังคมในพื้นที่

 

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ร่วมปล่อยแถวกำลังฝ่ายตำรวจ ทหาร และพลเรือน

พร้อมขบวนรถในการปฏิบัติภารกิจจัดระเบียบสังคมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 

 

อนุทินชูนโยบายการจัดระเบียบสังคมและปราบปรามผู้มีอิทธิพล เป็นนโยบายที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยที่ประชาชนจะต้องรู้สึกอุ่นใจและมั่นใจว่าจะพึ่งพาเราได้ 

 

“วันนี้มีเรื่องของผู้มีอิทธิพล มาเฟีย สิ่งที่ผมรับไม่ได้เลยคือ การที่มีคนต่างชาติมาคุกคามพี่น้องร่วมชาติเรา ตรงนี้ถ้าใครรับได้ ผมว่าไม่สมควรเป็นข้าราชการ เราต้องรักษาเกียรติยศเกียรติภูมิของประชาชนเราด้วย ประเทศไทยแม้จะเป็นสยามเมืองยิ้มให้การต้อนรับทุกคน แต่เขาก็ต้องเคารพกฎหมายของเรา” อนุทินกล่าว

 

ในวันเดียวกัน เขาได้แถลงผลการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า พบการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การประกอบธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้มีใบอนุญาตทั้งสิ้น 21 แห่ง และยังพบอีกว่า ในหลายแห่งเป็นลักษณะของนอมินีที่มีนายทุนเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกติดตามดำเนินคดีต่อไป

 

“ไม่ได้ต้องการที่จะปิดโอกาสใคร แต่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่ถูกกำหนดไว้ หากเราไม่ทำงานอย่างเต็มที่ อาจจะเกิดกรณีแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ คือต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจ แต่ประเทศไทยกลับไม่ได้อะไรเลย” อนุทินกล่าว

 

อีกทั้งยังพบว่า มีการเลี่ยงภาษีและใช้บัญชีปลอมด้วย เราจะดำเนินการไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น โดยจะเริ่มนำร่องในภูเก็ตเป็นจังหวัดแรก และหลังจากนั้นจะขยายผลไปจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ ต่อไป เพื่อให้เราได้ดำเนินการ ดำเนินคดี หรือปราบปรามผู้ที่กระทำผิดกฎหมายในระดับประเทศต่อไป 

 

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า มีชาวต่างชาติทำธุรกิจที่เข้าข่ายการฟอกเงิน มีการเปิดหน้าร้านเป็นที่แลกเงิน แต่ในความเป็นจริงแอบขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีด้วย

 

ดังนั้นจึงต้องช่วยกันปราบปราม และเราจะดำเนินการอย่างเต็มที่ให้บุคคลที่กระทำความผิดตามกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไป

 

คืนหาดเลพังสู่ประชาชนทุกคน

 

การลงพื้นที่ของอนุทินในครั้งนี้ อีกภารกิจที่สำคัญของเขาในฐานะ มท.1 คือ การเป็นประธานในพิธีคืนชายหาดเลพัง หนึ่งในหาดที่มีความสงบและสวยงาม มีความยาว 2 กิโลเมตร บริเวณตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ที่มีมูลค่าปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท คืนสู่คนภูเก็ต

 

กว่า ‘หาดเลพัง’ จะกลับมาเป็นที่ดินของหลวง เป็นพื้นที่ที่ทุกคนในผืนแผ่นดินสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้นั้น พื้นที่แห่งนี้ได้ผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านการฟ้องร้องทางกฎหมายระหว่างรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่อ้างสิทธิครอบครองที่ดินมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ 

 

แต่สุดท้ายศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อปี 2560 ให้จังหวัดภูเก็ตชนะคดี และเข้ารื้อถอนทั้งสิ้น 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ปี 2561, ครั้งที่ 2 ปี 2564 และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นการปิดตำนานทวงคืนหาดเลพังได้สำเร็จ

 

อนุทิน ชาญวีรกูล กำลังดูประกาศของกรมที่ดิน

ที่ระบุให้หาดเลพังเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

 

อนุทินกล่าวว่า จากนี้ชายหาดเลพัง 172 ไร่นี้ เป็นสมบัติของพี่น้องชาวภูเก็ตทุกคน แต่ด้วยความหละหลวมของกฎระเบียบ ทำให้มีผู้ที่เห็นแก่ตัวพยายามอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของชายหาดแห่งนี้ ซึ่งประชาชนต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมายาวนานหลายสิบปี ตนจึงขอให้สถานที่แห่งนี้เป็นที่สุดท้ายของการกระทำลักษณะดังกล่าว 

 

“ขอให้มั่นใจได้ว่า ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและกรมที่ดินจะอยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชน และพร้อมจะปกป้อง พิทักษ์สิทธิ และรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน” อนุทินกล่าว

 

ขณะที่ มาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล กล่าวทั้งน้ำตา ขณะร่วมพิธีมอบที่ดินหาดเลพังพื้นที่ 172 ไร่ ให้มาอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันว่า สำหรับที่ดินแปลงนี้มีการต่อสู้กันมายาวนานกว่า 23 ปีแล้ว 

 

วันนี้เป็นวันที่สร้างความดีใจให้ในพื้นที่เป็นอย่างมาก 23 ปีที่ผ่านมา ประชาชนและส่วนราชการได้พยายามปกป้องและทวงคืนพื้นที่นี้ให้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งตนเองในฐานะตัวแทนชาวบ้านต้องขอขอบคุณทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้มีวันนี้ วันที่คนทั้งชาติ คนภูเก็ตได้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ร่วมกัน

 

มาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล

โผเข้ากอด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ทั้งน้ำตา

 

“ที่ดินแปลงนี้มีมูลค่ามากมายมหาศาล และมีคุณค่าต่อชาวจังหวัดภูเก็ต หลังจากทราบว่ามีการลงนามมอบที่ดินแปลงนี้ให้เป็นสมบัติของทุกคน น้ำตาแห่งความปีติก็ไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา เป็นการต่อสู้กับใครไม่รู้ แต่รู้ว่าคนเหล่านั้นมีพลังมากมาย แต่สุดท้ายความร่วมมือของหน่วยงานรัฐและประชาชนก็ประสบความสำเร็จ วันนี้ที่ดินแปลงนี้กลับมาเป็นของส่วนรวม ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้แล้ว” มาโนชกล่าวทั้งน้ำตา 

 

ส่วน พรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า บริเวณหาดเลพัง หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลแจ้งความประสงค์ต่อนายอำเภอถลาง ขอสงวนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่รกร้างว่างเปล่าเพื่อให้เป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน 

 

อำเภอได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ปรากฏว่าที่ดินที่ขอสงวนเป็นที่รกร้างว่างเปล่า มีต้นสนทะเลขึ้นตลอดแนว และในระวางรูปถ่ายทางอากาศที่ถ่ายไว้เมื่อปี 2521 ไม่ปรากฏร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด 

 

อำเภอถลางเห็นว่า การสงวนที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อรักษาที่ดินไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ หากปล่อยปละละเลยให้มีการบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง จะเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ชายหาดได้

 

ต่อมาปี 2545 จังหวัดภูเก็ตเห็นชอบให้อำเภอถลางดำเนินการสงวนหวงห้ามเพื่อให้พลเมืองใช้ร่วมกัน โดยให้ดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (ปี 2529) ต่อมาอำเภอถลางได้มีประกาศลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 เรื่อง ที่ดินที่จะสงวนหรือหวงห้ามเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ให้ประชาชนทั่วไปทราบทั่วกัน โดยแสดงขอบเขตที่ดินที่จะสงวนเนื้อที่ประมาณ 178 ไร่ 

 

ปรากฏว่ามีผู้คัดค้าน จำนวน 9 ราย ไปใช้สิทธิทางศาล จำนวน 7 ราย และไม่ไปใช้สิทธิทางศาล จำนวน 2 ราย ซึ่งทั้งศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแล้วว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐ เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่าในปี 2565 องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เห็นสมควรสงวนหวงห้ามที่ดินบริเวณชายหาดเลพัง หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 172-3-18 ไร่ 

 

ชาดา ไทยเศรษฐ์ ระหว่างร่วมงานเปิดกิจกรรมคืนชายหาดเลพังให้ชาวภูเก็ต 

 

ขณะที่ ชาดา ไทยเศรษฐ์ กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ตนเองรู้สึกตื้นตันใจ ระยะทางของหาดเลพังกว่า 2 กิโลเมตร ซึ่งมีพื้นที่กว่า 100 ไร่นี้ ถูกเอกชนยึดไป และรัฐเองก็ต้องต่อสู้มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ในวันนี้ได้คืนพื้นที่ สามารถทำสำเร็จในยุคนี้ เราก็รู้สึกดีใจที่เราสามารถคืนพื้นที่ทะเลอันสวยงามนี้ให้กับประชาชนได้มาใช้ประโยชน์ และเป็นความภาคภูมิใจของกระทรวงมหาดไทยด้วย

 

“เราภาคภูมิใจที่เราสามารถนำของหลวงกลับมาคืนให้กับประชาชน แผ่นดินตรงนี้กลับมาเป็นของเราทุกคนแล้ว จากนี้หาดเลพังจะเป็นความงดงามของภูเก็ต ไข่มุกอันดามันที่แท้จริงอีกครั้ง และเชื่อว่าจะสามารถเปล่งประกายทางเศรษฐกิจแก่คนไทยอีกมาก” ชาดากล่าว 

 

บรรยากาศยามเย็นที่ชายหาดเลพัง ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

พบนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมาเดินเล่น

 

ย้อนตำนานมหากาพย์ทวงคืนหาดเลพัง 

 

หาดเลพังเกิดข้อพิพาททางกฎหมายขึ้น เมื่อกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรีสอร์ตเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจังหวัดภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอำเภอถลาง องค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล กรมที่ดิน หัวหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตส่วนแยกถลาง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-7

 

กรณีที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันออกมติเห็นชอบปิดประกาศให้ที่ดินของโจทก์เป็นที่สาธารณประโยชน์ใช้ร่วมกันโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และโต้แย้งสิทธิครอบครอง โดยขอให้พิพากษาว่า โจทก์บางรายเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง เพิกถอนประกาศอำเภอถลาง คำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และจำเลยอื่น ให้บังคับจำเลยยุติการสงวนที่ดินของโจทก์ที่ให้ประชาชนใช้เป็นที่สาธารณะ

 

สำหรับคำฟ้องสรุปนั้น ที่ดินพิพาทที่บรรดาโจทก์ครอบครองรวมทั้งหมด 178 ไร่ มีราษฎรเข้าถือครองใช้ประโยชน์มาก่อนปี 2489 และ 2494 ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินมาจากบุคคลอื่น และที่ดินมีการส่งมอบสิทธิครอบครองให้กับโจทก์เข้าทำประโยชน์ และที่ดินในการครอบครองบางส่วนได้รับสิทธิครอบครองมาจากราษฎรที่รับมรดกมาจากบิดาก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินบังคับใช้ มีการยื่นขอออกโฉนดตามระเบียบราชการและตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีคณะกรรมการตรวจสอบสรุปว่า ที่ดินไม่ได้เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้ร่วมกัน ไม่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ หรือป่าประเภทอื่น

 

พวกจำเลยกลับเห็นชอบนำที่ดินไปเป็นสาธารณประโยชน์ การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยขัดขวางการออกโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยมีพนักงานอัยการมาว่าความ และฟ้องแย้งว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ครอบครองที่ดินโดยสุจริต จึงไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ เพื่อถือครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

 

จำเลยได้ปฏิบัติราชการกระทำการตามกฎหมาย จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2510 ไม่ปรากฏการยึดถือครอบครองทำประโยชน์ ที่ดินพิพาทย่อมกลับมาในครอบครองของรัฐ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดิน ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และขอฟ้องแย้งให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินด้วย

 

ในศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหมด และให้โจทก์ที่ 1, 3, 4 และ 5 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน และให้โจทก์ทั้ง 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท 

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ให้โจทก์ที่ 6 พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้โจทก์ทั้ง 6 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยรวม 15,000 บาท

 

ส่วนศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยประกาศสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐ รวมเนื้อที่ประมาณ 178 ไร่ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามความในประมวลกฎหมายที่ดิน แต่โจทก์อ้างว่าไม่ใช่ที่ดินของรัฐ บางส่วนเป็นที่ดินของโจทก์ทั้ง 6 มีปัญหาวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทโจทก์ทั้ง 6 มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินของรัฐตามข้อต่อสู้ของจำเลยหรือไม่

 

ฝ่ายโจทก์ทั้ง 6 อ้างว่า รับโอนที่ดินมาจากผู้ครอบครองที่ดินคนก่อน ซึ่งครอบครองก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทคนก่อนได้สิทธิครอบครองที่ดินมาก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2497 หรือไม่ เห็นว่าพยานโจทก์หลายปากไม่มีการนำสืบให้เห็นว่าผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เริ่มครอบครองเมื่อใด และมีการโอนขายเป็นทอดๆ อย่างไร เป็นการนำสืบไม่สมฟ้อง เป็นการกล่าวอ้างเลื่อนลอย

 

ถึงแม้พยานบางปากสืบพอฟังได้ว่า ข้อเท็จจริงมีราษฎรครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อน แต่ต้องถือว่ามีเจตนาสละการครอบครองตามบทบัญญัติของกฎหมาย และไม่ปรากฏว่ามีการผ่อนผันให้เฉพาะราย ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่า ราษฎรที่กล่าวอ้างมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้จะมีการโอนหลายทอดมาถึงโจทก์

 

ส่วนฝ่ายจำเลยมี รุจิรา ฉิมดี นักวิชาการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ กรมที่ดิน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำศาลยุติธรรม เบิกความประกอบรายงาน ผลการแปลตีความภาพถ่ายทางอากาศ ปรากฏว่าที่ดินทั้ง 8 แปลง 178 ไร่ บนระวางแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าชายหาด มีน้ำทะเลขึ้นตามลำดับ บางส่วนมีเหมืองแร่ ส่วนในปี 2538 พื้นที่ส่วนใหญ่ถึงมีปรากฏการณ์เพาะปลูกผลไม้ บางส่วนเป็นหมู่บ้านและเส้นทาง

 

แม้โจทก์จะมี พ.อ. ปิยะ จารุกาญจน์ หัวหน้าวิจัยและพัฒนา กรมแผนที่ทหาร มาเบิกความประกอบภาพถ่ายทางอากาศปี 2510 มีบ้านเรือนพักอาศัย แต่เป็นการเอาภาพถ่ายของกรมแผนที่ทหารมาถ่ายขยายเป็นเอกสารเปรียบเทียบตีความ แตกต่างกับวิธีวิเคราะห์ของรุจิราที่อ่านภาพถ่ายทางอากาศด้วยอุปกรณ์มองภาพสามมิติ ใช้ภาพ 2 ภาพ เป็นลักษณะต่อเนื่อง มีส่วนทับซ้อนพันกันมา สร้างระวางแผนที่ อ้างอิงผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิธีการอ่านแปลตีความมีความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องแม่นยำมากกว่าวิธีการของ พ.อ. ปิยะ

 

ศาลฎีกาจึงมีความเห็นว่า ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ของรัฐหรือไม่นั้น พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงยังเป็นที่ดินของรัฐที่ศาลล่างทั้ง 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้ง 2 นั้นชอบแล้ว 

 

ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ 6 ในข้อกฎหมายฟังขึ้นบางส่วน ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนโจทก์ที่ 6 และโจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อย่างไรก็ตาม คดีนี้ตามศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยชนะคดี และให้โจทก์ที่ 1, 3, 4 และ 5 ย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่

 

ภายหลังจากคดีได้เสร็จสิ้นลงนั้น เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ศุภชัย คำคุ้ม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษภาคพื้นที่ 8 เดินทางเข้าร่วมปฏิบัติการทวงคืนพื้นที่ บริเวณชายหาดเลพัง-ลายัน ตำบลเชิงทะเล อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่สั่งให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ร่วมกัน

 

การเข้ารื้อถอนครั้งนั้นดำเนินการด้วยความเรียบร้อยโดยไม่มีผู้ขัดขวาง แต่มีบางรายที่ขอมานำสิ่งของออกไปและขอรื้อเอง โดยเจ้าหน้าที่อนุญาตให้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปได้ ส่วนการรื้อถอนก็ต้องทำไปพร้อมๆ กับการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีการแจ้งล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X