วันนี้ (17 กันยายน) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณอาคารรับน้ำบึงหนองบอน เขตประเวศ จากนั้นเดินทางไปบริเวณสถานีสูบน้ำบางอ้อ เขตบางนา โดยมี ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม., ณรงค์ เรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่
ทาง กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ ดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ความยาว 9.4 กิโลเมตร ความลึก 30 เมตร โดยแนวอุโมงค์เริ่มจากอาคารรับน้ำบริเวณบึงหนองบอน ลอดใต้แนวคลองหนองบอน แนวคลองตาช้าง ถนนศรีนครินทร์ ถนนอุดมสุข ซอยอุดมสุข 29 ซอยสุขุมวิท 101/1 ลอดใต้แนวคลองบางอ้อ ผ่านสถานีสูบน้ำบางอ้อ และออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองบางอ้อ ในแนวเส้นทางระหว่างทางที่อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอนลอดผ่าน จะมีการก่อสร้างปล่องรับน้ำและอาคารรับน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำในคลองต่างๆ ที่อุโมงค์ลอดผ่าน จะช่วยให้ระบายลงสู่ระบบอุโมงค์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับอาคารรับน้ำ 7 แห่ง ประกอบด้วย อาคารรับน้ำบึงหนองบอน, อาคารรับน้ำคลองหนองบอน, อาคารรับน้ำคลองเคล็ด, อาคารรับน้ำคลองหลอด กิโลเมตร (กม.) ที่ 3 (ปล่องรับน้ำ ซอยอุดมสุข 56), อาคารรับน้ำคลองหลอด กม. ที่ 2 (ปล่องรับน้ำอุดมสุข 42), อาคารรับน้ำซอยสุขุมวิท 101/1, อาคารรับน้ำถนนสุขุมวิท 66/1 โดยมี สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ ขนาดกำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) และอาคารทิ้งน้ำ 1 แห่ง
สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะเวลาก่อสร้าง 2,226 วัน เริ่มต้นสัญญาวันที่ 13 มกราคม 2559 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ผลงานที่ทำได้ประกอบด้วยอาคารรับน้ำ 7 แห่ง ผลงาน 72%, สถานีสูบน้ำอุโมงค์บางอ้อ ผลงาน 87%, อาคารทิ้งน้ำ ผลงาน 87%, ท่อส่งน้ำ ผลงาน 65%, การก่อสร้างอุโมงค์ 9,106 เมตร ทำได้ 8,626 เมตร ผลงาน 94.8% ส่วนผลงานความก้าวหน้าทั้งโครงการทำได้ 86.70%
เมื่อโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนอ่อนนุช ถนนอุดมสุข ถนนสุขุมวิท เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 85 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ในพื้นที่เขตประเวศ, สวนหลวง, พระโขนง, บางนา และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทิศเหนือ จรดคลองพระโขนงและคลองประเวศบุรีรมย์, ทิศใต้ จรดสุดเขตกรุงเทพมหานคร, ทิศตะวันออก จรดคลองตาพุก คลองสิงโต, ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงการแก้มลิงบึงหนองบอน ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตั้งอยู่ในเขตประเวศ มีพื้นที่ทั้งหมด 644 ไร่ 1 งาน 37.5 ตารางวา เริ่มขุดบึงเมื่อปี 2536 ใช้พื้นที่ประมาณ 500 ไร่ โดยขุดลึกประมาณ 10 เมตร แล้วเสร็จเมื่อปี 2542 สามารถเก็บกักน้ำได้ 7 ลบ.ม. (ความจุของอ่างเก็บน้ำส่วนที่ต่ำกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่กำหนด หรือ Dead Storage 2 ล้าน ลบ.ม. พร่องน้ำเป็นแก้มลิงได้ 5 ลบ.ม.) ทั้งนี้ คาดว่าอุโมงค์ระบายน้ำดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเปิดใช้งานได้ประมาณเดือนมีนาคม ปี 2565
สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ที่ห่างไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบเสมือนทางด่วนเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำโดยไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ รวมทั้งยังช่วยลดระดับน้ำในคลองให้มีระดับต่ำได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ระบายน้ำที่สร้างเสร็จและเปิดใช้งานแล้วจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์สาย 2 กำลังสูบรวม 30 ลบ.ม./วินาที, อุโมงค์ระบายน้ำมักกะสัน กำลังสูบรวม 45 ลบ.ม./วินาที, อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว กำลังสูบรวม 60 ลบ.ม./วินาที และอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ กำลังสูบรวม 60 ลบ.ม./วินาที
สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างจำนวน 1 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา กำลังสูบรวม 60 ลบ.ม./วินาที
ส่วนอุโมงค์ระบายน้ำที่ได้รับงบประมาณปี 2563 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา, อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา และอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบลาดพร้าวถึงซอยลาดพร้าว 130
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างของบประมาณจำนวน 1 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี