เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (6 กุมภาพันธ์) คณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) มีมติเห็นชอบ 3 มาตรการพิเศษ เพื่อเร่งรัดการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ได้แก่
1. มาตรการกระตุ้นการลงทุนสำหรับโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมและบริการ โดยผู้ประกอบการสามารถลงทุนได้ทุกพื้นที่ และจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 50% เพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 5 ปี หากลงทุนจริงไม่ต่ำกว่า 500 ภายในปี 2563 หรือหากลงทุนจริงไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ภายในปี 2564 (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
2. มาตรการส่งเสริม SMEs เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงการใช้สิทธิประโยชน์ของ BOI ได้ง่ายขึ้น กรณีที่มีการจัดการตั้งกิจการในเขตอุตสาหกรรมจะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี หากจัดตั้งกิจการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้รับวงเงินยกเว้นภาษีฯ ในสัดส่วน 200% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)
3. การปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก โดยหากมีการลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก จะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมในสัดส่วน 120% ของเงินสนับสนุน
ซึ่ง 3 มาตรการพิเศษดังกล่าวเป็นมาตรการเพิ่มเติมจากการส่งเสริมการลงทุน ‘ไทยแลนด์พลัส’ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ
กระทบอย่างไร:
ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ปรับขึ้น
- บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ปรับขึ้น 1.2%DoD
- บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ปรับขึ้น 1%DoD
- บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า
สำหรับวันนี้ ราคาหุ้นทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวไม่มากนักตามทิศทางตลาดหุ้นไทย เนื่องจากตลาดกำลังจับตาการวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ ปี 2563 ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
มุมมองระยะสั้น:
SCBS เชื่อว่า ในระยะสั้น มาตรการนี้จะช่วยเร่งการตัดสินใจของนักลงทุนในการลงทุนสร้างฐานการผลิตมากขึ้น ซึ่งจะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมได้ในระยะสั้น
ทั้งนี้ ต้องติดตามจำนวนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นตัวชี้นำด้านความต้องการอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมยังเผชิญกับความเสี่ยงจากปัญหาการขาดน้ำประปา เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเนื่องด้วยปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ ต้องจับตาว่า ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมจะมีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอต่อความต้องการใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่า อุปสงค์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมในประเทศไทยจะมีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงเหตุการณ์ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักจากเหตุการณ์ไวรัสโคโรนา และความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะทำให้นักลงทุนต่างชาติใช้กลยุทธ์ ‘China Plus One’ เพื่อกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นนอกจากจีน ซึ่ง SCBS มองว่า ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมไทยจะได้อานิสงส์จากเหตุการณ์นี้