×

อัศวิน ลงพื้นที่ตรวจอุโมงค์ยักษ์พระราม 9 รับมือปัญหาน้ำท่วมขังจากฤทธิ์ฝนตกหนักตลอดฤดู

โดย THE STANDARD TEAM
08.10.2020
  • LOADING...
อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อุโมงค์ยักษ์พระราม 9 รับมือปัญหา น้ำท่วมขัง ฝนตกหนัก

วันนี้ (8 ตุลาคม) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจประสิทธิภาพการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (อุโมงค์ยักษ์พระราม 9) ณ อาคารรับน้ำพระราม 9 บริเวณบึงพระราม 9 เขตห้วยขวาง โดยมีคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

 

โดยทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมแผนป้องกันน้ำประจำปี 2563 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 หลังจากหมดฤดูฝน เพื่อเร่งแก้ไขในจุดที่มีปัญหาให้ทันฤดูฝนในปี 2563 พร้อมทั้งตรวจสอบระบบระบายน้ำให้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง ประกอบด้วยท่อระบายน้ำ คูคลอง อุโมงค์ระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และประตูระบายน้ำ รวมถึงแก้มลิง ควบคู่ไปกับการเดินหน้าโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในระยะยาว 

 

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำกรุงเทพมหานคร เป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายน้ำเพื่อเป็นเส้นทางลัดลำเลียงน้ำในคลองออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็วขึ้น โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40-5 เมตร ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 แห่ง ได้แก่  

 

  1. โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร ซึ่งเป็นอุโมงค์ระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.40 เมตร ยาว 1.88 กิโลเมตร ช่วยระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตารางกิโลเมตร และยังมีแผนที่จะก่อสร้างเพิ่มเติมช่วงคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้วย  

 

  1. อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.60 เมตร ยาว 5.98 กิโลเมตร ช่วยระบายน้ำในพื้นที่เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร

 

  1. อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา (อุโมงค์ยักษ์พระราม 9) เส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 5.11 กิโลเมตร ช่วยระบายน้ำในพื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร และกำลังขอจัดสรรงบประมาณเพื่อขยายโครงการต่อเนื่อง

 

  1. อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษก ลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเกียกกาย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 เมตร ยาว 6.4 กิโลเมตร ช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และดุสิต ครอบคลุมพื้นที่ 56 ตารางกิโลเมตร 

 

นอกจากนี้ยังมีอุโมงค์ระบายน้ำที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่ง ได้แก่ โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน ช่วยเร่งระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้โครงการคืบหน้าแล้วกว่า 66.5% โดยทางกรุงเทพมหานครยังมีแผนก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำอีก 3 แห่ง ประกอบด้วย 

 

  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ จากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2566 
  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2567 
  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2568 

 

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการครบทุกแห่ง จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ไม่ต้องผ่านระบบคลองธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถเร่งระบายน้ำได้เร็วขึ้น และยังช่วยลดระดับน้ำในคลองระบายน้ำสายสำคัญให้มีระดับต่ำได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองอีกด้วย

 

ทางด้าน พล.ต.อ. อัศวินเปิดเผยว่า หลังจากมีรายงานว่าจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคมนี้ ซึ่งขณะนี้พายุกำลังเข้าสู่กรุงเทพมหานครแล้ว ทางกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมโดยจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับอาคารรับน้ำพระราม 9 มีประสิทธิภาพรองรับน้ำครอบคลุมพื้นที่ 6 สำนักงานเขต มีตะแกรงดักขยะเพื่อป้องกันการกีดขวางทางระบายน้ำก่อนที่น้ำจะไหลไปรวมกันที่อุโมงค์รับน้ำพระโขนง ซึ่งที่อุโมงค์รับน้ำพระโขนงมีตะแกรงดักขยะก่อนน้ำไหลไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเช่นเดียวกัน 

 

“ในส่วนของท่อระบายน้ำนั้น เดิมท่อระบายน้ำของกรุงเทพมหานครมีขนาดเพียง 60 เซนติเมตร ปัจจุบันได้มีการปรับแก้ให้ท่อระบายน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้นในบางพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถทำได้ครบทั่วทั้งกรุงเทพฯ เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องดำเนินการแก้ไขร่วมกันด้วย แต่อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กรุงเทพมหานครจะพยายามดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อรับมือกับปริมาณฝนที่ตกลงมา โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง” พล.ต.อ. อัศวินกล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X