เพราะที่นี่คือนครแห่งดารา เพราะที่นี่คือเมืองแห่งการสานความฝัน นครลอสแอนเจลิสจึงดึงดูดผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลกให้มาท่องเที่ยว เรียน ทำงาน หรือหาหนทางเข้าสู่วงการบันเทิง
เมื่อหักลบสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมความบันเทิง และแสงสีในเมืองแห่งนี้แล้ว อันที่จริงนครลอสแอนเจลิสไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่เท่าไรนัก ด้วยอัตราอาชญากรรมที่สูงเป็นอันดับที่ 19 ของประเทศเมื่อปี 2016 และสภาพบ้านเมืองที่สลับกันระหว่างย่านเสื่อมโทรมและย่านพัฒนา
แต่เมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว ตัวเลขอาชญากรรมในปัจจุบันก็ถือว่าลดลงมาก ย่านเสื่อมโทรมหลายแห่งได้รับการปรับปรุง อาคารบ้านเรือนแบบเก่าได้รับการซ่อมแซมและตกแต่งใหม่ อพาร์ตเมนต์ใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจนผู้เขียนต้องบอกกับคนอื่นๆ ที่เคยให้คำเตือนเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองในลอสแอนเจลิสก่อนเดินทางมาที่นี่ว่า “ก็ไม่เห็นจะแย่ขนาดนั้นเลยนี่คะ”
แต่การพัฒนาเมืองที่ว่าก็มีต้นทุนทางสังคมมหาศาล และที่สำคัญ ต้นทุนเหล่านั้นไม่ได้ถูกกระจายให้คนแต่ละกลุ่มอย่างทั่วถึง
ไม่มีเงินก็ย้ายออกไป: ต้นทุนของการปรับปรุงพื้นที่ (Gentrification)
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการที่อยู่อาศัยในนครลอสแอนเจลิสที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่จำนวนมากหลายย่านในนครลอสแอนเจลิส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าและมีราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่แพงมากอย่างโคเรียนทาวน์ เอโคปาร์ก และหลายย่านในดาวน์ทาวน์ ถูกผลักให้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงพื้นที่ขนาดใหญ่ (Gentrification) เพื่อให้เหมาะกับผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ที่มักจะมีรายได้มากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า และมีชาติพันธุ์แตกต่างจากผู้อยู่อาศัยกลุ่มเดิม
สิ่งที่ตามมาคือราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะเมื่อราคาของอาคารหนึ่งเพิ่มสูงขึ้น ราคาของอาคารอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกันก็พากันปรับตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียง
ผู้เขียนบังเอิญขึ้นอูเบอร์คันหนึ่ง ซึ่งคนขับบอกว่าเคยเช่าห้องอยู่ในอาคารเดียวกันกับผู้เขียนไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเขาจ่ายค่าเช่าเพียงเดือนละ 600 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ผู้เขียนจ่ายค่าเช่าเดือนละ 1,300 เหรียญสหรัฐ สำหรับห้องในอาคารเดียวกัน!
เช่นเดียวกับคนขับอูเบอร์อีกคนที่เกิดและโตในลอสแอนเจลิส ที่ทุกวันนี้ต้องย้ายออกไปอยู่บริเวณชานเมืองเพราะไม่มีกำลังจ่ายค่าเช่าที่พุ่งขึ้นสูง หากโชคร้าย ผู้ที่ไม่สามารถต่อสู้กับค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปี และไม่มีเงินเก็บพอที่จะลงหลักปักฐานในย่านชานเมืองอื่นๆ ของลอสแอนเจลิสก็ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน
ตัวเลขคนไร้บ้านของนครลอสแอนเจลิสในปี 2017 เพิ่มขึ้นถึง 20% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนคนไร้บ้านโดยรวมในลอสแอนเจลิสเพิ่มขึ้นถึง 23% จึงไม่แปลกที่จะสามารถพบเห็นคนไร้บ้านแทบทุกหัวถนน โดยผู้กลายเป็นคนไร้บ้านมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมาคือผู้ที่มีอายุ 24 ปีหรือต่ำกว่านั้น แต่อายุของคนไร้บ้านส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ 25-54 ปี นั่นเป็นเพราะในขณะที่ค่าเช่าเพิ่มถึงสองเท่า รายรับของคนที่นี่กลับไม่เพิ่มขึ้นแต่เพียงนิดเดียว
ส่วนบางคนที่เข้ามาตามหาความฝันในนครแห่งดารานี้ ไม่ว่าจะในวงการดนตรีหรือบันเทิง กลับพบว่าโอกาสที่จะก้าวสู่ความฝันมีเพียงน้อยนิด ทั้งรายรับก็มีไม่พอที่จะเช่าที่พัก ทำให้ผู้ที่เข้ามาตามหาความฝันหลายคนต้องเลือกใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้าน
อัตลักษณ์ชุมชนที่จางหาย
พร้อมกับการผลักไสผู้อยู่อาศัยกลุ่มเดิมออกไป สิ่งที่ตามมาคือการจางหายไปของเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ ในลอสแอนเจลิส
บทความหนึ่งใน LA Times กล่าวถึงการปรับปรุงพื้นที่ในเวนิส เมืองชายทะเลติดกับซานตาโมนิกา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของลอสแอนเจลิส เวนิสเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บริเวณใกล้ชายหาดนอกจากจะมีอาคารชั้นเดียวถึงสองชั้นตั้งเรียงรายอยู่ข้างทางเดินเลียบชายหาด ยังมีศิลปะหลายแขนงวางขายบริเวณทางเดินเลียบหาดด้วย เรียกได้ว่าเป็นเมือง ‘ฮิป’ ก็ว่าได้
แม้ว่าบางย่านในเวนิสจะได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี แต่การปรับปรุงพื้นที่ก็เริ่มคืบคลานเข้าไปในหลายย่านแล้ว อย่างเช่นในย่านโอ๊กวู้ด ซึ่งในอดีตที่มีการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง เป็นเพียงพื้นที่เดียวที่อนุญาตให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ทุกวันนี้บ้านเดี่ยวถูกแทนที่ด้วยอพาร์ตเมนต์หรูหราขนาดใหญ่ โดยไม่สนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของย่านดังกล่าว
นอกจากนี้การไหลเข้ามาของผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ยังอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ อันเป็นผลมาจากการความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น
วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘White Nostalgic Redevelopment: Race, Class, and Gentrification in Downtown Los Angeles’ ของนักศึกษาปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา พบว่า แม้ผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่บริเวณดาวน์ทาวน์ ลอสแอนเจลิส จะสนับสนุนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ก็ไม่เคยให้ความสนใจและข้องเกี่ยวกับปัญหาของชนชั้นล่างในเมือง
ยิ่งคนกลุ่มนี้เรียกร้องให้ระลึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่เฟื่องฟูของดาวน์ทาวน์ ลอสแอนเจลิสมากเท่าใด การปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวให้สวยงามและปลอดภัยยิ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากเท่านั้น ความต้องการในการเพิ่มความปลอดภัยในบริเวณที่พวกเขาย้ายเข้ามายังบังคับให้เมืองมีนโยบายตีกรอบบริเวณที่คนไร้บ้านสามารถอยู่ได้ เพื่อไม่ให้เข้ามาในบริเวณที่ได้รับการปรับปรุงแล้วด้วย
แน่นอนว่าเมื่อความต้องการต่อที่พักอาศัยมากขึ้น วิธีเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการคือการสร้างที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น ใครๆ ก็รู้ว่านี่คือหลักการทางเศรษฐศาสตร์ แต่แทนที่การสร้างอุปทานให้เหมาะสมกับอุปสงค์จะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ถูกลง สถานการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยผู้ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่หนักหนาที่สุดคือผู้อยู่อาศัยเดิมที่ไม่มีรายได้มากเท่ากับผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ที่ไหลบ่าเข้ามา
เราจะเลือกได้ไหมที่จะพัฒนาเมือง ทำเมืองให้สวย เพิ่มที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับความต้องการที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ผลักภาระให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือสองเรื่องนี้คือทางเลือกที่ไปด้วยกันไม่ได้ ลอสแอนเจลิสไม่ได้เป็นเพียงที่เดียวที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้ ประเทศอื่นๆ ก็เช่นกัน
ภาพประกอบ: Thiencharas.w