กระทรวงพาณิชย์เผย เงินเฟ้อ ทั่วไปเดือนกันยายนปรับลดลงเหลือ 6.41% คาดไตรมาส 4 ชะลอลงต่อเนื่องตามราคาอาหารและพลังงาน มองค่าเฉลี่ยทั้งปียังอยู่ที่ 6% แต่ยังจับตาสถานการณ์น้ำท่วม บาทอ่อนเป็นปัจจัยกดดัน
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกันยายน 2565 เท่ากับ 107.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 101.21 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.41% ชะลอตัวลงจากเดือนสิงหาคม 2565 ที่สูงขึ้น 7.86% ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร ประกอบกับฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ระดับสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กูรูชี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กำลังเขย่าห่วงโซ่การผลิตโลก เตือนไทยมัวแต่เหยียบเรือสองแคม สุดท้ายอาจตกขบวน
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- ต่างชาติแห่ปักหมุด ลงทุนเวียดนาม ยอด FDI พุ่งแซงไทยแบบไม่เห็นฝุ่น สัญญาณบ่งชี้ ไทยเริ่มไร้เสน่ห์?
อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ราคาสินค้าและบริการโดยรวมยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากการทยอยปรับราคาเพิ่มตามต้นทุนในช่วงก่อนหน้า พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง และอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เงินเฟ้อยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอตัวตามที่คาดการณ์
โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.41% ได้แก่ ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ขยายตัว 16.10% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แม้ว่าราคาจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ราคายังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย ยาสีฟัน แชมพู) ค่าโดยสารสาธารณะ การศึกษา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) ยังสูงกว่าปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 4.10% อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาลดลง เช่น แป้งผัดหน้า น้ำยารีดผ้า ค่าส่งพัสดุ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า
ส่วนสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังขยายตัวที่ 10.97% ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดและผลไม้ (พริกสด ผักคะน้า กะหล่ำปลี ส้มเขียวหวาน แตงโม มะม่วง) นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเครื่องประกอบอาหารราคาเริ่มชะลอตัว แต่ยังคงสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง ประกอบกับพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชผักและปศุสัตว์ ประสบปัญหาจากฝนตกชุกและน้ำท่วมขัง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จึงส่งผลให้สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 9.82%
อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญหลายรายการ เช่น ข้าวสารเหนียว มะพร้าวผล / ขูด มะขามเปียก กล้วยหอม และอาหารโทรสั่ง (Delivery) ราคาปรับลดลง
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก อยู่ที่ 3.12% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 3.15% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้เทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 0.22% (MoM) ตามราคาอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของสินค้าในกลุ่มอาหารสด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 6.17% (AoA)
ด้านดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกันยายน 2565 สูงขึ้น 10.5% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะส่งผลให้ราคาขายปลีกสินค้าลดลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิต ทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน และการขนส่งที่อยู่ในระดับสูง จากการทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างอยู่ในระดับที่ทรงตัวคือ สูงขึ้น 5.2% (YoY) เท่ากับเดือนที่ผ่านมา โดยยังคงสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าสำคัญ ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งเป็นผลจากราคาวัตถุดิบและต้นทุนที่สูงขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ระดับ 46.4 จากระดับ 46.3 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 สาเหตุมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดำเนินการได้เป็นปกติ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะเริ่มฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ราคาน้ำมันที่ลดลง และมาตรการของภาครัฐที่ลดภาระค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และเงินบาทที่อ่อนค่าลง ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทย
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 4 ปี 2565 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์ในประเทศ ที่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบและอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับฐานราคาที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน และมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐที่อาจจะมีเพิ่มในช่วงที่เหลือของปี จะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับดี รวมถึงฝนตกชุก น้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อย และเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง นอกจากนี้ ราคาพลังงานโลกที่ผันผวนและเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่จำกัด
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง 5.5-6.5% (ค่ากลาง 6.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย