×

จบรอบ ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ สถิติชี้หุ้นไทยลุ้นเด้งเกิน 30% ภายใน 1 ปี หากแบงก์ชาติตัดสินใจหั่นดอกเบี้ยหลังจากนี้

28.09.2023
  • LOADING...
ดอกเบี้ย

จากถ้อยแถลงของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.50% เมื่อวานนี้ (27 กันยายน) ทำให้หลายคนพอจะคาดเดาได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้อาจเป็นจุดสิ้นสุดของ ‘วงจรดอกเบี้ยขาขึ้น’ ในรอบนี้ 

 

ธปท. ระบุว่า “อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว” 

 

จากสถิติในอดีต นับจากวันที่ ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย หุ้นไทยมีโอกาสจะเข้าสู่วงจรขาขึ้นแทนที่อัตราดอกเบี้ย

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากข้อมูลที่ผ่านมา เมื่ออัตราดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่สถิติของดัชนีตลาดหุ้นโลกก็ปรับขึ้นด้วยเช่นกัน หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย 

 

ดอกเบี้ย

 

“แต่การหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ไม่ได้มีผลกับหุ้นไทยเท่ากับนโยบายของแบงก์ชาติ ที่ผ่านมาหลังแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย 1 เดือน หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3.7% แต่ 1 เดือนหลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุด ผลตอบแทนเฉลี่ยแค่ 0.5% เท่านั้น” 

 

เหตุผลเบื้องหลังต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการที่นักลงทุนผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากที่อยู่กับภาวะตึงเครียดในแง่ของต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น และนโยบายการเงินที่ตึงเครียด 

 

“การส่งสัญญาณจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มวางแผนเกี่ยวกับการใช้จ่ายและการลงทุนในอนาคตได้ง่ายมากขึ้น และหากดูจากข้อมูลในอดีตจะเห็นว่า จุดที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดจะเป็นจุดที่ผลตอบแทนในเชิงเปรียบเทียบต่างๆ เช่น Earning Yield Gap หรือ Dividend Yield Gap เป็นจุดที่แย่ที่สุดแล้ว” 

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ สถิติย้อนหลังของช่วง 1 ปีหลังจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย จะเห็นว่า 3 ครั้งที่ผ่านมา หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 30% แต่หากหุ้นไทยในรอบนี้จะขึ้นได้แรงเหมือนในอดีต จะต้องมีเงื่อนไขที่ว่าแบงก์ชาติจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยในอีกไม่กี่เดือนหลังจากนี้ ซึ่งหากจะเป็นเช่นนั้นเราอาจต้องผ่านวิกฤตอะไรบางอย่าง 

 

“ถ้ายังไม่มีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นก็ค่อนข้างยากที่จะเห็นแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย และยากที่จะเห็นหุ้นไทยวิ่งขึ้นได้ถึง 30% แต่สมมติว่าเริ่มมีกลิ่นของ Recession ในไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ปีหน้า แบงก์ชาติเริ่มลดดอกเบี้ย จากนั้นอาจเห็นการขึ้นแรงในครึ่งปีหลัง”

 

หากตลาดหุ้นไทยกลับเป็นขาขึ้นได้จริง หุ้นกลุ่มไหนจะเป็นผู้นำ จากสถิติในอดีตยังบอกอีกว่ากลุ่มที่จะโดดเด่นที่สุดคือกลุ่มพาณิชย์ (Commerce) โดยเฉลี่ยให้ผลตอบแทน 6.5% หลังขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย 1 เดือน และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากถึง 48.1% ในกรอบเวลา 1 ปี 

 

“ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ถ้าอิงจากสมมติของแบงก์ชาติจะเห็นว่ากลุ่มค้าปลีกโดดเด่นที่สุด แม้จะเห็นการหั่นคาดการณ์ GDP แต่การบริโภคถูกปรับขึ้น อย่างปีนี้ปรับเพิ่มคาดการณ์เติบโตจาก 4.4% มาเป็น 6.1% และปีหน้าก็ปรับเพิ่มคาดการณ์ด้วย จาก 2.9% เป็น 4.6% ส่วนหนึ่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวด้วย” 

 

โดยสรุปแล้วณัฐชาตเชื่อว่า ช่วงไตรมาส 4 จะเป็นจุดเปลี่ยนของสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกให้กลับมาสดใส จาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1. สิ้นสุดวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น 2. เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้น และ 3. เศรษฐกิจภายนอกยังขยายตัวต่อได้

 

“ดัชนี SET ที่ต่ำกว่า 1,500 จุด คือโซนซื้อ และรอบนี้ดัชนีจะไม่ทำจุดต่ำใหม่ไปกว่า 1,460 จุดอีกแล้ว เน้นสะสมหุ้นค้าปลีกและส่งออกที่อิงกับเศรษฐกิจโลก” 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ทำให้เงินเฟ้ออาจพุ่งสูงอีกครั้ง 

 

จากถ้อยแถลงของแบงก์ชาติไม่ได้สะท้อนให้เห็นความกังวลต่อราคาน้ำมันมากนัก และสมมติฐานที่ประเมินไว้ในปีนี้อยู่ที่ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนปีหน้าเฉลี่ย 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

“ถ้าราคาน้ำมันยังไม่พุ่งไปเกิน 100 ดอลลาร์ เชื่อว่ายังเป็นระดับที่แบงก์ชาติพอรับไหว แต่ถ้าทะลุขึ้นไปเกินกว่านั้นอาจเริ่มหลุดจากสมมติฐานของแบงก์ชาติ”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X