×

‘เงินเฟ้อ’ กดดันตลาดหุ้นเอเชียร่วงหนัก ส่วนดัชนี SET อ่อนตัวเล็กน้อย นักวิเคราะห์แนะเลือกกลุ่มที่ปรับราคาสินค้าขึ้นได้

11.05.2021
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

ความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อกลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นอีกครั้ง โดยช่วงเช้าวันนี้ (11 พฤษภาคม) จะเห็นว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในเอเชียต่างปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้า โดยเฉพาะตลาดหุ้นในฝั่งเอเชียเหนือ อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ซึ่งลดลง 2-3% สอดคล้องกับดัชนี Nasdaq วันก่อนหน้า ซึ่งปรับตัวลงกว่า 2% 

 

Bloomberg รายงานว่า ตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงสัญญาฟิวเจอร์สของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงในช่วงเช้านี้ หลังจากที่ความกังวลในเรื่องของเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ถูกเทขายออกมา

 

สำหรับความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ ไต้หวัน -3.79% ญี่ปุ่น -3.08% ฮ่องกง -2.22% เกาหลีใต้ -1.23% อินโดนีเซีย -0.63% ส่วนตลาดหุ้นไทย -0.58% ปิดที่ 1,578.93 จุด ขณะที่ตลาดหุ้นจีน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สามารถยืนในแดนบวกได้เล็กน้อย

 

ในมุมของ สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านต้นทุน และอุปทานพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขาดดุลทางการคลัง ส่งผลให้เราปรับลดเป้าหมายของดัชนี SET ช่วง 12 เดือนข้างหน้า ลงจาก 1,610 จุด มาอยู่ที่ 1,575 จุด 

 

ในระยะสั้นอัปไซด์ของตลาดจะถูกจำกัดจากบอนด์ยีลด์ที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาชดเชยผลกระทบจากอัตราคิดลดที่สูงขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นถือเป็นเรื่องปกติในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว และเราคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยังไม่ดำเนินการใดๆ กับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จนกว่าตลาดการจ้างงานจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 

 

ในแง่ผลกระทบต่อหุ้นในตลาด ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นๆ จะมีความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด เพราะล่าสุดจะเห็นว่าดัชนีราคาผู้ผลิตปรับเพิ่มขึ้นมา 4-5% จากปีก่อน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 2-3% 

 

“เงินเฟ้อที่สูงขึ้นขณะนี้กระทบด้านต้นทุนการผลิตเป็นหลัก ขณะที่ฝั่งอุปสงค์ยังกระทบไม่มากนัก สำหรับบริษัทที่ปรับราคาขายขึ้นได้ เช่น KCE หรือบริษัทในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับบางบริษัท เช่น CBG ซึ่งราคาสินค้ายังคงเท่าเดิม แต่ต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนกระป๋อง น้ำตาล และบรรจุภัณฑ์ บริษัทหลักนี้จะได้รับผลกระทบมากกว่า” 

 

ทั้งนี้กลุ่มหุ้นหลักที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก การเงิน ปิโตรเคมี สถานีบริการน้ำมัน ผู้รับเหมาก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานดั้งเดิม อิเล็กทรอนิกส์ ขนส่ง อาหารและเครื่องดื่ม ปศุสัตว์ กองรีท และสื่อสาร 

 

ส่วนกลุ่มหุ้นหลักที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่ ธนาคาร ประกันชีวิต พลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ นิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ค้าปลีก และขนส่งมวลชน 

 

“กลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เหล่านี้เป็นภาพกว้าง ซึ่งนักลงทุนต้องพิจารณาในรายละเอียดของแต่ละบริษัทอีกครั้งว่ามีความสามารถในการขยับราคาสินค้าตามได้หรือไม่”

 

ผลกระทบจากเงินเฟ้อต่อหุ้นกลุ่มต่างๆ 

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า จากมุมมองของ Fed และธนาคารกลางแห่งประเทศไทยมองไปในทิศทางเดียวกันว่าดัชนีราคาผู้บริโภคช่วงไตรมาส 2 จะปรับขึ้นแน่นอน ส่วนหนึ่งเพราะฐานต่ำเมื่อปีก่อน ซึ่งคาดการณ์ในขณะนี้น่าจะเห็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น 3.6% จากปีก่อน

 

ความกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อและบอนด์ยีลด์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงมาก่อน สะท้อนจากดัชนี Nasdaq ที่ปรับลดลงมาก่อน แต่ขณะเดียวกันจะเห็นว่าดัชนี Dow Jones กลับแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนว่าหุ้นกลุ่ม Value มีความทนทานต่อภาวะเงินเฟ้อค่อนข้างมาก 

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยซึ่งมีหุ้นในกลุ่ม Value รวมถึงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ค่อนข้างมาก มีโอกาสจะได้อานิสงส์หลังจากนี้ โดยเฉพาะหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจโลก แบ่งเป็นกลุ่มส่งออกและกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ 

 

“เชื่อว่าหุ้นกลุ่ม Global Play จะโดดเด่นในระยะสั้น ส่วนแนวโน้มหลังจากนั้นต้องติดตามว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ หลังจากที่ผ่านช่วงของการเร่งเติมสต๊อกสินค้าไปแล้ว”

 

ขณะเดียวกันต้องติดตามว่าเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้าก่อนหน้านี้จะมีทิศทางอย่างไรในระยะถัดไป หากสถานการณ์ในประเทศยังไม่ดีขึ้น วัคซีนกระจายได้ช้า และยังเปิดประเทศได้ช้า เชื่อว่าหุ้นอิงกับเศรษฐกิจโลกจะยังโดดเด่นต่อไป แต่ถ้าภาพกลับกัน หุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศจะเริ่มกลับมาโดดเด่น หลังจากที่ราคาหุ้นเหล่านี้ลดลงมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างถูก

 

“เรายังคงประเมินเป้าหมายดัชนีที่ 1,600 จุดเท่าเดิม โดยมีกรอบการเคลื่อนไหว 1,550-1,650 จุด หากเป็นช่วงที่ดัชนีต่ำกว่า 1,600 จุด ฝั่งอัปไซด์จะเป็นต่อ แต่ถ้าดัชนีสูงกว่า 1,600 จุด ฝั่งดาวน์ไซด์จะเป็นต่อ” 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising