×

เงินเฟ้อ vs. เศรษฐกิจถดถอย โลกสามารถรอดจากสองภาวะนี้ในปี 2023 ได้หรือไม่

โดย THE STANDARD TEAM
15.02.2023
  • LOADING...
เงินเฟ้อ vs. เศรษฐกิจถดถอย

เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อ โดยที่เศรษฐกิจโลกไม่ต้องเข้าสู่ภาวะถดถอย ประสบการณ์การเรียนรู้จากในอดีตที่ผ่านมา บอกว่าคำตอบคือ ‘ไม่’ แต่ถึงกระนั้น ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งยังเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาตัวอย่างจากยุโรปที่แม้เผชิญกับวิกฤตพลังงานจากสงครามในยูเครน แต่เศรษฐกิจของภูมิภาคก็ยังสามารถเติบโตได้เล็กน้อยในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว 

 

เมื่อเหล่าผู้นำระดับโลกมารวมตัวกันในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น 2 ใน 3 ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ WEF สำรวจในรายงาน Chief Economists Outlook กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก หรือภาวะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกหดตัวนั้น มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในปี 2023 

 

นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม ธนาคารโลกยังเตือนด้วยว่าเศรษฐกิจโลกใกล้ที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มทีแล้ว

 

ในขณะที่รายงานการประเมินเศรษฐกิจเมื่อปลายเดือนมกราคมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะหดตัว และเตือนว่าสหรัฐอเมริกามีหนทาง ‘แคบ’ ที่จะหลีกหนีจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจโลกโดยรวม IMF ระบุว่า เศรษฐกิจโลกอาจหลีกเลี่ยงการหดตัวในปีนี้ได้

 

IMF ธนาคารโลก และผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย นั่นคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางหลายประเทศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

 

โลกจำเป็นต้องเลือกระหว่างราคาที่พุ่งสูงขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ โดยพนักงานด้านเทคโนโลยีมากกว่า 1 แสนคนเพิ่งถูกไล่ออกในเดือนมกราคม แต่ระหว่างเชื้อเพลิงราคาไม่แพงกับการงานที่มั่นคง เราจำเป็นต้องเลือกจริงหรือ? สำนักข่าว Al Jazeera ตั้งคำถามเหล่านี้กับนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ

 

คำตอบสั้นๆ คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่เจ็บปวด และโดยส่วนใหญ่แล้วจะนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่วิธีดังกล่าวก็เป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับธนาคารกลาง เนื่องจากราคาสินค้าและบริการที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนจนมากที่สุด อย่างไรก็ดี ข่าวดีคือยุโรปซึ่งเผชิญกับการขาดแคลนพลังงานอันเป็นผลกระทบจากสงครามที่โหดร้ายของรัสเซีย แสดงให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาคสามารถจัดการกับเงินเฟ้อได้ โดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ถอดรหัสอัตราดอกเบี้ย

 

ภารกิจหลักของธนาคารกลางคือการทำให้ราคามีเสถียรภาพ โดยธนาคารกลางในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ใกล้ระดับ 2% และตั้งเป้าควบคุมราคาผู้บริโภคด้วยการจัดการจำนวนเงินและสินเชื่อที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ

 

เครื่องมือที่สำคัญที่สุดของธนาคารกลางคือ อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยต่ำจะช่วยให้ทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารได้มากขึ้น สิ่งนี้จะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิดที่ทำลายเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการล็อกดาวน์และปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทาน ธนาคารกลางทั่วโลกจึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ ซึ่งเป็นแนวทางที่เรียกว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายประเทศกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง การใช้จ่ายของผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งนำไปสู่ระดับเงินเฟ้อที่สูงในรอบหลายสิบปี ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงดังกล่าว ธนาคารกลางหลายประเทศตัดสินใจคุมเข้มนโยบายการเงิน และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อเพิ่มต้นทุนการกู้ยืม

 

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมแล้ว 4.5% โดยปรับขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน ธนาคารกลางยุโรปได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2.5% ขณะที่ในบางประเทศ เช่น บราซิล การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นรุนแรงกว่ามาก โดยเพิ่มขึ้นถึง 11.75% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 และในศรีลังกาดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 10% 

 

แนวคิดของการขึ้นดอกเบี้ยคือเพื่อลดความต้องการของผู้บริโภค โดยหวังว่าประชาชนจะชะลอการใช้จ่ายเงินกับเรื่องบางเรื่อง เช่น เพื่อซื้อรถ หรือไปเที่ยวพักผ่อน

 

“การใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อนั้นเป็นเครื่องมือที่เถรตรง” รศ.มานูเอลา มอสเคลลา อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศจาก Scuola Normale Superiore ในอิตาลีกล่าวกับ Al Jazeera “ในท้ายที่สุด อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทุกคนด้วยการไปเพิ่มต้นทุนของเงิน ทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ”

 

แนวทางดังกล่าวดูเหมือนจะได้ผลในหลายประเทศ ซึ่งระดับเงินเฟ้อกำลังลดลงเล็กน้อย ตัวอย่างเช่นในสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมากจากระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน 2022 ลงมาอยู่ที่ 6.5% ในเดือนธันวาคม ขณะที่ในบราซิล อัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับสูงสุดที่ 12.1% เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 5.8% ในเดือนธันวาคม

 

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบอื่นๆ ต่อเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

 

โซนาล วาร์มา กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำอินเดียและเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ของ Nomura กล่าวว่า เมื่อต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น บริษัทต่างๆ จะชะลอการลงทุน หรือเริ่มลดจำนวนพนักงานลง

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยคือยาขมที่เศรษฐกิจและแรงงานหลายล้านคนผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องกล้ำกลืนฝืนทน

 

ทำลายวัฏจักรเงินเฟ้อ

 

วาร์มากล่าวว่า ราคาสินค้าและบริการที่สูงขึ้นบีบให้เหล่าพนักงานต้องออกมาเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้าง แม้การเพิ่มค่าแรงถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในเวลาเดียวกัน มันคือการเพิ่มรายจ่ายให้กับบริษัทด้วย 

 

“นั่นจะวนกลับไปสู่การขึ้นราคาสินค้าและบริการ เนื่องจากบริษัทต่างๆ มีต้นทุนเพิ่มขึ้น” วาร์มากล่าวกับ Al Jazeera “สิ่งนี้จะสร้างวัฏจักรเงินเฟ้อ” ซึ่งเป็นวัฏจักรที่มักจะสร้างความเจ็บปวดให้กับคนที่ยากจนที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้มีอำนาจต่อรองต่ำเมื่อต้องเจรจาเรื่องค่าจ้าง อีกทั้งไม่มีเงินออมเพียงพอที่จะรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

 

เมื่อธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหวังลดอุปสงค์ ผลลัพธ์ที่ตามมาโดยตรงก็คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และอาจถึงขั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย และนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ธนาคารกลางจะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้

 

“เราจะต้องมีส่วนร่วมในการคุมเข้มนโยบายการเงินในเชิงรุกมากขึ้น” วิลเลม บิวเทอร์ อดีตสมาชิกคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Citibank กล่าวกับ Al Jazeera “และผลที่ตามมาคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจในทุกๆ ที่ และสิ่งนี้อาจอยู่ในรูปแบบของภาวะถดถอยเต็มรูปแบบ หรือถดถอยเล็กน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ”

 

รัฐบาลต้องยื่นมือ

 

อย่างไรก็ดี รายงานการประเมินเศรษฐกิจของ IMF ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตได้ในปี 2023 นั้น บ่งชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยไม่ใช่ผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสงครามต่อสู้กับเงินเฟ้อ

 

รศ.มอสเคลลา จาก Scuola Normale Superiore กล่าวว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารกลางจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านนโยบายอื่นๆ “เครื่องมือนโยบายการเงินของธนาคารกลางทำงานได้ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาอุปสงค์ แต่ธนาคารกลางไม่สามารถจัดการกับปัญหาด้านอุปทานได้ เช่น ภาวะขาดแคลนพลังงาน” เธอกล่าว

 

ยุโรปแสดงตัวอย่างที่ดูเหมือนจะได้ผลแล้ว โดย IMF อ้างถึง “การปรับตัวที่ดีเกินคาดของยุโรปต่อวิกฤตพลังงาน” เป็นเหตุผลหลักว่าทำไมโลกอาจหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

 

หลายประเทศในยุโรปพยายามอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่สูง กำหนดเพดานค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มประชากรที่เปราะบาง หรือออกมาตรการจูงใจด้านภาษี

 

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของฝรั่งเศส รัฐบาลตรึงราคาก๊าซในครัวเรือนไว้ที่ระดับเดียวกับเดือนตุลาคม 2021 และกำหนดเพดานการขึ้นราคาไฟฟ้าในปี 2022 ไม่ให้เกิน 4% จากปีที่แล้ว สำหรับปี 2023 การขึ้นราคาไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าถูกจำกัดไว้ที่ 15% และมีมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ครัวเรือนที่ยากจน ด้านสเปนดำเนินนโยบายที่คล้ายกัน

 

แน่นอนว่าวิกฤตค่าครองชีพทั่วโลกส่งผลกระทบต่อครอบครัวชาวฝรั่งเศสและชาวสเปนด้วยเช่นกัน แต่มาตรการควบคุมราคาพลังงานทำให้ทั้งสองประเทศมีอัตราเงินเฟ้อต่ำที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยูโรโซนในปี 2022

 

โดยรวมแล้ว IMF กล่าวว่า “ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตที่หลายประเทศในยุโรปแสดงให้เห็นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความช่วยเหลือของรัฐบาลที่ให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน โดยภายในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปได้จัดสรรเงิน 6 แสนล้านยูโรสำหรับมาตรการเหล่านี้ ซึ่งคิดเป็น 1.2% ของ GDP ของ EU 

 

มาตรการควบคุมเงินเฟ้อที่รัฐบาลนำมาใช้ ทำให้ธนาคารกลางยุโรปสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้น้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เศรษฐกิจของยุโรป ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะหดตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 นั้น กลับมาเติบโตได้เล็กน้อยที่ 0.1%

 

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ปิดท้ายว่า แม้โลกจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในปีนี้ แต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อแรงงานหลายล้านคนทั่วโลก มาตรการที่ดำเนินการโดยชาติต่างๆ ในยุโรปอาจช่วยลดผลกระทบต่อพลเมืองของตนได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้ทั้งหมด

 

“การควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่เจ็บปวดนั้นเป็นเรื่องโกหก” บิวเทอร์กล่าว

 

ภาพ: VCG / VCG via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X