×

รัฐแก้หนี้นอกระบบด้วยการให้ ‘สินเชื่อ’ แบบใหม่ เป็นความหวังคนไทยได้ไหม?

03.10.2019
  • LOADING...
ปัญหาหนี้นอกระบบ

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ปัญหาหนี้นอกระบบเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย รัฐมองว่าสาเหตุหนึ่งคือคนไทยเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ทำให้รัฐสร้างสินเชื่อแบบใหม่ ทั้งแก้ปัญหาเจ้าหนี้นอกระบบ และคนที่ไม่มีหลักประกันขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น 
  • รัฐเลยพยายามแก้หนี้ 5 มิติ ทั้งจัดการเจ้าหนี้ผิดกฎหมาย เพิ่มช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุน ลดหนี้นอกระบบ (ไกล่เกลี่ย) ลูกหนี้ต้องเก่งขึ้น และมีการแก้ปัญหาในองค์กรของชุมชน
  • ส่วน 1-2 ปีนี้เลยเห็นรายละเอียดสินเชื่อรูปแบบใหม่ และการขอใบอนุญาตเพื่อปล่อยสินเชื่อ เช่น ‘พิโกไฟแนนซ์’ และ ‘พิโกพลัส’ แม้จะมีผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เข้าถึง และไม่เพียงพอ

ปัญหาหนี้นอกระบบเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ทำให้ภาครัฐหาวิธีแก้ไขเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องในหลายวิธี โดยรัฐมองว่าการทำให้คนไทยเข้าถึงสินเชื่อในระบบเป็นเรื่องสำคัญเลยออกแนวทางใหม่ เพิ่มใบอนุญาตให้คนอยากปล่อยกู้ถูกกฎหมาย ปล่อยสินเชื่อแบบใหม่ๆ จะเห็นในระยะ 1-2 ปีนี้ เช่น สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) พิโกพลัส นาโนไฟแนนซ์ 

 

ทั้งนี้จุดเด่นของสินเชื่อเหล่านี้ คือ เปิดโอกาสให้คนที่อยากให้สินเชื่อ เจ้าหนี้ที่อยู่นอกระบบทั้งหลายเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง ทำให้รัฐควบคุมได้ง่ายขึ้น ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อ กระบวนการตามหนี้ที่ดียิ่งขึ้น 

 

แต่ประชาชนยังมองว่ามีข้อเสียใหญ่ คือ อัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อประเภทอื่นๆ ที่อยู่ในระบบ เช่น พิโกไฟแนนซ์ ให้ผู้ประกอบการคิดดอกเบี้ยรวมค่าอื่นๆ ไม่เกิน 28 และ 36% ต่อปี ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันที่มีอยู่ปัจจุบัน เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตดอกเบี้ยไม่เกิน 18% ต่อปี สินเชื่อส่วนบุคคล (PLoan) อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี 

 

ขณะเดียวกันพิโกไฟแนนซ์บางส่วน (ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ) ต้องใช้หลักประกันในการขอสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยยังสูงกว่าสินเชื่อไม่มีหลักประกัน แม้ว่าสินเชื่อรูปแบบใหม่ๆ จะดีกว่าสินเชื่อนอกระบบ แต่ช่วยให้คนไทยใช้ชีวิตง่ายขึ้นหรือยัง?

 

วิเคราะห์การแก้หนี้นอกระบบของไทย

 

นริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบันคาดว่าหนี้นอกระบบของไทยมีมากกว่าหนี้ในระบบที่อยู่ราว 12.6 ล้านล้านบาท 

 

ปัญหาหนี้นอกระบบ

 

สินเชื่อทั้งพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์มีส่วนช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะหากดูอัตราดอกเบี้ยหนี้นอกระบบอาจสูงเกิน 100% ต่อปี ทวงหนี้ที่สร้างปัญหาในการใช้ชีวิต เช่น ทวงญาติ ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ ในขณะที่สินเชื่อทั้งพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ขั้นตอนการทวงหนี้เป็นไปตามกฎหมาย แต่สินเชื่อกลุ่มนี้ยังไม่เติบโตเพราะเพิ่งเริ่มต้น 

 

“ที่สินเชื่อกลุ่มนี้โตไม่เร็ว เพราะผู้ให้สินเชื่อยังให้วงเงินไม่เยอะมาก เพราะไม่รู้จะได้คืนเมื่อไร ถือว่ากำลังทดลองตลาด ดูลาดเลาก่อน ว่าความต้องการสินเชื่อเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้อาจจะเห็นว่าความต้องการสินเชื่อมีเยอะมากจนวงเงินของพิโกไฟแนนซ์ ประมาณ 50,000 บาทต่อรายไม่พอ”

 

แต่จุดที่ต้องระวังคือ ทั้งพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ต้องไม่สร้างหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็น และควรจัดเข้ามาอยู่ในการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตกลงกับธนาคารพาณิชย์

 

ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ยังสูงเป็นการสะท้อนความเสี่ยงที่เป็นอยู่ เพราะทั้งพิโกไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ เป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ก้อนเล็ก (วงเงินน้อย) มีความเสี่ยงสูง ภาระการตามหนี้ต่อรายก็สูงเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามภาพที่ชัดเจนกว่าคือ คนที่มีหนี้นอกระบบถ้าสามารถเข้าคลินิกแก้หนี้ได้จะดีกว่า (ปัจจุบันให้แก้หนี้บัตรเครดิต PLoan) แต่ไม่ใช่การขอสินเชื่อใหม่มารวมกับหนี้เดิม บางส่วนอาจใช้เพื่อจุดประสงค์ใหม่ๆ กรณีมีภาระ เจ็บป่วยต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล เรียนหนังสือ ค่าเทอม การค้าขาย ซึ่งเป็นหนี้อเนกประสงค์ แต่ทำยังไงไม่ให้เป็นหนี้ใหม่ 

 

รัฐบาลออกแผนแก้หนี้นอกระบบ 5 มิติ ชูพิโกไฟแนนซ์

 

พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ทางหน่วยงานมีแผนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบมีความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ใน 5 มิติ ได้แก่

 

1) ดำเนินการจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย

2) เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ

3) ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย

4) เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ

5) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน 

 

ทั้งนี้มาตรการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดในการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติการดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดสะสมนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึงสิงหาคม 2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,279 คน 

 

ขณะเดียวกันมีโครงการ ‘สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน’ ที่ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 0.85% เริ่มเมื่อมีนาคม 2560 พบว่า ณ สิ้นสิงหาคม 2562 อนุมัติสินเชื่อรวม 620,998 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,354 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 575,717 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,401 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้นอกระบบในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 จำนวน 45,271 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,953 ล้านบาท

 

และส่วนสำคัญที่ต้องจับตามองคือความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบผ่านการเพิ่มช่องทางเข้าถึงสินเชื่อในระบบคือ การรายงานสถานการณ์พิโกไฟแนนซ์อย่างต่อเนื่อง

 

สถานการณ์พิโกไฟแนนซ์ ณ สิงหาคม 2562 ผู้ให้บริการ-ยอดหนี้รวมโตต่อเนื่อง 

 

พิโกไฟแนนซ์มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 จำนวน 106,620 บัญชี คิดเป็นเงิน 2,781.29 ล้านบาท เฉลี่ยวงเงิน 26,085.97 บาทต่อบัญชี แบ่งเป็น

 

  • สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 50,815 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,531.59 ล้านบาท คิดเป็น 55.07% ของยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
  • สินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 55,805 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,249.70 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.93% ของยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 

 

ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างรวมอยู่ที่ 35,428 บัญชี ยอดเงินรวม 1,004.50 ล้านบาท 

 

หากดูส่วนการค้างชำระ ได้แก่ สินเชื่อคงค้างชำระ 1-3 เดือน จำนวน 4,652 บัญชี คิดเป็น 145.90 ล้านบาท (สัดส่วน 14.52% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม) ส่วนสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) มีจำนวน 3,417 บัญชี หรือคิดเป็น 97.20 ล้านบาท (สัดส่วน 9.68% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม)

 

ในไทยมีผู้ประกอบการในพิโกไฟแนนซ์-พิโกพลัสเท่าไร? 

 

ปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 แบบ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และประเภทพิโกพลัสจำนวนรวม 1,183 ราย ใน 76 จังหวัด 

 

โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (105 ราย) กรุงเทพมหานคร (91 ราย) และขอนแก่น (63 ราย) 

 

อย่างไรก็ตามมีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทรวม 680 ราย ใน 72 จังหวัด มีการแจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 577 ราย ใน 67 จังหวัด  และมีผู้ที่ปล่อยสินเชื่อแล้วจำนวน 527 ราย ใน 66 จังหวัด โดยแบ่งเป็น

 

1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 971 ราย ใน 75 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์แล้วจำนวน 670 ราย ใน 72 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 569 รายใน 67 จังหวัด 

 

2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสุทธิทั้งสิ้น 87 ราย ใน 33 จังหวัด มีทั้งผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมที่ขอเปลี่ยนใบอนุญาตเป็นสินเชื่อประเภทพิโกพลัส จำนวน 59 ราย ใน 27 จังหวัด 


และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขอใหม่จำนวน 28 ราย ใน 27 จังหวัด โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสแล้วจำนวน 10 ราย ใน 6 จังหวัด และมีผู้เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 8 รายใน 5 จังหวัด

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตจำนวนทั้งสิ้น 125 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 1,058 ราย ใน 75 จังหวัด 

 

สุดท้ายความท้าทายของภาครัฐคงหนีไม่พ้นการสร้างความเข้าใจความรับผิดชอบทางการเงิน และการสร้างเครื่องมือให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีมาตรฐาน 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • กระทรวงการคลัง 
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย 
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X