×

เงินเฟ้อ เดือน ก.ค. พุ่งแตะ 7.61% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี ‘พาณิชย์’ ขยับคาดการณ์ทั้งปีจาก 4.5% เป็น 6%

05.08.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค ( เงินเฟ้อ ทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 7.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้ากลุ่มพลังงานยังเป็นสาเหตุหลักต่ออัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นต้นทุนในทุกขั้นตอนการผลิตและโลจิสติกส์ของสินค้าและบริการ ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญสูงขึ้น นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้เป็นผลของการคำนวณจากฐานดัชนีราคาผู้บริโภคของเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เงินเฟ้อขยายตัว 

 

ทั้งนี้ สินค้าหมวดสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 7.61% ประกอบด้วย

 

  1. กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 33.82% ส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนผลกระทบต่อเงินเฟ้อ (Contribution to Percentage Change: CPC) ในเดือนนี้ที่ 52.57% แม้ว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงบางชนิด (แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน) ในเดือนนี้จะปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ต้นทุนการผลิตและการขนส่งยังสูง เนื่องจากราคาก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล ยังคงอยู่ในระดับสูง

 

  1. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 8.02% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น ไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป ราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม รวมถึงน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขนส่ง ประกอบกับความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผักและผลไม้บางชนิด (ถั่วฝักยาว มะนาว ขิง ผักคะน้า กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง และลองกอง)

 

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนนี้เทียบกับเดือนที่ผ่านมา ลดลง 0.16% เป็นการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าครั้งแรกในรอบปี 2565 สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำมันพืช และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดบางชนิด (น้ำยารีดผ้า และน้ำยาล้างห้องน้ำ) สำหรับค่าเฉลี่ย 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ปี 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 5.89 (AoA) 

 

ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกรกฎาคม 2565 ปรับสูงขึ้น 12.2% ปรับสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า ตามต้นทุนการผลิต ทั้งราคาพลังงานและวัตถุดิบ ต้นทุนการนำเข้าจากการอ่อนค่าของเงินบาท และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 6.3% เนื่องจากต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และเงินบาทอ่อนค่า ประกอบกับการใช้วัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นไปตามแผน

 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.5 จากระดับ 44.3 ในเดือนก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและใน 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศ และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลง ขณะที่ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐ เป็นปัจจัยลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค 

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 4-5% (ค่ากลาง 4.5%) เป็นระหว่าง 5.5-6.5% (ค่ากลาง 6.0%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย

 

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า การปรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของ สนค. มีความสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันของไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว อุปสงค์ภายในประเทศ การส่งออก และราคาสินค้าเกษตร ในขณะที่ราคาพลังงานก็ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดย สนค. จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อของประเทศต่อไป

 

“ล่าสุดเรายังได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ติดตามสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันอย่างใกล้ชิด รวมถึงสถานการณ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเป็นคู่ค้าของไทย เพื่อประเมินผลกระทบต่อการค้า การส่งออก รวมถึงเงินเฟ้ออีกด้วย ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีการประชุมเพื่อพูดคุยกันในเรื่องนี้” รณรงค์กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X