×

ส.อ.ท. ห่วง ‘บาทอ่อน’ ซ้ำเติมภาคธุรกิจ จี้ดูแลให้สอดคล้องภูมิภาค ส่วนดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งต่ำสุดรอบ 14 เดือน

09.08.2021
  • LOADING...
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า อยู่ที่ระดับ 78.9 ปรับลดลงจากระดับ 80.7 ในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเดือนที่ 4 และยังเป็นระดับต่ำสุดรอบ 14 เดือน

 

โดย สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลง เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดที่ยังไม่คลี่คลายและกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด และออกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานช่วงเวลา 21.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2564 

 

นอกจากนี้ยังจำกัดการเดินทางภายในประเทศ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) มากที่สุด

 

อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และยังส่งผลให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs และประชาชนมีรายได้ลดลง ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทำให้กำลังการผลิตลดลง เนื่องจากแรงงานต้องกักตัวทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งโรงงานบางแห่งต้องปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด นอกจากนี้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อย

 

สุพันธุ์กล่าวว่า ในส่วนของปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนดัชนีฯ ยังเป็นเรื่องของการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีฯ คำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีทิศทางที่ดีขึ้นจากสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ในตลาดต่างประเทศขยายตัว ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออกในเดือนนี้

 

ขณะที่เรื่องค่าเงินบาทนั้นควรมีทิศทางเดียวกับภูมิภาค หากมีความแตกต่างกันมากจะเกิดความเสียหาย ถึงแม้จะส่งออกได้มากขึ้น แต่จะมีปัญหาเรื่องต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร โดยค่าเงินบาทที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์น่าจะมีความเหมาะสมมากสุด

 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 89.3 จากระดับ 90.8 ในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลายโดยเฉพาะการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้จะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก 

 

นอกจากนี้ผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายเดือนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขณะที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังไม่แน่นอน เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาในหลายประเทศอาจส่งผลต่อกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

 

ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย

 

  1. เร่งการตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ

 

  1. ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิดในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ

 

  1. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการด้วยรูปแบบ Community Isolation ที่รับรองโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม

 

  1. เสนอให้ภาครัฐนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express: ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้ เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาด ลดการติดเชื้อและเสียชีวิต

 

  1. ให้ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

 

นายสุพันธุ์กล่าวด้วยว่า เท่าที่ ส.อ.ท. สำรวจพบว่า มีโรงงานอุตสาหกรรมเกือบพันแห่งมีผู้ติดเชื้อโควิด ดังนั้นโรงงานแต่ละแห่งจึงควรเร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อ และป้องกันการหยุดหรือปิดกิจการชั่วคราว

 

นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงกรณีเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วด้วยว่า กำลังซ้ำเติมภาคธุรกิจไทย เพราะเงินบาทที่อ่อนค่าเร็วทำให้บางธุรกิจปรับตัวไม่ทัน และภาคอุตสาหกรรมบางส่วนอาจต้องนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังไม่สร้างแรงจูงใจในการขยายการลงทุนในไทยด้วย ดังนั้นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ คือค่าเงินบาทที่สอดคล้องกับภูมิภาคและไม่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป 

 

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม สุพันธุ์กล่าวว่า ควรอยู่ที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ หากทะลุเกินกว่านี้อาจส่งผลกระทบมากขึ้น หรือถ้าจะอ่อนค่าสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค กรณีเหล่านี้ก็ไม่มีผลกระทบอะไร ทั้งนี้เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะดูแลเรื่องดังกล่าวได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising