บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมิน 5 นโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโตได้ 1% นโยบายเรือธงแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท มีต้นทุนทางการคลังที่สูงและมีความยากในเชิงปฏิบัติ
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ฝ่ายวิจัยการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำของรัฐบาลใหม่ที่เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ มีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยสะท้อนจากที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มาควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย โดยมีนโยบาย 5 ประเด็นสำคัญที่จะเป็นเรือธงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนี้
- การแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
- การปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 354 บาท
- ปรับขึ้นเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรวมถึงการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ
- การพักหนี้และลดดอกเบี้ยให้กับกลุ่มเกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 ปี
- การปรับลดราคาพลังงงาน
สำหรับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 ประเด็นดังกล่าวประเมินว่า จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ขยายตัวจากกรณีฐานได้ประมาณ 1% โดยมีนโยบายเรือธงหลักคือการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท วงเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีต้นทุนทางการคลังคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของ GDP โดยจากการคำนวณด้วยโมเดลของฝ่ายวิจัยจะสนับสนุนให้ GDP ขยายตัวได้ประมาณ 0.7%
อีกทั้งการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นนโยบายที่มีต้นทุนการคลังที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นการใช้นโยบายนี้ต้องเป็นไปแบบมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในปี 2567 อินโนเวสท์ เอกซ์ มีมุมมองว่าเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือชะลอตัวแบบรุนแรง เพราะเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเห็นการชะลอตัว
อย่างไรก็ดี มีความยากในเชิงการปฏิบัติของการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใน 5 เรื่อง ดังนี้
- แหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินนโยบายจะใช้แหล่งเงินจากงบประมาณส่วนใด โดยในส่วนแรกจะมาจากรายรับจากภาษีของรัฐบาลในปี 2567 ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ส่วนที่ 2 จะมาจากการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 แสนล้านบาทจากนโยบายดังกล่าวนี้
ส่วนที่ 3 คือ การบริหารจัดการงบประมาณที่จะมาจากงบลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และส่วนที่ 4 จะมาจากการบริหารงบประมาณสวัสดิการที่ซ้ำซ้อนอีกประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติยังถูกตั้งคำถามว่าจะมีความเป็นไปได้มากหรือน้อยอย่างไร เพราะงบประมาณในปี 2567 จะสามารถเบิกจ่ายได้อย่างเร็วที่สุดคือในเดือนพฤษภาคม ปี 2567
- ประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มที่นำมาใช้ หากใช้บล็อกเชนจะสามารถรองรับการทำธุรกรรมพร้อมกันจำนวนมากๆ ได้หรือไม่
- การเปลี่ยนคูปองพร้อมใช้เป็นเงินสด หากทำได้เร็วก็จะช่วยให้การหมุนเงินได้เร็วยิ่งขึ้น
- การกำหนดรัศมีการใช้จ่าย
- กระบวนการใช้ของร้านค้าในทางปฏิบัติว่าจะใช้ง่ายมากหรือน้อยอย่างไร
ดังนั้นคาดการณ์ว่ามีโอกาสที่การดำเนินนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะกลับไปใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งน่าจะช่วยลดข้อจำกัดของระบบปัญหาการใช้งานได้
ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาทและเงินเดือนปริญญาตรี จะมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ เพราะแม้ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ แต่ก็มีผลกระทบให้ต้นทุนของภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคและปรับราคาสินค้าขึ้นด้วย โดยรวมมาตรการปรับขึ้นค่าแรงจะสนับสนุน GDP ให้ขยายตัวประมาณ 0.2-0.3%
อย่างไรก็ดี ประเมินว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรงจะไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้นหรือไปถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ได้ เนื่องจากหากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาชะลอตัว ก็จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นด้วย
ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2566 คาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 34-35 บาท โดยกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) จะไหลกลับเข้ามาลงทุนในไทยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยและการเมืองมีความนิ่ง
สำหรับไตรมาส 2/66 GDP ของไทย รายงานออกมาขยายตัว 1.8% ออกมาต่ำกว่าประมาณการของฝ่ายวิจัยที่ทำไว้ที่ 2.5% และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.1% โดยมี 3 ประเด็นสำคัญที่เข้ากดดัน ดังนี้
- การใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนที่หดตัว ซึ่งฉุดการขยายตัวเศรษฐกิจลงประมาณ 0.8%
- ภาคการส่งออกสินค้าของไทยไตรมาส 2/66 ที่ยังหดตัวลงต่อเนื่องที่ระดับ 5.7% และภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตชะลอลงเหลือ 54.6%
- ภาคการผลิตสินค้าคงคลังในไตรมาส 2/66 ที่หดตัว 1.7% จากผลกระทบของกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่เติบโตชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตมีการชะลอการผลิตสินค้า โดยกลุ่มหลักที่หดตัวคือ การผลิตข้าวเปลือก, คอมพิวเตอร์, ส่วนประกอบชิ้นไก่แช่แข็ง, ปิโตรเลียม และจักรยานยนต์