×

เปิดวิธีเข้าร่วมโครงการ ‘แก้หนี้นอกระบบ’ ของรัฐบาลเศรษฐา เริ่มลงทะเบียน 1 ธันวาคมนี้

28.11.2023
  • LOADING...
หนี้นอกระบบ

เปิดวิธีร่วมโครงการ ‘แก้หนี้นอกระบบ’ ของรัฐบาลเศรษฐา เริ่มเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียน 1 ธันวาคมนี้ ด้านกระทรวงคลังเปิดช่องสำหรับ ‘เจ้าหนี้’ หรือผู้ประกอบการที่สนใจจะปล่อยกู้ให้ถูกกฎหมาย รัฐก็เปิดช่องให้ขอใบอนุญาตทำธุรกิจ ‘พิโกไฟแนนซ์’ ได้

 

วันนี้ (28 พฤศจิกายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวเรื่อง วาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ’ ร่วมกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

โดยนายกรัฐมนตรีประกาศให้ ‘การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ’ เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลจริงจัง ฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรีและความหวัง สร้างความมั่นคงให้กับประชาชนคนไทย 

 

“ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบไว้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดว่าเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริงๆ น่าจะมีมากกว่านั้น” เศรษฐา ทวีสิน กล่าว

 

เปิดวิธีเข้าร่วมโครงการ 

 

สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ กระทรวงมหาดไทยจะเปิดระบบให้ลูกหนี้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ควบคู่กับการเปิดให้ลงทะเบียนขอความช่วยเหลือแก้หนี้นอกระบบที่ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ’ ทั่วประเทศ

 

โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนด้วยตนเองที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ดังกล่าว หรือสามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตนเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

จากนั้นศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จะรายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบที่ขอรับความช่วยเหลือให้กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ทราบ ตามแบบฟอร์มการรายงานผลการลงทะเบียนของลูกหนี้นอกระบบเป็นประจำทุกเดือน

 

โดยหลังจากลงทะเบียนแล้ว ลูกหนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า ภาครัฐจะรับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด โดยจะดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม ตั้งแต่ต้นกระบวนการจนถึงการปิดหนี้ การทำสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง 

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน ทั้งการช่วยปรับระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่เบียดบังการใช้ชีวิตจนทำให้พี่น้องท้อถอย โดยรัฐบาลจะระมัดระวัง ไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (Moral Hazard) ในมาตรการการช่วยเหลือทั้งหมด

 

กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงการดำเนินการในส่วนของกระทรวงการคลังว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐโดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดให้มีแหล่งเงินทุนในระบบผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น 

 

  • สินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี 
  • สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยเพื่อเป็นเงินทุนหรือเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพโดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 1 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี หรือ 96 งวด 
  • สินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนโดย ธ.ก.ส. เพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 20 ปี สำหรับเจ้าหนี้นอกระบบ 

 

เปิดโอกาสให้เจ้าหนี้นอกระบบ ‘กลับใจ’ เข้าสู่ระบบ

 

กฤษฎากล่าวอีกว่า สำหรับเจ้าหนี้หรือผู้ประกอบการที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย ทางรัฐก็มีช่องทางให้ดำเนินการขอใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ 

 

“หากต้องการจะประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังได้ โดยใบอนุญาตประเภทพิโกไฟแนนซ์มีเงื่อนไขสำคัญเบื้องต้น คือ ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และเรียกเก็บดอกเบี้ยแบบมีหลักประกันได้ไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี และแบบไม่มีหลักประกันได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 36 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก สำหรับใบอนุญาตประเภทพิโกพลัสต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยสินเชื่อในส่วนที่เกิน 50,000 บาทขึ้นไป เก็บอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี แบบลดต้นลดดอก”

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไม่สามารถรับฝากเงินจากประชาชนได้ และสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้เฉพาะภายในจังหวัดที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น

 

หนี้นอกระบบ

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising