×

ส่องมาตรการลดดอกเบี้ย อุ้มประชาชนบรรเทาทุกข์วิกฤตโควิด

16.07.2021
  • LOADING...
มาตรการลดดอกเบี้ย

ในช่วงจังหวะที่ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงภาวะวิกฤตโควิด ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมากมาย โดยเฉพาะการหารายได้ บางคนอาจจะสูญเสียหน้าที่การงาน ถูกลดเงินเดือน หรือสูญเสียธุรกิจไปอย่างไม่คาดคิด และก็ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าวิกฤตครั้งนี้จะยืดเยื้อไปอีกเท่าไร ซึ่งส่งผลให้หลายคนไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหนี้ประเภทต่างๆ ได้ ทางภาครัฐเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวและได้ออกมาตรการแก้ไขหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดและการตัดชำระหนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระให้กับประชาชนที่กำลังตกอยู่ในภาวะลำบากและไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ โดยมีมาตรการออกมา 2 ส่วน ได้แก่ มาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทยและการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้

 

มาตรการลดดอกเบี้ย

 

ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ประกาศฉบับนี้จะช่วยอะไรได้บ้าง?

 

  • ประกาศฉบับนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติเรื่องการชำระหนี้ โดยเฉพาะช่วยลดโอกาสการเกิดหนี้เสียของระบบการเงินโดยรวม ให้ประชาชนมีความสามารถพอที่จะจ่ายหนี้ได้
  • สร้างแรงจูงใจในระบบการเงินให้สมดุลมากขึ้นและจะช่วยลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี
  • การปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้คำนวณจากฐานของงวดที่ผิดนัดจริง จะช่วยทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งก็จะมีผลทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของไทยในภาพรวมด้วย
  • ประชาชนและธุรกิจ SMEs จะได้รับสิทธิตามที่ประกาศฉบับนี้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องติดต่อสาขาของผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อแก้ไขสัญญา

 

ประกาศนี้ใช้สำหรับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด อาทิ หนี้กู้บ้าน (ยกเว้นเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สินเชื่อหมุนเวียนต่างๆ และผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต)

 

หลักเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมีอะไรบ้าง?

 

1. เปลี่ยนฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของ ‘เงินต้นที่ผิดนัดจริง’ เท่านั้น ไม่ให้รวมส่วนของเงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

 

เกณฑ์เดิม: ผิดนัดชำระหนี้งวดเดียว คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดจาก ‘ฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด’

เกณฑ์ใหม่: คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดจาก ‘ฐานเงินต้นของงวดที่ผิดนัดชำระจริง’ เท่านั้น ไม่รวมงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

ยกตัวอย่าง กรณีกู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อน 20 ปี งวดละ 42,000 บาท แล้วผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดที่ 25

กรณีเกณฑ์เดิม: ต้องคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานคงค้างทั้งหมด โดยคิดยอดหนี้คงเหลือตั้งแต่งวดที่ 25-240 รวมทั้งสิ้น 4.77 ล้านบาท

กรณีเกณฑ์ใหม่: จากงวดละ 42,000 บาท คิดเป็น เงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ยในงวดที่ 25 เท่ากับ 35,000 บาท จะคำนวนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นที่ผิดนัดชำระจริง ในกรณีนี้เท่ากับ 10,000 บาท จะเห็นได้ว่ากรณีใช้เกณฑ์ใหม่จำนวนดอกเบี้ยจะลดลงอย่างมาก 

 

2. กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เหมาะสม

 

เกณฑ์เดิม: ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดได้เอง (ภายใต้ความยินยอมที่จะเข้าทำสัญญาของลูกหนี้) ส่วนใหญ่มักกำหนดกันที่ 15-22% เช่น ดอกเบี้ยปกติตามสัญญา 8% และกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด 15%

เกณฑ์ใหม่: ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราดอกเบี้ยปกติที่กำหนดในสัญญา บวกได้ไม่เกิน 1-3% (3% คืออัตราสูงสุดที่บวกเพิ่มได้และขึ้นอยู่กับประวัติการชำระหนี้ในอดีต) หรือรวมแล้วต้องไม่เกิน 11% เช่น อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากำหนดไว้ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดได้ 9-11%

 

3. เปลี่ยนลำดับการตัดชำระหนี้


เกณฑ์เดิม: ตัดชำระแบบแนวตั้ง (แนวทางเดิม เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมดก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น)

เกณฑ์ใหม่: ตัดชำระแบบแนวนอน (ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของยอดค้างชำระที่เก่าที่สุดก่อนแล้วค่อยตัดยอดที่ค้างชำระลำดับถัดมา) คือ ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน เพื่อให้การจ่ายชำระหนี้เข้าถึงยอดเงินต้น พอเงินต้นน้อย ดอกเบี้ยก็จะต่ำตามลงไปด้วย โดยประกาศนี้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ยกเว้นเรื่องลำดับการตัดชำระหนี้เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2564

 

มาตรการลดดอกเบี้ย

 

การแก้กฎหมายอัตราดอกเบี้ยของหนี้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้ 

 

กรณีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยในกรณีที่มีการตกลงให้เสียดอกเบี้ยหรือกฎหมายกำหนดให้มีดอกเบี้ยแต่คู่สัญญาไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ (มาตรา 7)

 

กรณีแรก ตัวอย่างเช่น เราตกลงทำสัญญากู้ยืมและมีการตกลงให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยแต่ว่าในสัญญากู้ยืมเงินไม่มีการระบุอัตราดอกเบี้ยกันไว้ มาตรา 7 (เดิม) ระบุให้ใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีมาปรับ ดังนั้นในกรณีที่สัญญากู้ยืมเงินไม่มีการเขียนว่าจะคิดดอกเบี้ยกันเท่าไร ก็ต้องกลับไปใช้มาตรา 7 ซึ่งเป็นบททั่วไปในบรรพหนึ่ง

 

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ มีกฎหมายกำหนดให้เสียดอกเบี้ยกันเอาไว้หรือสามารถคิดดอกเบี้ยกันได้ ตัวอย่างเช่น สัญญากำหนดว่ากรณีที่มีการเลิกสัญญา ถ้าคู่กรณีได้รับเงินไว้ตามสัญญาก่อนจะมีการเลิกสัญญาก็ต้องมีการคืนเงินให้แก่กันพร้อมดอกเบี้ย แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่าต้องคิดกันเท่าไร กฎหมายจะให้ใช้บทบัญญัติทั่วไป คือ มาตรา 7 (เดิม) คือร้อยละ 7.5 ต่อปี

 

  • มาตรา 7 (เดิม) อัตราดอกเบี้ยกำหนดร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ตามกฎหมายใหม่กำหนดลดลงจากอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปี
  • การแก้ไขไม่กระทบกับสัญญาที่ทำกันอยู่เดิมก่อนกฎหมายใช้บังคับหรืออัตราดอกเบี้ยที่มีการคิดกันไว้แล้ว เช่น สัญญากู้ยืมเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ในสัญญาไว้ชัดเจนว่าเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา คู่สัญญาสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยกันได้ตามหลักเสรีภาพการทำสัญญาตามปกติ
  • ถ้าสัญญามีการตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ชัดเจน ข้อตกลงนั้นก็จะไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากมาตรา 7 ใหม่อันนี้

 

กรณีที่ 2 อัตราดอกเบี้ยผิดนัด (มาตรา 224)

 

  • การมีหนี้ต่อกันที่เรียกว่า ‘หนี้เงิน’ หากมีกรณีไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาหรือกฎหมาย ถือว่ามีการ ‘ผิดนัด’ ต้องมีการเสียดอกเบี้ยที่เรียกว่า ‘ดอกเบี้ยผิดนัด’
  • จากเดิม หลักของดอกเบี้ยผิดนัดมีต้นกำเนิดจากหลักการที่ว่า ‘ถ้าเกิดมีการผิดสัญญา ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ถ้าเกิดเป็นความเสียหายอื่นๆ เจ้าหนี้ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกหนี้ทำผิดสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายกับตนเองอย่างไรและเสียหายเท่าไร แต่กรณีของหนี้เงิน กฎหมายสันนิษฐานไว้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่เอาเงินจำนวนดังกล่าวนี้ไป เจ้าหนี้สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์และทำให้เกิดสิทธิได้รับดอกเบี้ย ดังนั้นกฎหมายจึงสันนิษฐานว่าจำนวนดอกเบี้ยดังกล่าวที่เจ้าหนี้ควรจะได้เป็นความเสียหายที่เจ้าหนี้ได้รับ’
  • มาตรา 224 ตามกฎหมายเก่า กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้คือร้อยละ 7.5 ต่อปี
  • ตามกฎหมายใหม่ กำหนดให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 (กฎหมายใหม่) คือร้อยละ 3 ต่อปี บวกเพิ่มอีกร้อยละ 2 ต่อปี เท่ากับเหลืออัตราดอกเบี้ยผิดนัดเป็น ร้อยละ 5 ต่อปี
  • แต่ยังมีส่วนที่ยังเป็นของเดิมอยู่คือ ‘เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น’ หมายความว่าคู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นอย่างอื่นคือมากกว่าร้อยละ 5 ต่อปีได้

 

กรณีที่ 3 กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง

 

  • กฎหมายใหม่กำหนดเพิ่มเติมให้เจ้าหนี้สามารถคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น (เพิ่มเติมเป็นมาตรา 224/1) จากเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ ให้ใช้กับการคิดดอกเบี้ย/การคิดดอกเบี้ยผิดนัด/การคิดดอกเบี้ยผิดนัดในงวดที่ถึงกำหนดเวลาชำระ ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ (11 เมษายน 2564) แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X