คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ถือเป็นผู้ว่าการสาขา Fed รายล่าสุดที่ออกมายกมือสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนกันยายนนี้
โดยวอลเลอร์ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC แสดงจุดยืนสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีก 0.75% ในการประชุมเดือนกันยายนเพื่อดึงให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงไปสู่ระดับที่สามารถกดดันอุปสงค์ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- 10 อันดับ สกุลเงินเอเชีย ที่อ่อนค่าสูงสุดนับจากต้นปี 2565
ความเห็นของวอลเลอร์สอดคล้องกับความเห็นของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed และ เลล เบรนาร์ด รองประธาน Fed ที่ออกมากล่าวว่า ตนเองมีความแน่วแน่ในความพยายามที่จะลดอัตราเงินเฟ้อ
ความเห็นครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่ตลาดต่างจับตารอดูรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนสิงหาคมของสหรัฐฯ ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 13 กันยายนนี้ โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายในการบ่งชี้ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน
จุดยืนของวอลเลอร์ยังสอดคล้องกับความคาดหวังของตลาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานขึ้น 0.75% ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 และเป็นอัตราเร่งที่รวดเร็วที่สุดในการทำให้การเงินตึงตัว นับตั้งแต่ Fed เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักทางการเงิน นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990
ทั้งนี้ หาก Fed เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ก็จะทำให้ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3%-3.25% โดยวอลเลอร์กล่าวว่าหากอัตราเงินเฟ้อไม่ลดลงในช่วงที่เหลือของปี Fed อาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ‘สูงกว่า 4%’
ขณะเดียวกัน ทางวอลเลอร์ยังแนะนำให้ Fed เลี่ยงการให้ ‘แนวทางล่วงหน้า’ เกี่ยวกับเส้นทางในอนาคตที่ Fed จะมุ่งหน้าไป โดยเชื่อว่าคำแนะนำดังกล่าวจะมีประโยชน์น้อยลง และการตัดสินใจในอนาคตเกี่ยวกับขนาดของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมและปลายทางของอัตรานโยบายในรอบนี้ควรกำหนดโดยข้อมูลที่เข้ามาและนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น
วันเดียวกัน สำนักข่าว AP เปิดเผยรายงานพิเศษ ระบุถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กทั่วประเทศ ไม่เหลือทางเลือกอื่นใดนอกจากการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อหวังบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี แต่การดำเนินการดังกล่าวก็เป็นเสมือนดาบสองคม เพราะแม้จะช่วยบรรเทาภาระต้นทุน แต่กลับเป็นการบั่นทอนรายได้ของธุรกิจ เพราะบรรดาผู้บริโภคก็หันมาลดการบริโภคของตนเองแทน
ทั้งนี้ ผลการสำรวจของกิจการขนาดเล็กกว่า 1,500 แห่งทั่วสหรัฐฯ โดย Goldman Sachs พบว่า 97% ของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กกล่าวว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเท่าเดิมหรือแย่กว่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว และ 65% ได้ขึ้นราคาเพื่อชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว โดยในจำนวนดังกล่าว 38% ยอมรับว่าหลังจากขึ้นราคาก็เห็นความต้องการของลูกค้าลดลง
รายงานระบุว่า เจ้าของร้านคาเฟ่เห็นลูกค้าลดการซื้อกาแฟจากที่เคยซื้อทุกวัน กลายเป็นสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยลูกค้าบางรายยอมรับว่ากำลังพิจารณาชื้อเครื่องทำกาแฟมาชงกินเองที่บ้าน ขณะที่ผู้ให้บริการซ่อมรถระบุว่าลูกค้าส่วนหนึ่งชะลอการใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น การตรวจเช็กสภาพรถ หรือการเปลี่ยนยางรถยนต์ใหม่
ด้าน Walmart กล่าวว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยต่างให้น้ำหนักความสำคัญไปที่การใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารมากขึ้น และลดการใช้จ่ายในสินค้าส่วนอื่นๆ ลง และเลือกที่จะหาซื้อสินค้าในกลุ่มประเภทเดียวกันที่ราคาถูกว่า
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/09/09/feds-waller-sees-significant-rate-hike-this-month-backs-data-dependent-approach.html
- https://apnews.com/article/inflation-new-york-small-business-d4204d27e692fe9673175f9cb2f03796
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP