จากข้อมูลการซื้อ-ขายหุ้นไทยแยกตามกลุ่มผู้ลงทุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีนี้ นักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นฝ่ายซื้อสุทธิและต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 3 ที่ยังคงมียอดซื้อสุทธิราว 5.26 พันล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนภายในประเทศที่ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมาต่อเนื่องเช่นกัน
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวดังกล่าวของนักลงทุนสถาบันเป็นการกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากที่ขายมาต่อเนื่อง 5 ไตรมาสติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการซื้อ-ขายดังกล่าวสวนทางกับนักลงทุนต่างประเทศที่เป็นฝ่ายขายสุทธิมาต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Bank Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยภายในงาน Wealth Club ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า โอกาสในประเทศไทยค่อนข้างจะจำกัด ในฐานะที่ทำเรื่องการจัดพอร์ตการลงทุนโดยผสมผสานสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก
“ใน 5 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยมีสัดส่วนในหุ้นไทยเลย เพิ่งจะกลับมามีสัดส่วนในหุ้นไทยเมื่อเดือนที่แล้ว ไม่ได้ด้วยสาเหตุที่ว่ามีปัจจัยพื้นฐานน่าสนใจ แต่ด้วยสาเหตุที่ว่าราคาลดลงมาต่ำสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา”
จิรวัฒน์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยติดหล่มในเรื่องของเศรษฐกิจเก่า (Old Economy) ซึ่งพึ่งพาการผลิต อุตสาหกรรม และการบริโภค ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคบริการ เทคโนโลยีสารสนเทศ และนวัตกรรม ตราบใดที่ตลาดหุ้นไทยหรือเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองให้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับเรื่องของ New Economy ได้ ความน่าสนใจก็คงจะไม่เกิดขึ้น
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การซื้อสุทธิของนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปในประเทศในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความคาดหวังในเรื่องของการเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นการเข้าซื้อในระหว่างที่ดัชนีปรับฐานลงมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแรงซื้อสะสมของนักลงทุนสองกลุ่มนี้เข้ามา แต่ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ล่วงหน้าว่าหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นหลังจากนี้ แน่นอนว่าในระยะสั้นหุ้นไทยอาจได้แรงหนุนจากปัจจัยการเมืองคือการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นไทยแล้วยังค่อนข้างอ่อนแอ
“หากตัดประเด็นการเมืองออกไปและโฟกัสที่ปัจจัยพื้นฐาน แม้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ก็ไม่ได้หมายความว่ากำไรตลาดจะปรับขึ้นทันที 5-10% หรือไม่ใช่ว่าความอ่อนแอของกำไรตลาดจะจบลงทันที การพลิกฟื้นพื้นฐานของหุ้นไทยต้องพิจารณาอีกหลายปัจจัย”
ปัจจุบันเรายังคงเห็นนักวิเคราะห์ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนต่อหุ้น (Earnings Per Share) ลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงแนวโน้มผลประกอบการของหลายบริษัทที่อ่อนแอ และสะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอเช่นกัน รวมทั้งปริมาณเงินในระบบที่ลดลง หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น และการขาดช่วงของรัฐบาลทำให้การใช้จ่ายไม่ต่อเนื่อง
ปัจจุบันเราคงระดับเป้าหมายดัชนี SET สิ้นปี 2566 ที่ 1,450-1,460 จุด แม้ว่าประมาณการกำไรตลาดจะลดลงไปมากกว่านั้น ปัจจุบัน Bloomberg Consensus คาดว่ากำไรตลาดในปีนี้จะอยู่ที่ 90 บาทต่อหุ้น ลดลง 9% จากต้นปีที่ 99 บาทต่อหุ้น เช่นเดียวกับปีหน้าที่กำไรลดลงมาเหลือ 102.5 บาทต่อหุ้น ลดลง 5% จากต้นปีที่ 108 บาทต่อหุ้น
Best Case 1,560 จุด แต่ล่าสุด EPS ก็ถูกปรับลง Base Case 1,450-1,460 เสถียรในแง่ P/BV ด้วย EPS ตอนนี้ Bloomberg Consensus ปีนี้เริ่มต้นปีอยู่ที่ 99 บาทต่อหุ้น ตอนนี้ถูกปรับลงมาที่ 90 บาทต่อหุ้น ลดลงมา 9% ส่วนปีหน้าที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 108 บาทต่อหุ้น ตอนนี้เหลือ 102.5 บาทต่อหุ้น ลดลงไป 5%
ด้าน ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ด้วยอัตราส่วน Forward P/E ของตลาดที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ส่งผลให้ผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 6 เดือนต่อเนื่อง ประกอบกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มลดลง จากทั้งการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่เป็นครั้งท้ายๆ และความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ลดลง ทำให้เงินลงทุนต่างชาติมีโอกาสจะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอีกครั้งหากปัจจัยในประเทศเริ่มชัดเจนมากขึ้น
ส่วนภาวะตลาดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 25.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ SETSMART ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน พบว่า นักลงทุนทั่วไปในประเทศเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าการซื้อ-ขายลดลงมาที่สุด จากราว 4.7 ล้านล้านบาท ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท ขณะที่มูลค่าการซื้อ-ขายโดยรวมของนักลงทุนทุกกลุ่มลดลงจากราว 11.7 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 8.1 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในเดือนกรกฎาคม 2566 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) รายงานว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มขยายตัวลดลงมาที่ 4.6% ในปีนี้ และ 4.9% ในปีหน้า ทั้งนี้ ADB ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็น 3.5% จากที่เคยประมาณการณ์ไว้ที่ 3.3% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ด้าน ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นการลงทุนต่างประเทศที่เปิดกว้างมากขึ้นว่า “การลงทุนต่างประเทศเป็นเรื่องที่ดี และหากดูจากคำแนะนำการลงทุนแล้ว เราก็ควรจะกระจายการลงทุนทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีผลิตภัณฑ์ที่อิงกับสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น เช่น DR, DRx และ DW ทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนต่างประเทศได้สะดวกและปลอดภัย หลังจากนี้เราต้องมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนร่วมกันกับกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเป็นการลงทุนทางเลือกให้กับนักลงทุนทั่วโลก”