ในปี 2021 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วัน หนึ่งในการลงทุนที่ยังคงร้อนแรงและน่าสนใจคือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ‘ทองคำ’ ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่โลกยังคงเผชิญอยู่ในช่วงเวลาที่วิกฤตโควิด-19 ไม่จบสิ้น
โดย ธีรรัฐ จุฑาวรากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์โกลด์ โกลด์เทรด จำกัด เปิดเผยถึง 3 ความเสี่ยงที่ทำให้ทองคำยังน่าสนใจในปี 2021 ทั้งคำถามที่ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดีจริงหรือไม่หลังข่าววัคซีนโควิด-19 ที่คืบหน้า ปริมาณเงินในระบบหมุนเวียนที่ทำให้ประเทศมหาอำนาจพิมพ์เงินเพิ่มสู่ระบบ และปัญหา Debt Crisis ที่ประเทศต่างๆ ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินจำนวนมาก
1. เศรษฐกิจจะกลับมาดีจริงหรือไม่
หลังข่าววัคซีนโควิด-19 คืบหน้า รวมถึงบางประเทศเริ่มอนุมัติใช้วัคซีนโควิด-19 และทยอยแจกจ่ายให้กับประชาชนแล้ว ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดตัวกลับมาอยู่ในแดนบวก และในหลายครั้งก็ทำ All Time High ด้วยซ้ำ คำถามที่น่าสนใจคือต่อให้มีวัคซีนใช้แล้ว ธุรกิจต่างๆ รวมถึงเศรษฐกิจจะกลับมาดีจริงหรือไม่
อินเตอร์โกลด์มองว่าโควิด-19 ได้สร้างแผลเป็นต่อเศรษฐกิจทั่วโลก (Scarring Effects) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคและความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
โดยแผลเป็นที่สำคัญประกอบไปด้วย การปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะลดลงไปด้วย เมื่อเป็นดังนั้นก็จะยิ่งซ้ำเติมอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือความเปราะบางของตลาดแรงงาน เพราะเมื่อมีการปิดกิจการและชะลอการลงทุนของภาคเอกชนย่อมทำให้ต้องมีคนตกงานเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ประกอบกับกระแส Disruption ทั่วโลกก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเรื่องการจ้างงานให้หนักเข้าไปอีก
อีกแผลเป็นใหญ่คือกระแส Digital Disruption ที่จะทำให้ ‘ธุรกิจเก่าตาย ธุรกิจใหม่มาแทนที่’ โดยเฉพาะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 เช่น การสั่งอาหารมาส่งถึงบ้าน การโฆษณาที่ย้ายจากทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยผู้ได้ประโยชน์คือเจ้าของเทคโนโลยีในประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีที่ไหนใหญ่พอจะไปต่อกรกับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้น ดังนั้นหลังจบโควิด-19 จึงไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจของทุกประเทศจะกลับมาดีเหมือนเดิม
2. ปริมาณเงินล้นระบบ
ตามหลักการของเศรษฐศาสตร์ เมื่อปริมาณสินค้า (Supply) มากกว่าความต้องการ (Demand) ราคาของสินค้านั้นย่อมด้อยค่าลง หลักการนี้สามารถใช้กับสินค้าได้ทุกชนิด รวมถึงเงิน (Money) ด้วยเช่นกัน
โดยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้มหาอำนาจหลายประเทศต้องออกมาตรการ QE ที่อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยการพิมพ์เงินเพิ่ม เช่นเดียวกับประเทศเล็กๆ อีกจำนวนมากที่ต้องเลือกแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้ ทำให้ในปี 2020 มีเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมหาศาล ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไปคือภาวะเงินเฟ้อ เมื่อปริมาณเงินผิดสมดุลก็จะส่งผลทำให้เงินด้อยค่าลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. ปัญหา Debt Crisis
อีกสิ่งที่ทำให้วิกฤตรอบนี้น่ากังวลหนักกว่าวิกฤตรอบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก็คือ Debt Crisis หรือปัญหาหนี้สินนั่นเอง ซึ่งก่อนจะเกิดโควิด-19 ระดับหนี้สินของหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดทำให้ทุกประเทศต้องก่อหนี้สินเพิ่มเพื่อพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสถานการณ์ขณะนี้จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วตอนนี้ระดับหนี้สินต่อ GDP ของประเทศต่างๆ แทบจะอยู่ในจุดที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัญหาหนี้นั้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศในระยะยาว ถ้าพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้แล้วแต่ละประเทศไม่สามารถปรับตัวได้ ก็จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมาอีก และด้วยระดับหนี้ที่สูงมากก็กดดันให้ภาครัฐไม่สามารถอัดฉีดเศรษฐกิจได้เต็มที่ รวมทั้งต้องหารายได้เข้าประเทศมาจ่ายหนี้ที่ก่อไว้อย่างมหาศาลอีกด้วย
ธีรรัฐสรุปสุดท้ายว่า “จากทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมาทำให้ทองคำนั้นยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจอยู่ จริงอยู่ที่ว่าเราคงไม่สามารถคาดหวังผลตอบแทนแบบเป็นกอบเป็นกำได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทองคำยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ทุกคนควรมีไว้ในพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงที่สินทรัพย์อื่นๆ มีภาวะผันผวน ขณะที่ทองคำยังสามารถช่วยพยุงพอร์ตเอาไว้ได้ ซึ่งขณะนี้ทองคำอยู่ในช่วงที่มีการปรับฐาน ราคาในช่วงนี้ถือว่ามี Margin of Safety ซึ่งเหมาะกับการซื้อแล้วถือไปยาวๆ หรือเก็งกำไรในระยะสั้นก็ยังสามารถทำได้”
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ www.intergold.co.th
#ลงทุนทองคำ #ราคาทองคำ #ซื้อขายทองออนไลน์ #แนวโน้มราคาทองคำ #intergold
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์