×

การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของ Intel: เมื่อผู้นำชิปโลกพลาดโอกาสในยุค AI ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดและศรัทธาที่ดิ่งลงของนักลงทุน

11.08.2024
  • LOADING...

Intel กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ที่น่าผิดหวัง ยอดขายที่ลดลงในตลาดสำคัญ และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนเพื่อพลิกโฉมการผลิต ทำให้ Intel ต้องดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปลดพนักงาน 15% ของทั้งหมด ลดค่าใช้จ่ายด้านทุนสำหรับการสร้างและติดตั้งโรงงานผลิต และระงับการจ่ายเงินปันผลที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1992

 

การปรับโครงสร้างครั้งล่าสุดนี้นำไปสู่การเทขายหุ้น Intel อย่างหนัก ราคาหุ้นลดลงกว่า 25% ในวันถัดจากการรายงานผลประกอบการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และลดลงอีก 8% นับตั้งแต่นั้น ทำให้มูลค่าหุ้น Intel ลดลงถึง 68% นับตั้งแต่ Pat Gelsinger ซีอีโอ ประกาศแผนฟื้นฟูบริษัทในช่วงต้นปี 2021 ขณะที่ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 39% ในช่วงเวลาเดียวกัน

 

วิกฤตครั้งนี้ของ Intel เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยปัญหาหลักคือยอดขายที่ลดลงในตลาดสำคัญๆ โดยเฉพาะธุรกิจ Data Center ที่เคยเฟื่องฟูได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งอย่าง AMD ในส่วนของ CPU สำหรับเซิร์ฟเวอร์ และ NVIDIA ในส่วนของ GPU ซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว 

 

ยอดขายในส่วน Data Center ของ Intel คาดว่าจะอยู่ที่ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจากจุดสูงสุดเมื่อ 4 ปีก่อน

 

ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของตลาดไปสู่การลงทุนใน AI และ NVIDIA โดยเฉพาะ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ Intel คาดการณ์ไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ตอนที่วางแผนทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันกับ TSMC คู่แข่งจากไต้หวัน แต่ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ส่งผลให้โรงงานผลิตของ Intel ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และเกิดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

 

Chris Caso จาก Wolfe Research กล่าวว่า “ปัญหาในมุมมองของเราคือ Data Center ที่เน้นใช้เซิร์ฟเวอร์ซึ่ง Intel สร้างโรงงานผลิตเพื่อรองรับนั้นไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว แต่ถูกแทนที่ด้วยการใช้จ่ายด้าน AI ที่ Intel พลาดไป”

 

จุดนี้เองทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มหมดความเชื่อมั่นใน Intel สะท้อนจากราคาหุ้นของบริษัทได้ร่วงลงต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนให้คุณค่ากับ Intel น้อยกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง

 

นักวิเคราะห์มีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับทิศทางที่ Intel ควรดำเนินต่อไป บางคนคิดว่าบริษัทควรเน้นที่การฟื้นฟูความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์ แม้ว่าจะต้องแลกกับการเสียสละธุรกิจ Foundry ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ซึ่งดูแลในเรื่องการผลิตชิปของบริษัท 

 

ในขณะที่บางคนคิดว่าบริษัทควรเน้นที่การหาลูกค้ารายใหญ่เพิ่มเติมสำหรับธุรกิจ Foundry เนื่องจากโอกาสในการแข่งขันในตลาดสำคัญๆ เช่น GPU สำหรับ Data Center ดูริบหรี่

 

ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางใด การฟื้นตัวของ Intel คงต้องใช้เวลา และการตัดเงินปันผลก็ทำให้นักลงทุนยิ่งรู้สึกไม่มั่นคง อย่างไรก็ตาม บทบาทสำคัญของ Intel ในอุตสาหกรรมที่ถือว่ามีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงบริษัทไว้ได้ 

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน Intel ผ่าน CHIPS Act ด้วยเงินทุนกว่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยในการสร้างโรงงานผลิตใหม่ในรัฐแอริโซนาและโอไฮโอ ซึ่งอาจเป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้ปัญหาของ Intel ลุกลามจนถึงขั้นวิกฤต และอาจเป็นความหวังเดียวที่เหลืออยู่ของ Intel ในตอนนี้

 

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ Intel ยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ โดยโรงงานผลิตปัจจุบันของบริษัทคิดเป็นประมาณ 41% ของกำลังการรผลิตชิปที่ใช้กันมากที่สุดในตลาดหลักๆ

 

Caso ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อพิจารณาถึงความอ่อนไหวต่อการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ เราไม่เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะปล่อยให้ปัญหาของ Intel ลุกลามจนถึงขั้นวิกฤตได้”

 

อนาคตของ Intel ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ บริษัทต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกครั้ง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising