×

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือน ก.ค. ขยายตัว 0.45% แต่ชะลอตัวจากเดือน มิ.ย. ผลจากราคาน้ำมัน อาหารสดและมาตรการภาครัฐ คาดเฉลี่ยทั้งปียังโต 1.2%

05.08.2021
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2564 ปรับตัวสูงขึ้น 0.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจาก 1.25% ในเดือนก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญยังคงเป็นราคาพลังงานที่ขยายตัวสูง 6.3% ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดบางประเภท เช่น เนื้อสุกร ไข่ไก่ และผลไม้สด ตามความต้องการที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดในช่วงล็อกดาวน์

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปาของรัฐ การลดค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา รวมทั้งการลดลงของอาหารสดบางประเภท เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักสด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และเครื่องนุ่งห่ม เป็นปัจจัยทอนที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวลง โดยคาดว่าหากตัดปัจจัยเรื่องมาตรการภาครัฐออก เงินเฟ้อที่แท้จริงจะอยู่ที่ระดับ 1.8% 

 

ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) ขยายตัว 0.14% จากปีก่อนหน้าและชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.52% ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 ลดลง 0.12% (MoM) และเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.83% (AoA)

 

วิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวเช่นกัน อาทิ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงรายได้เกษตรกร 

 

นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ยังคงขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยดัชนีราคาผู้ผลิตขยายตัวที่ 5% (YOY) จาก 5.5% ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ขยายตัว 7.8% (YOY) จาก 10.1% ในเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงเล็กน้อยของอัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศ และปริมาณการจำหน่ายเหล็ก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด แต่การส่งออกสินค้าของไทยยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ส่งผลดีต่อกำลังซื้อและอุปสงค์ในประเทศ 

 

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2564 รองผุ้อำนวยการ สนค. คาดว่า เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสำคัญจากมาตรการลดค่าครองชีพผู้บริโภคของภาครัฐ ทั้งการลดค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ในรอบเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 อีกทั้งราคาพลังงานที่ถึงแม้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายลงในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่มีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากฐานราคาของปีก่อนเริ่มสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เงินเฟ้อขยายตัวน้อยลง ขณะที่สินค้าในหมวดอื่นๆ น่าจะยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติตามปริมาณผลผลิตและอุปสงค์ในตลาด ด้านราคาสินค้าเกษตรยังมีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ 

 

วิชานัน กล่าวอีกว่า การแพร่ระบาดของโควิดจะยังคงส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งเป็นแรงกดดันสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและมีความชัดเจน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง น่าจะสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวในกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้คือที่ 1-3%

 

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2564 จะอยู่ระหว่าง 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X