หนึ่งในธีมการลงทุนที่สำคัญของปีนี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งหลายคนก็น่าจะได้สัมผัสผ่านประสบการณ์ส่วนตัวกันมาบ้างแล้วจากราคาข้าวของที่มีราคาสูงขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อน
ในมุมของการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เรื่องของเงินเฟ้อก็ดูจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนของบางกลุ่มอุตสาหกรรมและผลักดันให้หุ้นในกลุ่มเหล่านี้กลายมาเป็น ‘หุ้นนำตลาด’ หรือหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ
หุ้นเหล็กแกร่งต่อเนื่องในต้นปี 2565
หากย้อนกลับไปดูผลตอบแทนของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเมื่อปีก่อน ‘หุ้นกลุ่มเหล็ก’ เป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่สุดถึง 80% หนุนจากราคาเหล็ก (Steel Rebar) ที่เพิ่มขึ้นจากราว 4,200 หยวนต่อตัน ไปถึงประมาณ 6,000 หยวนต่อตัน ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 ก่อนที่ในช่วงปลายปีราคาจะไหลกลับลงมาอยู่ในระดับ 4,700 หยวนต่อตัน ในปัจจุบัน
แม้ราคาเหล็กจะปรับตัวลงจากจุดสูงสุดกว่า 20% แต่ก็ยังสูงกว่าเท่าตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,000 หยวนต่อตัน จากราคาเหล็กที่ยังยืนอยู่ในระดับสูงทำให้ผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มเหล็กในช่วงต้นปีนี้ยังคงดีต่อเนื่อง โดยดัชนีกลุ่ม (ณ วันที่ 18 มกราคม 2565) เพิ่มขึ้น 8.93% สูงที่สุดในตลาด
สุรชัย ประมวลเจริญกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า ราคาเหล็กที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ทำให้กำไรของหุ้นเหล็กอย่าง TMT หรือ TSTH น่าจะหายไปพอสมควรในปีนี้ และด้วยราคาหุ้นในปัจจุบันที่สูงกว่าราคาพื้นฐาน ทำให้ไม่ได้แนะนำให้ซื้อหุ้นกลุ่มเหล็กในขณะนี้
ราคาน้ำมันทำนิวไฮรอบ 7 ปี
นอกจากราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นแล้ว ราคาน้ำมันก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนต์พุ่งแตะระดับ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำจุดสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 60% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา
ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้หุ้นในกลุ่มพลังงานของไทยเริ่มขยับขึ้นมาได้อย่างโดดเด่นในวันนี้ PTT ที่เพิ่มขึ้น 3% ส่วน PTTEP เพิ่มขึ้น 2% รวมถึงหุ้นโรงกลั่น อาทิ TOP, ESSO, SPRC ที่เพิ่มขึ้นราว 3-6%
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของกลุ่มพลังงานและโรงกลั่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้วิ่งตามราคาน้ำมันเท่าใดนัก
จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานไม่ได้ขยับตามราคาน้ำมันมาสักระยะหนึ่งแล้ว นับแต่ราคาน้ำมันขยับทะลุ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาหุ้นของ PTTEP ก็ยังแกว่งตัวในกรอบ 110-130 บาท ส่วน PTT ก็แกว่งอยู่ 36-40 บาท
เนื่องจากนักลงทุนหันไปสนใจธุรกิจที่อิงกับ ESG มากขึ้น ทำให้ภาพของนักลงทุนระยะยาวค่อยๆ ทยอยลดพอร์ตหุ้นที่อิงกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบดั้งเดิม และเพิ่มน้ำหนักหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกและยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
ส่วนราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นช่วงนี้เป็นผลจากปัจจัยมหภาค โดยเฉพาะเรื่องของ Asset Allocation มากกว่าเรื่องของ Demand และ Supply ที่เป็นพื้นฐานของราคาน้ำมัน
“ในปีนี้เอเจนซีส่วนใหญ่มองว่าน้ำมันจะมี Surplus แต่ภาคการเงินกำลังกลัวเรื่องของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้นักลงทุนเลือก Commodities เข้ามาป้องกันความเสี่ยง ซึ่งน้ำมันเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงสุด ทำให้ราคาโดดเด่นขึ้นมาในตอนนี้”
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงส่งผลให้พลังงานได้อานิสงส์ไปด้วย แต่เชื่อว่าในระยะกลางถึงยาว นักลงทุนจะยังลดสัดส่วนการถือครองหุ้นพลังงานอยู่ดี
ตอนนี้ตลาดคาดเดาว่าราคาน้ำมันจะไปแตะ 100 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นปกติของตลาดกระทิงที่มักจะปรับมุมมองขึ้นและละเลยข่าวลบไปหมด อย่างกรณีที่กลุ่มกบฏยิงขีปนาวุธเข้าไปใน UAE แต่เมื่อ 6 เดือนก่อนที่มีการยิงเข้าไปในซาอุดีอาระเบีย กลับไม่ได้นำมาเป็นประเด็นบวกต่อราคาน้ำมัน ตลาดตอนนี้เป็นเชิง Sentiment มากกว่า ซึ่งสุดท้ายคงจะหนี Fundamental ไม่ได้
“ช่วงไตรมาสแรกอาจเห็นราคาน้ำมันไปพีกที่ 90-100 ดอลลาร์ เป็นไปได้จากความเชื่อของตลาด แต่ส่วนตัวมองว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม สต๊อกน้ำมันจะเริ่มเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันน่าจะเริ่มอ่อนตัวลง”
สำหรับนักลงทุนระยะสั้นอาจจะเกาะไปกับเทรนด์ขาขึ้นของน้ำมันได้ แต่ในส่วนของนักลงทุนระยะยาวอาจจะใช้จังหวะนี้ในการลดพอร์ตหุ้นกลุ่มพลังงานดั้งเดิม และขยับไปหาหุ้นเทคโนโลยีที่อ่อนตัวลงมาในช่วงนี้
“จากการศึกษาความสัมพันธ์ในอดีต หากราคาน้ำมัน 100 ดอลลาร์ ราคาหุ้นของ PTTEP ควรจะ 150 บาท แต่เมื่อธีม ESG มา ทำให้เรตติ้งของ PTTEP น้อยลง เช่นเดียวกับถ่านหินที่ราคาทะลุ 200 ดอลลาร์ต่อตัน ราคาหุ้น BANPU ควรจะไปได้ถึง 30 บาท แต่ก็อยู่เพียง 11 บาทเท่านั้น”
กลุ่มโภคภัณฑ์อาจน่าสนใจแค่ระยะสั้น
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของ ‘โอมิครอน’ ตั้งแต่ปลายปีก่อน เป็นตัวจุดฉนวนรอบใหม่ของ Supply Disruption ให้กลับมาอีกครั้ง ทั้งผลจากการหยุดงานและการขนส่งที่ล่าช้าจนเกิดปัญหาคอขวดในฝั่ง Supply ทำให้กระบวนการผลิตช้าลง
ปัจจัยดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และดัชนีค่าระวางเรือเพิ่มขึ้นรอบใหม่ หนุนให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนราคาน้ำมันเป็นปัจจัยเฉพาะตัวมากกว่า ซึ่งดูจะไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานนัก แต่เป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า Supply จะตึงตัวในระยะสั้น
“เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นทีไร คนมักจะกลัวว่าต้นทุนการผลิตสินค้าจะเพิ่มขึ้น และในสัปดาห์นี้ก็จะเห็นว่าดัชนี Inflation Expectation ก็เพิ่มขึ้นสูง และส่งผลต่อบอนด์ยีลด์ให้เพิ่มขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ดี หากมองว่าการระบาดของโอมิครอนจะเป็นเพียงระยะสั้นและไม่มีระลอกถัดไป เงินที่พุ่งขึ้นก็อาจจะเป็นเพียงชั่วคราวหลังจากที่ปัญหา Supply Disruption เริ่มบรรเทาลง
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็น่าจะใกล้ผ่านจุดพีกแล้ว โดยเฉพาะต้นปีนี้หากเทียบกับปีก่อนก็ไม่น่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นที่สูงมาก เพราะฐานที่สูงในปีก่อน ขณะที่แนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็พร้อมจะทำทุกวิถีทางให้เงินเฟ้อชะลอลงมา
“การลงทุนในธีมเงินเฟ้อนี้คงจะขึ้นอยู่กับประเภทของนักลงทุน หากเป็นนักลงทุนระยะสั้นที่พร้อมรับความเสี่ยงสูงก็อาจจะเข้าลงทุนได้ แต่โดยส่วนตัวให้น้ำหนักว่าปัจจัยนี้น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราวมากกว่า”
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP