ในอดีตคนไทยมักคุ้นชินกับราคาสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในช่วงปีที่ผ่านมากลับพบว่า ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นมากจนกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่เผชิญบ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ราคาน้ำมัน อาหารสด และค่าไฟฟ้า ซึ่งการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมาทำให้เงินเฟ้อไทยแตะระดับสูงสุดที่เกือบ 8% ในเดือนสิงหาคม 2565 เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 14 ปี
ปรากฏการณ์เงินเฟ้อสูงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อโลกในปีก่อนหน้าที่เฉลี่ยสูงสุดเกือบ 9% ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อสูงทั่วโลกนั้นสร้างความท้าทายแก่การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเป็นอย่างมาก เนื่องจากเครื่องมือในการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งก็คือการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่สามารถที่จะไปแก้ไขต้นตอของปัญหาเงินเฟ้อสูงที่มาจากปัจจัยด้านอุปทานโลก (Global Supply Shocks) เช่น ปัญหา Supply Disruption และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อในหลายประเทศได้ผ่านจุดสูงสุดไปในช่วงปลายปีที่แล้ว และเริ่มปรับลดลงต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ทว่าการปรับลดของเงินเฟ้อในหลายประเทศยังคงน่ากังวล อาทิ เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกาลดลงช้ามาก และยังอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 8% คล้ายเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ที่เศรษฐกิจและตลาดแรงงานยังร้อนแรง ทำให้เงินเฟ้อสูงนานกว่า 7%
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เงินเฟ้อไทยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% แล้ว และล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2566 อยู่ที่ 0.5% จากการทยอยคลี่คลายของปัจจัยด้านอุปทาน รวมถึงผลของมาตรการภาครัฐที่ส่งผลชั่วคราว แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ในไทยยังปรับลดลงช้า และมีระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีก่อนหน้าโควิดที่ประมาณ 1% ทั้งนี้ ล่าสุด กนง. ประเมินว่า Core Inflation ในปีหน้าจะทรงตัวและอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีนี้
การที่ Core Inflation ปรับลดลงช้า สะท้อนว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยที่มีความหนืด (Persistent) สอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อไทย (Trend Inflation) ในรูปที่ 1.1 ที่ประเมินด้วยวิธีทางเศรษฐมิติที่ยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน สะท้อนว่าในอนาคตยังมีความเสี่ยงเงินเฟ้อที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Core และ Trend Inflation ปรับลดลงช้า มาจากพัฒนาการของหมวดอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหาร (Food in core) ที่มีน้ำหนักค่อนข้างใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของหมวดเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งเป็นหมวดที่รวมอาหารที่รับประทานภายในและนอกบ้าน
โดยจากรูปที่ 1.2 จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของราคาสินค้าในหมวด Food in Core ถึงแม้ไม่ได้เร่งตัวเท่าในอดีต แต่ยังมีการเพิ่มขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงกว่าหมวดเงินเฟ้อพื้นฐานอื่นๆ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาการเร่งขึ้นของราคาสินค้าในหมวด Food in Core เป็นผลมาจากการส่งผ่านต้นทุน โดยเฉพาะราคาอาหารสดที่สูงขึ้นเป็นหลัก เช่น ราคาเนื้อสุกรที่แพงขึ้นถึง 27% ในเดือนมกราคม 2565 จากโรคระบาดหมู ASF ในไทย
ดังนั้นหากในระยะต่อไปราคาอาหารสดปรับสูงขึ้นอีกจากปัจจัยที่เป็น Shocks ใหม่ อาทิ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้และปีถัดๆ ไป เงินเฟ้อในหมวด Food in Core นั้นจึงไม่น่าปรับลดลงได้อย่างรวดเร็วเท่าไรนัก
หมายเหตุ: แนวโน้มเงินเฟ้อ (รูปซ้าย) ประเมินผ่านวิธี
Multivariate Unobserved Components with Stochastic Volatility Outlier-Adjustment (MUCSVO) Model ตาม Stock and Watson (2016)
โดยใช้ข้อมูลเงินเฟ้อไทยระดับย่อย 10 หมวดสินค้า รายเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 – เมษายน 2566
สำหรับ Inflation Trend (รูปขวา) ใช้ข้อมูลเงินเฟ้อไทยระดับย่อย 7 หมวดสินค้า เพื่อให้สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบของแนวโน้มเงินเฟ้อระหว่างสินค้าในเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Goods) อาหารอื่นๆ (Food in Core) และภาคบริการในเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Services)
ทั้งนี้ ตัวเลขในวงเล็บแสดงสัดส่วนสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยตั้งแต่เดือนมกราคม 2544 – เมษายน 2566
(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน Manopimoke and Pattararangrong, 2023)
อ้างอิง: กระทรวงพาณิชย์ และการคำนวณของผู้เขียน
เงินเฟ้อไทยในระยะข้างหน้ายังคงมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ (Demand-Pull Inflation) ซึ่ง Demand-Pull Inflation เป็นความเสี่ยงที่น่ากังวล เพราะอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อต่อการปรับราคาสินค้าและบริการในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเงินเฟ้อที่ยากจะเอาลง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศเผชิญกับ Demand-Pull Inflation จากสภาพเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและตลาดแรงงานที่ตึงตัวในช่วงที่ผ่านมา เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร เงินเฟ้อในประเทศเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ธนาคารกลางได้ใช้ยาแรงโดยการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับประเทศไทย Demand-Pull Inflation ในช่วงที่ผ่านมา มีจำกัดตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้าจากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมีแรงส่งจากการบริโภคของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว กลายเป็นความเสี่ยงด้านอุปสงค์ที่จะทยอยเพิ่มขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวยังอาจเอื้อให้มีการส่งผ่านต้นทุนที่ผู้ประกอบการได้อั้นไว้ในช่วงก่อนหน้าได้ง่ายขึ้น
ซึ่งจากรูปที่ 1.2 จะเห็นได้ว่า ขณะนี้การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มสะท้อนผ่านแนวโน้มเงินเฟ้อของภาคบริการที่ยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความเสี่ยงเงินเฟ้อจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ในปีหน้าเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ เพราะในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 หลายพรรคการเมืองได้มีการนำเสนอนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรัฐสวัสดิการหรือเงินดิจิทัล ซึ่งหากทำสำเร็จอาจไปกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน จนเกิดเป็นแรงกดดันต่อราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง โดยมาเสริม Demand-Pull Inflation ที่อาจมาพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่แล้วในปีหน้า
นอกจากนี้หลายฝ่ายยังกังวลว่า นโยบายการปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปีหน้าจะเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติดผ่านกลไก Wage-Price Spiral เพราะทางทฤษฎีแล้ว หากต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้นส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการได้จริง แรงงานอาจมีการต่อรองค่าจ้างอีกระลอกจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ด้วยโครงสร้างเฉพาะของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน เช่น ต้นทุนแรงงานที่มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยของต้นทุนในการผลิตทั้งหมด ตลาดแรงงานไทยที่มีความยืดหยุ่นสูงจากแรงงานนอกระบบ รวมถึงสัดส่วนแรงงานในระบบที่มีเพียงประมาณครึ่งเดียวของแรงงานทั้งประเทศ อาจช่วยลดทอนความเสี่ยงนี้ได้บ้าง
และหลายฝ่ายยังมองว่า หากมีการปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจริง ภาคธุรกิจน่าจะมีการปรับตัวบ้าง เช่น หันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงอาจได้รับมาตรการเยียวยาจากภาครัฐเพื่อลดทอนผลกระทบ
ดังนั้นถึงแม้มาตรการภาครัฐจะเพิ่มความเสี่ยงของเงินเฟ้อในปีหน้า แต่ขนาดและเงื่อนเวลาของการเกิดผลกระทบก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง
สุดท้ายแล้วต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจโลกตอนนี้ยังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ New Normal, ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ที่เข้มข้นขึ้น, การเผชิญกับปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Green Economy รวมถึงการเร่งขึ้นของการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เงินเฟ้อโลกสูงและผันผวนขึ้นในระยะต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นแม้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะลดลงแล้ว แต่เราก็ยังไม่ควรเบาใจกับพัฒนาการของเงินเฟ้อ โดยต้องติดตามทั้งผลกระทบจากปัจจัยโลก รวมถึงปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย