×

InnovestX หั่น GDP ไทยปีนี้ลงเหลือโต 2.7% เหตุหลายปัจจัยลบรุมเร้า หวั่นสุญญากาศทางการเมืองลากยาว ลามทำเอกชนชะลอลงทุน

28.06.2023
  • LOADING...
InnovestX

บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด สหรัฐฯ-ยุโรปครึ่งหลังปีนี้เสี่ยงเข้า Recession หลังมีสัญญาณบ่งชี้สำคัญเริ่มชะลอตัว จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง พร้อมปรับลด GDP ไทยปีนี้ลงเหลือโต 2.7% หลังหลายปัจจัยลบกดดัน ทั้งการเมืองที่กังวลการตั้งรัฐบาลลากยาวกระทบภาคการคลัง ทำเอกชนชะลอลงทุน

 

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของ GDP ของไทยในปีนี้ จากเดิมขยายตัว 3% ลงมาเป็น 2.7% ซึ่งมาจากปรับลดการบริโภคและลงทุนภาครัฐลงแรง เช่นเดียวกับการลงทุนและบริโภคภาคเอกชน จากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความเสี่ยงที่จะล่าช้าและกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการภาครัฐ

 

ส่วนภาคส่งออกหดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่จะแย่มากขึ้น และทำให้การนำเข้าลดลงเช่นกัน ด้านเงินเฟ้อปรับลดลงมากจากเศรษฐกิจในและต่างประเทศที่ชะลอลง

 

โดยเศรษฐกิจไทยกำลังจะเผชิญกับ 4 ความเสี่ยงหลัก คือ

 

  1. การส่งออกที่ชะลอตัว โดยการส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ ในระยะต่อไปสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น จะทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำและกดดันภาคการส่งออกไทยต่อเนื่อง

 

  1. สุญญากาศทางการเมืองลากยาวขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงภาวะนโยบายการคลังตึงตัวทางพฤตินัย โดยในปัจจุบันยังไม่เห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องติดตาม ทั้งจำนวนเสียงรับรองข้างมากในรัฐสภา รวมถึงคดีความที่ต้องผ่านการพิจารณา ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะได้รัฐบาลใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้นเป็นไปได้ยาก

 

โดยอาจเลื่อนไปจนถึงเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะกระทบด้านการคลัง ในกระบวนการทำงบประมาณก็จะยิ่งล่าช้า และกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ต้องมีการเซ็นสัญญาใหม่ให้ล่าช้าไปถึง 2-3 ไตรมาส และจะมีผลกระทบลามต่อเนื่องไปถึงการลงทุนภาคเอกชนให้ชะลอตัวตามไปด้วย

 

  1. นโยบายการเงินที่ตึงตัวแม้เงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปีนี้ลดลงต่อเนื่อง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงไม่ปิดประตูขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เรามองว่า ธปท. น่าจะยังคงดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะฉุดรั้งเศรษฐกิจมากขึ้น 

 

  1. ภาคเกษตรที่อาจเผชิญวิกฤตภัยแล้งจากภาวะเอลนีโญ โดยหากดัชนี SOI (Southern Oscillation Index) เข้าสู่แดนลบในไตรมาส 3/23 และลากยาวไปจนถึงไตรมาส 4 อาจทาให้เกิดภาวะเอลนีโญช่วงปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลงเช่นเดียวกับปี 2558-2560 ทั้งนี้ มองว่าพืชผลทางการเกษตรที่จะเสี่ยงต่อภาวะภัยแล้งสูงสุด ได้แก่ ธัญพืช โดยเฉพาะข้าวและข้าวโพด

 

ปัญหาขาดความเชื่อมั่นงบการเงิน บจ. เสี่ยงทำต้นทุนการเงินพุ่ง

 

ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทยยอมรับว่า ขณะนี้มีความกังวลจากหลายปัจจัยลบที่มากระทบ ทั้งจากปัญหาของหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) บางแห่งที่มีปัญหาด้านธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ และมีผลกระทบต่อเนื่องมายังหุ้นกู้ที่ออกขาย ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น 

 

รวมถึงขาดความเชื่อมั่นในรายงานงบการเงินที่มีปัญหา ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ตลาดหุ้นกู้ และการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายให้กับประชาชน (IPO) ที่มีความเสี่ยงจะโดนผลกระทบด้านความเชื่อตามไปด้วย ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่ประเด็นดังกล่าวจะมีผลกระทบให้ต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น หากรวมกับทิศทางดอกเบี้ยของ ธปท. ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก็ยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของไทยเพิ่มเติมอีกในอนาคต อีกทั้งยังมีปัจจัยหลักที่สภาพคล่องของโลกลดลงไปจำนวนมากจากแนวโน้มตลาดดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลของปริมาณสินค้าคงคลังของหลายประเทศขนาดใหญ่ทั่วโลก ปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มที่ลดลง เช่น กลุ่มสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยบวกต่อภาครวมของตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป รวมถึงหากปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงและปัญหามลพิษฝุ่นควันที่มีมากขึ้น น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจกลุ่มโรงพยายาล

 

สัญญาณแรงครึ่งปีหลังเข้า Recession

 

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในขณะนี้มีสัญญาณบ่งชี้การชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized Slowdown) ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง สะท้อนจากข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Flash PMI) ซึ่งเป็นข้อมูลในฝั่งภาคการผลิตของกลุ่มประเทศหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ชะลอตัวลงทั้งหมด 

 

ในขณะที่ภาคบริการมีข้อมูลการขยายตัวที่แข็งแรง ก่อนหน้านี้เริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลงเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนเริ่มที่ออกมาย่ำแย่ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Service PMI) ออกต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งเป็นภาพรวมที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากที่เคยสูงกว่าระดับ 50 โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และมีความเสี่ยงที่จะเห็นการชะลอตัวที่รุนแรงเพิ่มขึ้น

 

สำหรับปัจจัยเสี่ยงมีใน 3 ประเด็นที่ต้องติดตามเพิ่มเติม ได้แก่

 

  1. เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังสูง 
  2. ความเสี่ยงจากสภาพคล่องทางการเงินที่จะตึงตัวยาวขึ้น
  3. เศรษฐกิจของจีนและตลาดเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มชะลอแรงขึ้น

 

โดยมองไปข้างหน้ามีความกังวลในเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ขณะที่ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ GDP จีนลงเหลือขยายตัวที่ 5.3%

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising