×

เฟ้นหาหุ้นน่าสนใจรับงบฯ Q4/63

19.01.2021
  • LOADING...
เฟ้นหาหุ้นน่าสนใจรับงบฯ Q4/63

บล. ไทยพาณิชย์ คาดการณ์กำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2563 กลุ่มธนาคารลดลง 40% และคาดว่ากำไรสุทธิปี 2563 จะลดลงเฉลี่ย 35% หลักๆ เป็นผลมาจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อรองรับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19

 

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกเริ่มพักตัว หลังปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ นั่นเป็นเพราะว่าการปรับขึ้นสะท้อนปัจจัยบวกต่างๆ มามากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และตอบรับประเด็นวัคซีนที่เริ่มเข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ปัจจัยหนุนด้านการเคลื่อนไหวที่มีความผิดปกติในแรงซื้อหุ้นฟรีโฟลตต่ำอย่าง DELTA, KTC และ BAY ซึ่งเข้ามาหนุนดัชนีอีกแรงหนึ่ง

 

ทั้งนี้การปรับขึ้นเริ่มถูกจำกัด เช่นเดียวกับกลุ่มพลังงานที่มี Upside จำกัดเช่นเดียวกัน ตามทิศทางราคาน้ำมันที่เริ่มอ่อนตัว ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเริ่มขายทำกำไร โดยมุมมองต่อดัชนีหุ้นไทย (SET) คาดว่ามีโอกาสหลุดต่ำกว่า 1,500 จุด และมีแนวโน้มลงไปบริเวณ 1,460-1,480 จุด ส่วนกรอบบนยังถูกจำกัดบริเวณ 1,560 จุด

 

ประเด็นสำคัญถัดไปจะเข้าสู่ช่วงรายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ปี 2563 โดยจะเริ่มที่กลุ่มแบงก์ ซึ่งจากประมาณการของฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ (SCBS) คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2563 (4Q63) ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และ 7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และคาดว่ากำไรสุทธิปี 2563 จะลดลงเฉลี่ย 35% หลักๆ เป็นผลมาจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อรองรับคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวแย่ลงสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19

 

ทั้งนี้คาดว่าผลประกอบการ 4Q63 จะสะท้อนถึง 1. การตั้งสำรองสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับ NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2. อัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น QoQ ตามฤดูกาล ดังเห็นได้จากสินเชื่อที่เติบโตดีในเดือนพฤศจิกายน (+0.6% MoM, +5.6% YoY) 3. NIM ที่ลดลงเล็กน้อย โดยมีสาเหตุมาจากการโอนกลับดอกเบี้ยค้างรับจากสินเชื่อที่กลายเป็น NPL หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 4. Non-NII ที่ฟื้นตัวดีขึ้น QoQ หลักๆ เกิดจากค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับตลาดทุน และ 5. OPEX ที่เพิ่มขึ้น QoQ จากปัจจัยฤดูกาล

 

ส่วนแนวโน้มข้างหน้า คาดว่าธนาคารต่างๆ จะใช้เวลา 3 ปีจึงจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ระบาด โดยคาดว่ากำไรจะเติบโต 12% ในปี 2564, 15% ในปี 2565 และ 18% ในปี 2566

 

มาดูราคาหุ้นในปัจจุบันกันบ้างนะครับ ต้องบอกว่าหลังจากราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับขึ้นมาแล้วกว่า 30% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์มีราคาที่ไม่ถูกแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม หากเทียบผลการดำเนินงานในปี 2565 ยังมี Upside ดังนั้นควรใช้กลยุทธ์เชิงรับหรือไม่ไล่ราคา แต่ให้รอจังหวะการพักฐานของราคาหุ้นก่อนค่อยเข้าซื้อ โดยกลุ่มนี้แนะนำ BBL ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้น ายงานผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ จะเข้าสู่กลุ่ม Real Sectors โดยมีกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจที่มีแนวโน้มผลการดำเนินงานดี ซึ่งเป็นธีมหุ้นที่ SCBS แนะนำในช่วงนี้ ได้แก่

 

1. CPF โดยคาดการณ์กำไรสุทธิ 4Q63 ของ CPF ที่ 6.9 พันล้านบาท +72% YoY แต่ลดลงเล็กน้อย -8%QoQ โดยได้รับการสนับสนุนกำไรพิเศษจากการซื้อธุรกิจฟาร์มสุกรในจีน และราคาหมูที่แข็งแกร่ง

 

2. SPALI คาดว่ากำไร 4Q63 จะทำจุดสูงสุดของปี และกำไรสุทธิปี 2564 จะเติบโตสูงที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ Backlog ที่แข็งแกร่งยังช่วยหนุนให้บริษัทมี Secured Revenue ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 45% สูงที่สุดในกลุ่มเช่นเดียวกัน

 

3. BDMS คาดบริษัทจะรายงานกำไรสุทธิที่แข็งแกร่งใน 4Q63 โดยได้แรงหนุนจากกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนใน BH ในขณะที่การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศไทยและข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐบาลอาจจะส่งผลทำให้การดำเนินงานสะดุดลงในระยะสั้น แต่ผลกระทบไม่น่าจะเลวร้ายเหมือนกับเมื่อครั้งที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศใน 2Q63

 

4. SCGP คาดการณ์กําไรสุทธิ 4Q63 ที่ 1.36 พันล้านบาท +14%YoY และ +2%QoQ โดยได้รับการสนับสนุนจากกําไรอัตราแลกเปลี่ยน อัตรากำไรที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่ลดลง ทั้งนี้ SCGP มีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากคำสั่งห้ามนำเข้าเศษกระดาษรีไซเคิลทุกประเภทสู่ประเทศจีน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 คลายความกดดันด้านต้นทุนวัตถุดิบให้ลดลง ส่วนในภาพรวม มองบริษัทมีศักยภาพการเติบโตผ่านกลยุทธ์ M&A โดยล่าสุดเข้าซื้อ GO-Pak ในเวียดนาม และจะรวมงบการเงินเข้ามาได้ในปีนี้

 

5. CBG คาดว่าในปี 2563-2564 บริษัทมีโอกาสทำกำไรสุทธิ Record High ได้ต่อเนื่องจากรายได้เติบโตได้ดีทั้งในประเทศและต่างประทศ และโรงงานผลิตขวดแก้วและผลิตกระป๋องประเภทละ 300 ล้านขวดต่อปีจะเริ่มกำลังการผลิตต้นปี 2564 และการผลิตของ APM ที่ผลิตลังและฉลาก คาดช่วยลดต้นทุนได้ รวมถึงค่าใช้จ่าย SG&A ที่ลดลง… ลงทุนอย่างมีสติ และพบกันใหม่ในคอลัมน์ฉบับหน้าครับ 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X