กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป หรือ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นถึง 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปีนับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 1991
ทั้งนี้ หากนำราคาอาหารและพลังงานออกจากการคำนวณ เงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนที่ผ่านมาสวนทางกับรายได้ของประชากรสหรัฐฯ ที่ลดลง 1% มากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ถึง 0.4% ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6%
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 24.9% และราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น 4.1% โดยเงินเฟ้อในภาคบริการปรับเพิ่มขึ้น 6.4% เช่นกัน
ตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่ลดลงที่ออกมาล่าสุดถือเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนักสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อเนื่องจากการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ที่ลดลงมาอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับจากเดือนเมษายนปี 2020
ในช่วงเช้าที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ออกมายอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูงยาวนานกว่าที่เคยคาดเอาไว้ แต่ยังเชื่อว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงได้ในที่สุด
“ถ้าเทียบกับปีก่อน เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูง เนื่องจากเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มีการฟื้นตัวแรง แต่ถ้าเทียบเป็นรายเดือนจะพบว่าเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นไม่มาก โดยเชื่อว่าเงินเฟ้อจะกลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียง 2% ในช่วงครึ่งหลังของปี”
เยลเลนยังระบุว่า ผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังมีเงินออมและเงินสดอยู่ในมือสูง ซึ่งนี่จะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
สำหรับอัตราการออมในเดือนกันยายนของสหรัฐฯ อยู่ที่ 7.5% เทียบเท่ากับ 1.34 ล้านล้านดอลลาร์ ลงลดจากระดับ 9.2% ในเดือนสิงหาคม และอยู่ในระดับต่ำสุดนับจากเดือนธันวาคมปี 2019
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP