×

ส่องเส้นทาง ‘เงินเฟ้อ’ vs. ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ ในปีที่ผ่านมา

05.01.2024
  • LOADING...

กระทรวงพาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ไทยเดือนธันวาคมลดลง 0.83% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และลดลงหนักสุดรอบ 34 เดือน พร้อมทั้งประมาณการว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมก็มีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2567 ก็มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ โดยช่วงคาดการณ์อยู่ระหว่าง -0.3% ถึง 1.7% (ค่ากลาง 0.7%)

 

ตลอดทั้งปี 2566 แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเคยแตะระดับเกือบ 8% เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2565 ท่ามกลางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

โดยในปี 2566 กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้ง รวมทั้งหมด 125 bps จากระดับ 1.25% เมื่อช่วงปลายปี 2022 มาสู่ระดับ 2.50% ในการประชุมวันที่ 27 กันยายน และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน

 

แม้มีหลายฝ่ายกังวลว่า การคงอัตราดอกเบี้ยให้คงที่ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง อาจเป็นการใช้นโยบายที่เข้มงวดเกินไป รวมไปถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวว่า “ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 2.50% ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายน 2566 นั้น อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน” พร้อมขอให้ ธปท. พิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ในการกำหนดนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและภาวะทางการเงินที่ตึงตัว 

 

กระนั้น สำนักวิจัยหลายแห่งต่างมีความเห็นสอดคล้องกันว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ไปตลอดทั้งปี 2567 โดย SCB EIC มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% เป็นระดับที่เหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับศักยภาพในระยะยาว (Neutral Rate) และช่วยเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายได้ และช่วยสร้างความสมดุลในระบบการเงินจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงกลับเป็นบวกได้ โดยเป็นการลดแรงจูงใจในการก่อหนี้ใหม่ของครัวเรือน และลดการประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป (Underpricing of Risks) จากภาวะดอกเบี้ยต่ำนาน 

 

ขณะที่วิจัยกรุงศรี และ ttb analytics มองว่า กนง. จะคงไว้ที่ 2.50% ตลอดทั้งปี 2567 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพื่อรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่มีอยู่มากในอนาคต

 

ทั้งนี้ ธปท. ได้กล่าวย้ำมาตลอดว่า ระดับดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 2.50% เป็นระดับที่เหมาะสมและ Neutral กล่าวคือ ไม่ได้เพิ่มแรงสนับสนุนและไม่ได้ฉุดรั้งเศรษฐกิจ พร้อมมองว่า ในปี 2567 การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวก็เหมาะสมต่อเศรษฐกิจ 

 

โดยในงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 4/2023 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอธิบายว่า “การคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ Neutral ก็เป็นกลยุทธ์ในการบริหารความเสี่ยงประเภทหนึ่ง เวลาเศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงทั้งสองด้าน” พร้อมยืนยันว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ได้เผชิญความเสี่ยงต่ำเพียงด้านเดียว แต่มีทั้งสองด้าน

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising