×

เปิดความท้าทายแบงก์ชาติยุค ‘เงินเฟ้อแรง-หนี้สูง’ กูรูแนะเชื่อข้อมูลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้จินตนาการ-ความเป็นมนุษย์ ประเมินสถานการณ์ด้วย

03.10.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

ไม่มีใครคาดคิดว่าการระบาดของโรคโควิดจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเคยอยู่ในระดับต่ำจนเป็นปัญหา กลับมาแผลงฤทธิ์อีกครั้ง ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบไม่ทันตั้งตัว เพื่อกำราบเงินเฟ้อไม่ให้เร่งตัวไปมากกว่านี้จนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเรื่อยๆ อาจเพิ่มต้นทุนให้ภาคธุรกิจ ลดทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนได้ 

 

ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือ ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์และวางแผนใช้นโยบายและเครื่องมือที่ถูกต้องและเหมาะสม


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

โดยบนเวที ‘เมื่อโลกหมุนไว: นโยบายการเงินกับการปรับตัวต่อความท้าทายใหม่’ ในงาน BOT Symposium 2022 ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำว่า เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในอนาคต ธนาคารกลางควรใช้ ‘จิตนาการ’ และ ‘ความเป็นมนุษย์’ ในการคาดการณ์ (Forecast) มากขึ้น แทนที่จะใช้ข้อมูลและโมเดลต่างๆ อย่างเดียว นอกจากนี้ ยังควรมีแผนสอง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

 

ภาวะเงินเฟ้อสูง การเติบโตเศรษฐกิจต่ำ: ความท้าทายใหม่ของแบงก์ชาติ

นนท์ พฤกษ์ศิริ และ ขวัญรวี ยงต้นสกุล เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า หัวใจของการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ยังคงเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายต่างๆ (Trade-Off) ทั้งเงินเฟ้อ การเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน

 

“การชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจคือสิ่งที่ ธปท. กำลังเผชิญ เพราะนโยบายการเงินทำงานผ่านช่องทางอุปสงค์ ทำให้บางครั้งผลกระทบของนโยบายการเงินต่อสองเป้าหมายนี้จึงสวนทางกัน การชั่งน้ำหนักดังกล่าวจึงมีความยากมากขึ้น” ขวัญรวีกล่าว

 

โดยจะเห็นได้ว่าก่อนการระบาดของโรคโควิด อัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ แต่เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ อัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างหนัก ทำให้ไม่มีการพูดถึงนโยบายการเงินมากนัก

 

แต่เมื่อการระบาดใหญ่สิ้นสุด อัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งสูงขึ้น ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยการเคลื่อนไหวที่สวนทางกันนี้ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินกลายเป็นที่สนใจมากขึ้นและท้าทายมากขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อในระยะสั้นส่วนใหญ่มาจากปัจจัยด้านอุปทาน และขับเคลื่อนโดยปัจจัยต่างประเทศ

 

ขณะที่พลวัตของเงินเฟ้อกำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างต่างๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกระแสโลกาภิวัตน์​ ในอนาคตเงินเฟ้อก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ และ Digitalization

 

แบงก์ชาติควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะสั้น กลาง หรือยาว?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจในระยะสั้น เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

 

ตัวอย่างเช่น การใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ จะทำให้การปล่อยสินเชื่อเติบโต เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การใช้ดอกเบี้ยต่ำนานเกินไปอาจสร้างความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นได้

 

ดังนั้น การชั่งน้ำหนักระหว่างการบรรลุเป้าหมายในปัจจุบันกับผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต (Intertemporal Trade-Off) ในปัจจุบันมีความท้าทายขึ้น เนื่องจากระดับหนี้ในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยอยู่ในระดับสูง

 

นอกจากนี้ ในอนาคตความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินอาจเพิ่มขึ้นอีก โดยจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาภาคการเงินไทยเติบโตขึ้น ทั้งตลาดทุน ภาคธนาคาร และนอกภาคธนาคาร และเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจจริง (Real Sector) มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ภาคการเงินประสบปัญหาก็อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงมากขึ้น

 

ตามข้อมูลจากเครดิตบูโร ประเทศไทย ยังระบุว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นเรื่อยๆ และสัดส่วนของประชากรที่เป็นหนี้ในแต่ละช่วงอายุก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางต้องให้ความสำคัญกับ Intertemporal Trade-Off เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

แนวทางดำเนินโยบายของแบงก์ชาติท่ามกลางความท้าทายต่างๆ

นนท์และขวัญรวีสรุปว่า ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ พร้อมๆ กับการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงิน กรอบนโยบายที่เหมาะสมและพร้อมที่จะรับมือกับผลกระทบที่ไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าควรจะมีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ การคิดให้รอบด้าน พร้อมกับมองเศรษฐกิจและนโยบายเป็นองค์รวมมากขึ้น, การมองภาพในระยะปานกลางเพิ่มขึ้น และการตอบสนองอย่างสมดุล และให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถทางนโยบายเพิ่ม (Policy Buffer)

 

แบงก์ชาติควรใช้ ‘จิตนาการ’ และ ‘ความเป็นมนุษย์’ มากขึ้นในการคาดการณ์ต่างๆ

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ชี้ให้เห็นว่า การมีโมเดลและข้อมูลที่ดีขึ้นอาจไม่สามารถจะช่วยแก้ปัญหาการประมาณการที่ผิดพลาดได้ โดยแนะว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาควรเริ่มจากการจัดคณะทำงาน โดยต้องมีบางคนคิดต่างหรือฉีกออกไปบ้าง เพื่อแก้ไขธรรมชาติของมนุษย์ที่พลาดไป

 

“ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งมีข้อมูลและโมเดลการคาดการณ์ที่สมบูรณ์แบบมากแล้ว แต่ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของ Fed ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากต้นปีถึงปลายปี ชี้ให้เห็นว่ามีบางอย่างกำลังผิดพลาด ส่วนหนึ่งอาจมาจากข้อมูลและโมเดล แต่ผมมองว่าอีกด้านหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ ธรรมชาติมนุษย์ (Human Nature)”

 

แบงก์ชาติควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายอันตรายแทนโฟกัสทุกจุด

นอกจากนี้ ดร.พชรพจน์ ยังแนะให้ธนาคารกลางหันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่อันตรายเป็นพิเศษ แทนที่จะให้ความสำคัญกับเป้าหมายทุกประการ ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้

 

“ถ้ายอมรับว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่เงินเฟ้อเริ่มกลับมามีความอันตรายและยากจะควบคุม การที่เรามีเป้าหมายหลายอย่างอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ 

 

โดยจะเห็นได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการเงินเยอะ เช่น หนี้ครัวเรือน เป็นต้น จุดนี้จึงจะเป็นการเพิ่มความกดดันให้กับธนาคารกลางมากไปหรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไป” ดร.พชรพจน์กล่าว

 

แบงก์ชาติควรยืดหยุ่น มีแผนสอง และมี Robust Policy

ขณะที่ ดร.ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล Principal Economist Bank of International Settlements แนะว่า ธนาคารกลางควรมีความยืดหยุ่น มีแผนสองหากสถานการณ์ไม่ดำเนินไปตามที่คิด และสร้างนโยบายที่เหมาะสมสำหรับทุกสถานการณ์

 

ประเด็นแรก ผู้ดำเนินนโยบายควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือกรอบการดำเนินนโยบายที่มากเกินไป เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระยะข้างหน้า พูดง่ายๆ คือ ถ้าเรามีอุปกรณ์จำกัดแต่ทุ่มลงไปหมดกับสิ่งที่เกิดขึ้นข้างหน้า อาจเปิดช่องให้เกิดความเสี่ยงด้านอื่นๆ ดังนั้น ความยืดหยุ่น (Flexibility) จึงมีความสำคัญ

 

ประเด็นที่ 2 ธนาคารกลางควรคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบเป็นระบบมากขึ้น เพื่อวางกลยุทธ์นโยบายการเงินหรือนโยบายเศรษฐกิจทั่วไป โดยการไม่ยึดติดกับกรอบที่มองความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และต้องทำ Stress Test ตลอดว่าจะเกิดอะไรถ้าเราคิดผิด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีแผนสอง ในกรณีที่รู้ว่าคิดผิด และแผนนั้นควรจะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ควรมีการสื่อสารแผนสองกับเอกชนด้วย 

 

ประเด็นที่ 3 ใน Decision Theory และ Game Theory มีสิ่งที่เรียกว่า Robust Policy ซึ่งผมเรียกว่านโยบายสะเทินน้ําสะเทินบก กล่าวคือ เป็นนโยบายที่เหมาะสมสำหรับทุกสถานการณ์ โดยถึงจะเกิดวิกฤตใดๆ นโยบายนี้อาจจะไม่ได้ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่แย่มากนัก

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising