Intel ยักษ์ใหญ่แห่งวงการชิป ประกาศแผน ‘ผ่าตัดใหญ่’ องค์กรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยจะปรับลดพนักงานลงกว่า 14,000 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด พร้อมยกเลิกแผนการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในยุโรป
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นยาแรงจาก ลิป-บู ตัน ซีอีโอคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม เพื่อกอบกู้วิกฤตและนำพาอดีตเจ้าตลาดรายนี้กลับสู่เส้นทางการแข่งขันอีกครั้ง
ลิป-บู ตัน ได้ส่งสารที่ชัดเจนถึงพนักงานทุกคน โดยระบุว่า “ยุคของการอนุมัติงบประมาณแบบไม่จำกัดได้จบลงแล้ว ทุกการลงทุนนับจากนี้ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคุ้มค่าและมีเหตุผลทางธุรกิจรองรับ” ซึ่งเป็นการประกาศเปลี่ยนแนวทางการบริหารงานอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เน้นการลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่ล่วงหน้าเพื่อรอความต้องการจากตลาดในอนาคต
มาตรการ ‘รัดเข็มขัด’ ครั้งนี้จะรวมถึงการปรับลดพนักงานจากตัวเลข ณ สิ้นเดือนมิถุนายนที่ 96,400 คน โดยตั้งเป้าให้สิ้นปี 2025 บริษัทจะมีพนักงานในส่วนธุรกิจหลักเหลือเพียง 75,000 คน ซึ่งการปรับลดนี้จะเน้นไปที่ตำแหน่งผู้จัดการระดับกลางเป็นหลัก
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ระงับแผนการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเยอรมนีและโปแลนด์เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งถือเป็นการพับโครงการลงทุนในยุโรปมูลค่ามหาศาล เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และจะชะลอการก่อสร้างโรงงานมูลค่า 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.08 แสนล้านบาท) ในรัฐโอไฮโอออกไป
การปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Intel ต้องเผชิญมรสุมมานานหลายปี จากการที่พลาดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญทั้งยุคของอุปกรณ์พกพาและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ต้องสูญเสียความเป็นผู้นำให้กับคู่แข่งอย่าง Nvidia และ AMD
ขณะที่ผลประกอบการก็ขาดทุนติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 แล้ว โดยไตรมาสล่าสุดขาดทุนถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท) แม้รายรับจะทรงตัวอยู่ที่ 1.29 หมื่นล้านดอลลาร์ก็ตาม
ตลาดหุ้นตอบสนองต่อข่าวนี้ด้วยปฏิกิริยาที่ผสมผสาน ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นในช่วงแรกหลังการประกาศแผนปฏิรูปที่ชัดเจน ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในตัวซีอีโอคนใหม่ แต่กลับร่วงลงในเวลาต่อมาหลังจากที่บริษัทคาดการณ์ว่าผลประกอบการในไตรมาสหน้าจะยังคงขาดทุนหนักกว่าที่คาดการณ์ไว้
กลยุทธ์ใหม่ของ ลิป-บู ตัน ถือเป็นการพลิกแนวทางของ แพท เกลซิงเกอร์ ซีอีโอคนก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง โดยเกลซิงเกอร์ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลไปกับการขยายโรงงานผลิตชิปโดยหวังพึ่งพากฎหมาย CHIPS Act ของรัฐบาลสหรัฐฯ แต่แผนดังกล่าวกลับไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดไว้ ทำให้โครงการในรัฐโอไฮโอที่เคยวางแผนจะแล้วเสร็จในปี 2025 อาจต้องเลื่อนออกไปจนถึงหลังปี 2030
สำหรับทิศทางในอนาคต Intel จะมุ่งเน้นไปที่การทวงคืนส่วนแบ่งตลาดโปรเซสเซอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่เรียกว่า 18A ซึ่งจะใช้ในชิปรุ่นใหม่ Panther Lake
ขณะที่ ‘เดิมพัน’ ครั้งสำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีกระบวนการผลิตยุคถัดไปที่เรียกว่า 14A ซึ่งบริษัทหวังว่าจะสามารถดึงดูดลูกค้ารายใหญ่ให้มาใช้บริการรับจ้างผลิตชิปได้ แต่ก็พร้อมจะยกเลิกหากไม่ประสบความสำเร็จ
หมายเหตุ: ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 32.43 บาท ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2568
ภาพ: charnsitr / Shutterstock
อ้างอิง: