การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) กลายเป็นเทรนด์ที่มาพร้อมกฎระเบียบของโลกใหม่ที่สำคัญอย่างมากต่อการลงทุนในความยั่งยืน (Invest in Sustainability) จึงผลักดันให้บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (INNOPOWER Company Limited) บริษัทน้องใหม่ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ 3 พันธมิตร
ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) เข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด ทั้งเรื่อง Future of Energy และ Future of Mobility
ล่าสุดประกาศตัวเป็น Decarbonization Partner พร้อมตั้งเป้าปี 2567 จะขยายการลงทุนหวังเติบโต 100% ทั้งยังเล็งหาทำเลพร้อมพันธมิตร ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจโรงงานประกอบรถ EV ในไทย วางงบลงทุนเฟสแรก 400-500 ล้านบาท ชิงโอกาสไทยมีจุดแข็งมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภูมิภาค และใช้วิธีบริหารงานด้วยการดึง AI มาใช้ในองค์กร
อธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด
อธิปกล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างหาทำเลและมองหาพันธมิตรต่างชาติ ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจโรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยวางงบลงทุนเฟสแรก 400-500 ล้านบาท
หลังจากปีที่ผ่านมารายได้เติบโตอย่างมาก ปี 2567 บริษัทจึงวางสัดส่วนต่อยอดรายได้ 2 ส่วนคือ Future Energy 60% ซึ่งมีทั้งธุรกิจการให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด และ Sustainability ให้คำปรึกษา บริหารจัดการก๊าซคาร์บอนในองค์กร และการจัดหาซื้อขายใบรับรองไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) ที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 616% จากปี 2565
ขณะที่อีกส่วน 40% คือ Future of Mobility นอกจากมีธุรกิจเครื่องชาร์จ EleXA อนาคตยังมองหาโอกาสทางธุรกิจที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยในปีนี้มีโปรเจกต์ใหม่ๆ เช่น การบริหารจัดการ Fleet Card หรือบัตรชำระค่าอัดประจุไฟฟ้าของรถ EV สำหรับองค์กร
“และแน่นอนว่าโอกาสและจุดแข็งที่ไทยมี Eco System เป้าหมาย (ของเรา) เป็นฐานผลิต EV ภูมิภาค แผนการลงทุนโรงประกอบ EV ข้างต้นจึงอยู่ในธุรกิจกลุ่ม Mobility ส่วนการลงทุนด้านแบตเตอรี่นั้นขณะนี้มีผู้เล่นเยอะแล้ว เราจึงมองการลงทุนในสิ่งที่เขาขาดมากกว่า”
นอกจากนี้ อินโนพาวเวอร์ยังวางเป้าหมายกลยุทธ์การเป็น Decarbonization Partner หรือการเป็นพันธมิตรให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวรับมือกระแส Carbon Neutrality ที่ต้องคำนึงถึง ESG ปีนี้จึงตั้งเป้าหมายให้ได้พันธมิตรไม่ต่ำกว่า 100 ราย และตั้งเป้าลดคาร์บอน 2 ล้านตัน
“ผมมองว่าประเทศไทยและหลายๆ ประเทศตื่นตัวกับกระแสคาร์บอนอย่างมากแม้จะเป็นเรื่องใหม่ และสิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้ดีคือกติกาโลกอย่างมาตรการภาษีสำหรับสินค้าส่งออกอย่าง CBAM ไฟฟ้าสีเขียวที่รัฐบาลกำลังผลักดันซื้อขายไฟจากพลังงานสะอาด และการที่ไทยมีจุดแข็งอุตสาหกรรมยานยนต์สู่นโยบาย EV จึงเป็นโอกาส รวมถึงองค์กรต่างๆ ก็ให้ความสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาลูกค้าธนาคาร (Bank) กลุ่มนี้เป็นลูกค้าหลักๆ ที่เข้ามาเยอะมากๆ”
ดึง ‘TRIREC’ กองทุนใหญ่จากสิงคโปร์
ในเร็วๆ นี้จะเปิดแพลตฟอร์ม GHG ให้บริการแก่ผู้ประกอบการได้ใช้ฟรี สำหรับลูกค้าในจำนวนจำกัด และยังมี Renewable Energy Certificate (REC) หรือแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งปี 2566 บริษัทออกใบรับรอง REC ให้กับผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 2 ล้าน REC ซึ่งธุรกิจไหนที่ลงทุนไปแล้วก็ได้ใบอนุญาตไปด้วย
ไม่รวมกับที่ล่าสุดบริษัทขยายการออกใบรับรองให้เข้าถึงองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย โดยร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย
นอกจากนี้ยังมี Energy Ignition Ventures (EIV) หรือการลงทุนในกองทุนและสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบริษัทร่วมกับ TRIREC ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) จากประเทศสิงคโปร์
โดยมีแผนการลงทุนในสตาร์ตอัพกลุ่ม Decarbonization Technology ที่เริ่มเติบโตมาแล้วระยะหนึ่งด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งตั้งเป้าหมายกองทุน EIV ในการระดมทุนไว้เบื้องต้นที่ประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“จากวันแรกที่เรามีพนักงาน 15 คน วันนี้เราก็มีพนักงานเพิ่มขึ้นเพียง 27 คน เราใช้ AI ในการบริหารคนและแพลตฟอร์ม ช่วยบริหารต้นทุนได้ดี ซึ่งเราสามารถทำรายได้ช่วง 2 ปีที่เป็นช่วงของการก่อตั้งธุรกิจ 2566 จาก 150.4 ล้านบาท เติบโต 700% และปี 2567 เราตั้งเป้าเติบโตเพิ่ม 100% เป็น 300 ล้านบาท แม้เป็นเรื่องใหม่แต่วันนี้คาร์บอนกำลังเป็นกติกาโลกที่ทำให้ทุกๆ องค์กรต้องมุ่งไปแน่นอน” อธิปกล่าว