“เงินเฟ้อเร่งให้เกิดการบริโภคที่เกินจำเป็น จนดันให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น”
“เงินเฟ้อช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้ธุรกิจไปต่อได้ ถ้าเงินไม่เฟ้อ ภาคธุรกิจก็จะเจอปัญหาในการสร้างกำไร และทำให้การจ้างงานลดลง”
นี่คือ 2 แนวคิดที่ต่างกันบนหนึ่งเวทีที่น่าสนใจในงาน ‘Thailand Blockchain Week 2024’ ที่เป็นการสนทนากันระหว่าง พิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้ก่อตั้ง Right Shift และกรรมการผู้จัดการ CDC ChalokeDotCom กับ ซีเค เจิง (CK Cheong) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แพลตฟอร์มรวมฟรีแลนซ์ Fastwork ในหัวข้อ ‘เป็นไปได้หรือที่คนจะรวยในระบบเงินเฟ้อ’
ในช่วงแรกซีเคอธิบายถึงความจำเป็นของเงินเฟ้อว่าปัจจุบันประเทศผู้นำอย่างสหรัฐฯ มี ‘ค่าใช้จ่าย’ มากกว่า ‘รายได้’ จึงต้องทำให้เกิดเงินเฟ้อที่มาจากหนี้เพื่อโปะค่าใช้จ่ายส่วนเกิน และเมื่อประเทศมหาอำนาจทำเช่นนี้ ประเทศอื่นๆ ก็จำเป็นต้องทำตาม เพราะถ้าไม่เป็นหนี้ ประเทศนั้นก็จะไม่สามารถแข่งขันได้
“วันนี้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ถึงอย่างไรก็มีเงินเฟ้อ เพราะไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่จะบอกว่าจะลดค่าใช้จ่าย คนคงไม่เลือกนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่จะเข้ามาแล้วจะบอกว่าจะขึ้นภาษี เพราะฉะนั้นเงินเฟ้อคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้” ซีเคกล่าว
อีกหนึ่งเหตุผลที่ซีเคมองว่าต้องมีเงินเฟ้อเพราะต้นทุนการเงินจะต่ำลง ทำให้ธุรกิจสามารถกู้เงินมาสร้างสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (SMEs) เกิดขึ้นได้เพราะมีเงินเฟ้อ นวัตกรรม อย่างเช่น สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตก็เช่นเดียวกัน
แต่ซีเคก็ย้ำว่า เงินเฟ้อที่เยอะเกินไปอย่างในสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่เป็นผลดีกับการใช้ชีวิตของผู้คน
ในฝั่งของพิริยะก็เห็นด้วยกับซีเคว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อคือสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก และเงินเฟ้อที่มากเกินไปเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนรักษาความมั่งคั่งและสร้างตัวได้ยาก แต่จุดหนึ่งที่มีความเห็นต่างออกไปคือ การเกิดขึ้นของ ‘นวัตกรรม’ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องอาศัยเงินเฟ้อเป็นตัวช่วย เพราะนวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นภายใต้ระบบการเงินมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เช่นกัน ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์ ระบบท่อประปา ระบบทำความร้อน และอื่นๆ อีกหลายอย่าง
“อย่าลืมว่าก่อนปี 1971 ที่ระบบการเงินอยู่ภายใต้มาตรฐานทองคำ ธุรกิจขนาดเล็กก็เกิดขึ้นเหมือนกัน การกู้เงินก็ทำได้เช่นกัน เพราะมนุษย์อยากจะสร้างนวัตกรรมใหม่ตลอดเวลา” พิริยะกล่าว
นอกจากนี้อีกหนึ่งประเด็นที่พิริยะมองว่าเป็นหนึ่งปัญหาสำคัญเชิงระบบของการเงินในปัจจุบันคือ การเอื้อให้เกิดธุรกิจที่ใหญ่เกินล้ม (Too Big to Fail) หรือธุรกิจที่แบกรับความเสี่ยงเกินตัวอย่างไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008
วิกฤตครั้งนั้นเกิดขึ้นเพราะธนาคารปล่อยกู้สินเชื่อเกินตัวโดยไม่ประเมินให้ถี่ถ้วนถึงศักยภาพในการชำระหนี้ของผู้กู้ ทั้งที่รู้ว่ามีความเสี่ยงสูง แต่ก็ตัดสินใจทำอยู่ดี เนื่องจากธุรกิจกลุ่มนั้นมีกลไกที่ทำให้ตัวเองใหญ่เกินล้ม จนภาครัฐไม่มีทางเลือกนอกจากผลิตเงินเพิ่มเพื่อมาพยุงไม่ให้วิกฤตลุกลาม แต่สุดท้ายผลกระทบของเงินที่ผลิตออกมาทำให้มูลค่าเงินออมของประชาชนถูกลดค่า จนบางคนต้องขายสินทรัพย์เพื่อประคองตัวเอง ในขณะที่ต้นตอวิกฤตกลับไม่ต้องรับโทษ
แน่นอนว่าการเสื่อมค่าของเงินคงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ซีเคชวนมองในมุมของคณะรัฐบาลที่บริหารประเทศในเวลานั้น การอัดฉีดเงิน ณ วิกฤตปี 2008 ก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ เพื่อรักษาไม่ให้ทั้งเศรษฐกิจและชื่อเสียงของตนพังเสียหายในยุคสมัยที่ตัวเองบริหารประเทศ
ในช่วงท้าย แม้ว่าทั้งสองท่านจะมีความเห็นต่างกันบ้างในบางมุม แต่จุดที่พวกเขาเห็นตรงกันก็คือ ตอนนี้โลกมีสิ่งที่เรียกว่า Bitcoin ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่คนบนโลกมีทางเลือกในการเก็บความมั่งคั่งในสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัดและมีนโยบายการเงินมั่นคงและโปร่งใส
“อย่าซื้อ Bitcoin เพราะราคา ต้องซื้อเพราะมูลค่า ต้องเข้าใจว่าทำไมมันสำคัญและเข้าใจว่ามันถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์อะไร ผมเชื่อว่า Bitcoin คือทองและเครื่องมือรักษาความมั่งคั่งของอนาคต” ซีเคกล่าวทิ้งท้าย