×

พิษ เงินเฟ้อ พุ่งแรง ฉุดรั้งเศรษฐกิจเอเชียเดินเข้าสู่ภาวะซบเซา

05.08.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ประเทศในภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซา จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น
  • เศรษฐกิจของประเทศจีนเกิดการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่สอง เนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID)
  • ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ส่วนใหญ่ในเอเชีย กำลังประสบปัญหาเงินทุนไหลออก จากภาวะการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
  • ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่เพิ่มขึ้น และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน จากการแผ่ขยายของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ปัจจุบันเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังเผชิญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาจากแรงกดดัน เงินเฟ้อ ที่กำลังเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้สถานการณ์การระบาดทั่วโลกทยอยคลี่คลาย

 

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางในหลายประเทศจึงเริ่มใช้มาตรการรับมือกับสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี อย่างเช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น และเงินทุนไหลออก

 

การที่รัสเซียส่งกองกำลังทหารรุกรานยูเครน ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกชะลอตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกลงเหลือ 4.2% ในปี 2022 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.9% และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2023 ลงเหลือ 4.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 5.1% 

 

ความเสี่ยงที่ IMF ให้ความสำคัญในการคาดการณ์เดือนเมษายน คือการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการชะลอตัวของจีน

 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนรุนแรงขึ้น

ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย มีการชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสที่สอง เนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ที่กระตุ้นการล็อกดาวน์สำหรับเมืองใหญ่และศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทาน ดังนั้น การคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนทั้งปี 2022 ของ IMF จึงปรับลดลงเหลือ 3.3% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.4% และคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 4.6% ในปีหน้า

 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลงดังกล่าว สะท้อนถึงการตกต่ำที่ยืดเยื้อและรุนแรงในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มว่าจะเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังคู่ค้าของจีนในภูมิภาค นั่นก็คือ ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งเป็นสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ที่มีส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเนื่องจากอุปสงค์ในต่างประเทศที่อ่อนแรงลง รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นทั่วโลก

 

แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา แต่สัญญาณการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เกิดขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดด้านโรคระบาดเกี่ยวกับการเดินทางกำลังค่อยๆ ผ่อนคลายลง ความยืดหยุ่นของการผลิตและการฟื้นตัวของธุรกิจการท่องเที่ยว กำลังสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในประเทศมาเลเซีย ไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

 

ภาวะการเงินตึงตัว

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ส่วนใหญ่ในเอเชีย ยกเว้นจีน ประสบปัญหาเงินทุนไหลออก เทียบได้กับในปี 2013 เมื่อ Fed บอกเป็นนัยว่าอาจลดการซื้อพันธบัตรเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การไหลออกมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษสำหรับอินเดีย เท่ากับ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครน การไหลออกยังเกิดขึ้นจากเศรษฐกิจเอเชียที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เกาหลี และไต้หวัน เนื่องจากสัญญาณของ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างจีนและไต้หวัน ทวีความร้อนแรงตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา 

 

เงินเฟ้อ

 

ส่วนแบ่งหนี้ทั่วโลกของเอเชียเพิ่มขึ้นจาก 25% ก่อนเกิดวิกฤตการเงินโลกเป็น 38% หลังวิกฤตโควิด ซึ่งทำให้ภูมิภาคมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาวะทางการเงินทั่วโลก ศรีลังกาเป็นกรณีสุดโต่งจากกรณีผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรก หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 70 ปี 

 

การแผ่ขยายของสงคราม

การแผ่ขยายของสงครามนำไปสู่ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าที่เพิ่มขึ้น และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน คาดว่าจะชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้เกิดผลกระทบจากการระบาดใหญ่ในเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้รับผลประโยชน์ที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษของการค้าโลกและภาคการเงิน

 

ในขณะที่การเติบโตลดลง ความกดดันด้านเงินเฟ้อในเอเชียก็เพิ่มสูงขึ้น โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและเชื้อเพลิงทั่วโลก อันเป็นผลจากสงครามและการคว่ำบาตรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทบต่อคนยากจนและกลุ่มเปราะบางที่สุด และเพิ่มโอกาสของความไม่สงบทางสังคม ดังที่เห็นในศรีลังกาและในประเทศอื่นๆ

 

เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

ถึงแม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของภูมิภาคเอเชีย ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แต่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศได้เคลื่อนไหวเหนือเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชีย

 

เงินเฟ้อ

 

การสนับสนุนด้านนโยบายการคลัง

นโยบายการคลังจะต้องเข้มงวดขึ้นในประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับระดับหนี้ที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมความพยายามทางการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการแจกจ่ายงบประมาณแบบเฉพาะเจาะจงและแบบชั่วคราว เพื่อสนับสนุนผู้เปราะบางที่ต้องเผชิญกับภาวะพลังงาน หรือราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

 

การสนับสนุนทางการเงินส่วนใหญ่มักจะมาจากงบประมาณ โดยได้รับทุนจากการเพิ่มรายได้ใหม่หรือการปรับงบประมาณใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มหนี้หรือการทำงานที่ขัดต่อนโยบายการเงิน ยกเว้นจีนและญี่ปุ่น หากนโยบายการคลังระยะกลางยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

 

นอกเหนือจากนี้ แนวทางความร่วมมือระดับสากลและระดับภูมิภาคที่ลดความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ช่วยลดข้อจำกัดทางการค้าที่สร้างความเสียหาย และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุด มีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มผลิตภาพและปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของผู้คน การปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ควรตั้งเป้าที่จะเพิ่มอุปทานโดยรวมเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น จัดการกับความท้าทายในระยะยาว เช่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในทุนมนุษย์ ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

 

ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อขยายไปสู่ราคาหลัก ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนมากขึ้น เพื่อป้องกันการคาดการณ์เงินเฟ้อและค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่อมาจะต้องมีการปรับขึ้นราคามากขึ้น หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไข

 

อย่างไรก็ตาม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบไปยังผู้บริโภค บริษัท และรัฐบาล ที่ต้องรับภาระหนี้จำนวนมากในช่วงการระบาดใหญ่ ดังนั้น ประเทศต่างๆ ไม่ควรรอจนกว่าจะสายเกินไป การดำเนินนโยบายการเงินหลังจากนี้ จึงควรผสมผสานนโยบายให้เหมาะกับพื้นฐานของเศรษฐกิจภายในประเทศ และหาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังอ่อนแอ และมีความเสี่ยงกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อควบคู่กันไป

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X