กระทรวงพาณิชย์ ระบุอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.61% ในเดือนกันยายน พร้อมเผยผลสำรวจหลังรัฐบาล ‘แจกเงินหมื่น’ ช่วยกระตุ้นยอดขายได้ แต่ไม่ทำให้ราคาของแพงขึ้น
วันนี้ (7 ตุลาคม) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนกันยายนสูงขึ้น 0.61% (YoY) โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมถึงผักสดบางชนิดได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม ราคาแก๊สโซฮอล์และน้ำมันเบนซินปรับลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.77% (YoY) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม 2567 ที่สูงขึ้น 0.62% (YoY)
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 0.20% (AoA)
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 จากเดิมระหว่าง 0.0-1.0% (ค่ากลาง 0.5%) เป็นระหว่าง 0.2-0.8% (ค่ากลาง 0.5%) เนื่องจากมีการปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปีลงเหลือ 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีนี้อยู่ที่ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงพิจารณาจากสถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเท่านั้น ไม่ได้รวมความเสี่ยงที่อิหร่านหรืออิสราเอลจะทำสงคราม และความเสี่ยงที่ผลกระทบจากน้ำท่วมสูงกว่าที่คาดไว้ ซึ่งหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
เปิดแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป
พูนพงษ์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อในเดือนตุลาคมจะอยู่ 1.25% ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.49% ในไตรมาสที่ 4 โดยแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 4 ปี 2567 ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2567 ซึ่งมีปัจจัยสำคัญ ดังนี้
- ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักสดปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น
- สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่
- ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า (ไตรมาส 4 ปี 2566 มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ระดับใกล้เคียงกับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับตัวลดลง
- การแข็งค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูง
- คาดว่าผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไปแล้ว
‘แจกเงินหมื่น’ ช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้า แต่ไม่ทำให้ราคาของแพงขึ้น
พูนพงษ์ยังเปิดผลสำรวจจากการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 รอบแรก (วงเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท) ซึ่งสำรวจระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2567 จำนวน 133 ร้านค้าทั่วประเทศ พบว่า สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมียอดขายดีขึ้น แต่ราคายังคงที่ สะท้อนว่าโครงการแจกเงินช่วยเพิ่มกำลังซื้อและยอดจำหน่ายของร้านค้า
พูนพงษ์ยังกล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายใน ได้ดูแลติดตามราคาสินค้าอยู่แล้ว โดยจะไม่ปล่อยให้มีการฉวยโอกาสให้มีการขึ้นราคาเกินต้นทุนราคาสินค้าอยู่แล้ว