×

มองอนาคตอินโดนีเซียใต้บังเหียนอดีตนายพลผู้ (เคย) มีเบื้องหลังดำมืด

15.02.2024
  • LOADING...

การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ที่แม้จะยังไม่ประกาศผลอย่างเป็นทางการ (คาดว่าอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์) ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า อินโดนีเซียกำลังจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อว่า ปราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายพลวัย 72 ปี และรัฐมนตรีกลาโหมในยุค โจโก วิโดโด ที่กำลังจะพ้นวาระหลังดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย

 

ชัยชนะของปราโบโวนั้นชัดเจน ด้วยคะแนนเสียงเกินกว่า 50% ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับ 2 และ 3 แบบขาดลอย

 

แต่ในความยินดีของผู้สนับสนุนเขาจำนวนมาก ก็มีความคลางแคลงใจจากชาวอินโดนีเซียไม่น้อยที่ยังไม่เชื่อมั่นในความสามารถและอดีตอันดำมืดของเขา จากประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในช่วงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพ ถึงขั้นที่หลายคนมองว่าเขาอาจเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ต่อเสรีภาพของชาวอินโดนีเซีย ที่ได้มาหลังการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีเผด็จการซูฮาร์โต พ่อตาของเขานั่นเอง

 

อนาคตของอินโดนีเซียในยุคปราโบโวจะเป็นไปในทิศทางใด และจะมีบทบาทหรือผลกระทบต่อโลกและต่อไทยในฐานะเพื่อนบ้านอาเซียนมากน้อยแค่ไหน THE STANDARD สรุปข้อมูลและความเห็นนักวิเคราะห์มาให้อ่านกัน

 

อดีตอันดำมืด

 

ก่อนจะถามถึงอนาคตของอินโดนีเซีย เราจะพาย้อนไปดูประวัติและตัวตน รวมถึงผลงานในอดีตของปราโบโวกันแบบคร่าวๆ 

 

ปราโบโว ซูเบียนโต เกิดเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 1951 ในครอบครัวชนชั้นนำ บิดาเป็นนักเศรษฐศาสตร์และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและการค้าในยุคซูฮาร์โต และปู่เป็นผู้ก่อตั้งธนาคาร Negara Indonesia ของรัฐ 

 

เขาเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหารปี 1970 รับใช้ชาติในหน่วยรบพิเศษปี 1976 และกลายเป็นผู้บัญชาการหน่วยคอมมานโดในติมอร์ตะวันออกในวัย 26 ปี

 

ในปี 1983 เขาเป็นผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษที่รับผิดชอบปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบในเมืองคราราสของติมอร์ตะวันออก ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กจำนวนมาก

 

ในปีเดียวกันนี้เอง เขาได้แต่งงานกับบุตรสาวคนที่ 2 ของซูฮาร์โต และกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการร่วมปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการเอกราชติมอร์ตะวันออก ซึ่งกองกำลังของเขามีการปฏิบัติการแบบไม่ปกตินัก เช่น การสวมหน้ากากและลงมือปฏิบัติการในเวลากลางคืน

 

ในปี 1998 ปราโบโวได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองบัญชาการกำลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของกองทัพบก (Kostrad) ที่มีกำลังพล 27,000 นาย

 

ขณะที่กองกำลังภายใต้บัญชาการของเขาได้ก่อเหตุลักพาตัวและทรมานนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างน้อย 9 คนในช่วงปี 1998 ก่อนจะเกิดเหตุประท้วงและการก่อจลาจลครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ซึ่งนำมาสู่การโค่นอำนาจเผด็จการซูฮาร์โต

 

โดยนักเคลื่อนไหวที่ถูกลักพาตัวส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัว แต่มี 13 คนที่หายสาบสูญ ซึ่งผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวและหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเขาสั่งการให้ลักพาตัว ทำให้ปราโบโวถูกไล่ออกจากกองทัพ และต้องลี้ภัยไปจอร์แดน รวมถึงถูกแบนไม่ให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ กว่า 20 ปี 

 

ปราโบโวเคยยอมรับและขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอ้างว่าปฏิบัติการลักพาตัวนั้นเป็นการทำตามคำสั่งและเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่ในฐานะทหาร และถือเป็นปฏิบัติการที่ถูกต้องตามกฎหมายในขณะนั้น แต่เขาปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่เกี่ยวข้องกับนักเคลื่อนไหวที่หายตัวไป

 

ชนะเพราะพลังเสียงคนหนุ่มสาว

 

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ปราโบโวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนับตั้งแต่ปี 2014 โดยชัยชนะของเขาที่ได้คะแนนเสียงเกิน 50% ทิ้งห่างคู่แข่งมากกว่าที่โพลหลายสำนักคาดการณ์ไว้ 

 

หลายฝ่ายจับตามองว่า คะแนนเสียงจากคนหนุ่มสาวนั้นมีผลสำคัญต่อชัยชนะของปราโบโว โดยในการเลือกตั้งรอบนี้มีประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนกว่า 204 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 52% ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ อายุต่ำกว่า 40 ปี และราว 1 ใน 3 อายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันวาเลนไทน์คาดว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนคนหนุ่มสาวออกไปใช้สิทธิจำนวนมากด้วย

 

ขณะที่กลยุทธ์ของเขา เช่น การดึง กิบรัน รากาบูมิง รากา นายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา และบุตรชายคนโตของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด วัย 36 ปี มาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดี ก็เป็นที่สนใจและน่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโจโกวีด้วยเช่นกัน

 

ก้าวต่อไปหลังชนะเลือกตั้ง

 

การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นที่ผ่านมาจะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งจะใช้เวลาราว 1 เดือนในการยืนยันผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

 

พิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของปราโบโวจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนในการเจรจาอย่างเข้มข้น เพื่อตัดสินใจว่าหน้าตาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปราโบโวจะออกมาอย่างไร

 

แต่ถึงแม้ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของปราโบโวจะชัดเจน แต่พรรคเกอรินดรา (Gerindra Party) ของเขานั้นชนะที่นั่งในสภาเพียง 13% ทำให้จำเป็นต้องชักชวนพรรคอื่นๆ ให้สนับสนุนรัฐบาลของเขา เพื่อให้มีเสียงข้างมากในสภาและเพื่อการผ่านกฎหมายและดำเนินนโยบายบริหารประเทศตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งอาจหมายถึงการเสนอสิ่งจูงใจในรูปแบบของตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี

 

รัฐบาลใหม่ ทิศทางเดิม

 

แน่นอนว่ารัฐบาลปราโบโวจะถูกเพ่งเล็งถึงผลงานและเปรียบเทียบกับผลงานรัฐบาลโจโกวี 

 

โดยในยุคโจโกวี เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองแบบผสมข้ามขั้ว มีการจับมือร่วมกันทำงานกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ทำให้ในสมัยสุดท้ายนี้เขาได้รับการสนับสนุนจาก สส. มากกว่า 80%

 

แนวทางของโจโกวีทำให้ความขัดแย้งในการเมืองอินโดนีเซียคลี่คลายลง และทำให้เขาสามารถผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่โตต่างๆ ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็น ‘การเมืองที่ไร้ฝ่ายค้าน’ ซึ่งไม่มีใครคัดค้านหรือท้าทายการบริหารงานของรัฐบาล

 

สำหรับปราโบโว ซึ่งมีบุคลิกแข็งกร้าวและไม่อ่อนน้อมเชื่อฟังใคร ยังไม่ชัดเจนว่าเขาจะบริหารประเทศและใช้การประสานความร่วมมือทางการเมืองแบบโจโกวีหรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ทิศทางในการบริหารงานของเขาไม่น่าจะแตกต่างจากรัฐบาลโจโกวีมากนัก

 

โดยท่าทีของปราโบโวที่ผ่านมา มีการให้สัญญาหลายครั้งว่าจะสานต่อนโยบายด้านการพัฒนาที่มุ่งเน้นโครงสร้างพื้นฐานเช่นเดียวกับโจโกวี

 

รศ.ดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญการเมืองอินโดนีเซีย มองว่า ปราโบโวน่าจะสานต่อนโยบายเดิมของโจโกวีที่มีอยู่ โดยเฉพาะนโยบายย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองนูซันตาราบนเกาะบอร์เนียว 

 

นอกจากนี้นโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านเศรษฐกิจก็เชื่อว่าจะมีความคล้ายกับแนวทางนโยบายรัฐบาลโจโกวี ซึ่งคาดว่าทั้งปราโบโวและโจโกวีจะมีข้อตกลงในหลายนโยบายที่วางไว้แล้ว

 

ส่วนข้อกังวลที่หลายฝ่ายกังวลว่า การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของปราโบโวจะทำให้เขามีการใช้อำนาจเกินขอบเขตเช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต พ่อตาของเขา หรือเปล่านั้น รศ.ดร.พรรณชฎา มองว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เนื่องจากทางฝ่ายโจโกวีน่าจะมีการรักษาสมดุลอำนาจ จากการที่บุตรชายของเขาได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ขณะที่ปราโบโวเองก็มีท่าทีอ่อนลงและเคยขอโทษต่อการกระทำของเขาในอดีต รวมทั้งอยากให้ประชาชนลืมอดีตของเขาไปเสีย 

 

ส่วนนโยบายความมั่นคงนั้นเธอเชื่อว่าอาจมีการปรับเปลี่ยน แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอินโดนีเซียมากนัก เนื่องจากหลายประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ก็น่าจะติดตามการดำเนินนโยบายของปราโบโวอย่างใกล้ชิด

 

อย่างไรก็ตาม ด้านความใกล้ชิดและสายสัมพันธ์ต่อมหาอำนาจ รศ.ดร.พรรณชฎา เชื่อว่า รัฐบาลของปราโบโวจะยังค่อนข้างใกล้ชิดและเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ มากกว่า แต่น่าจะไม่ทิ้งความสัมพันธ์กับจีน และน่าจะดำเนินนโยบายคล้ายกับโจโกวี 

 

ข้อครหาสานต่ออำนาจโจโกวี

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าประธานาธิบดีโจโกวีสนับสนุนบุตรชายของเขาและปราโบโวมากกว่า กันจาร์ ปราโนโว ผู้สมัครจากพรรค PDI-P ของเขาเอง

 

โดยก่อนการเลือกตั้งมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอสารคดีข่าวเชิงสืบสวนที่เรียกว่า Dirty Vote นำเสนอข้อมูลหลักฐานที่บ่งชี้ว่า โจโกวีนั้นใช้ทรัพยากรและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ ในการเอื้อประโยชน์ให้กับการสนับสนุนแคมเปญหาเสียงของบุตรชายและปราโบโว 

 

ซึ่งแม้ทำเนียบประธานาธิบดีและปราโบโวจะออกมาปฏิเสธ แต่ก็มีประชาชนบางส่วนไม่พอใจและจัดการประท้วงต่อต้านการกระทำของโจโกวี ที่ถือว่าแทรกแซงการเลือกตั้ง

 

กระแสวิจารณ์บางส่วนยังมองว่า โจโกวีมีแผนสืบทอดอำนาจให้บุตรชาย คนในครอบครัว และคนใกล้ชิดของตนเอง เข้าไปอยู่ในส่วนงานต่างๆ ของประเทศ โดยเฉพาะกิบรัน ซึ่งคาดว่าถูกวางตัวให้สืบต่ออำนาจจากบิดา ด้วยการเริ่มทำงานการเมืองตั้งแต่อายุเพียง 31 ปี โดยชนะเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตาตามรอยบิดาที่เคยดำรงตำแหน่งนี้ในอดีต 

 

ขณะที่เขายังสามารถลงสมัครชิงรองประธานาธิบดีได้ แม้จะเผชิญกระแสวิจารณ์ว่าอ่อนประสบการณ์ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งทั่วไปปี 2017 ของอินโดนีเซีย กำหนดให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือรองประธานาธิบดีต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี โดยศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียที่มีพี่เขยของโจโกวีเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้ยกเว้นข้อจำกัดดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของคนรุ่นใหม่

 

ซึ่ง รศ.ดร.พรรณชฎา มองว่า ท่าทีของโจโกวี ณ วันนี้เปลี่ยนไปจากในอดีตเมื่อครั้งลงสมัครเลือกตั้งสมัยแรก โดยความพยายามสืบทอดอำนาจของเขาอาจเป็นเพราะการอยู่ในอำนาจที่ยาวนานถึง 10 ปี ทำให้กลัวจะ ‘สูญเสียอำนาจ’ 

 

“ไม่ใช่แค่กิบรันคนเดียว ลูกชายอีกคนของโจโกวี (แกซัง ปานอาเรพ) ก็ถูกฝากให้ไปอยู่กับพรรค PSI ซึ่งเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ที่คล้ายกับพรรคก้าวไกล โดยพรรคนี้เมื่ออยู่นานๆ มีโอกาสโตสูงมาก” รศ.ดร.พรรณชฎา กล่าว และเชื่อว่า มีความเป็นไปได้มากที่โจโกวีจะสานต่ออำนาจผ่านสมาชิกครอบครัว ขณะที่ปราโบโวนั้นก็อายุมากแล้วและน่าจะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 1 สมัย

 

ผลกระทบเลือกตั้งอินโดนีเซียต่อไทยและโลก

 

อินโดนีเซีย ในฐานะประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ถือว่ามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งต่อสหรัฐฯ และจีน 

 

ในด้านเศรษฐกิจ อินโดนีเซียถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และนิกเกิล รายใหญ่ที่สุดของโลก และถือเป็นซัพพลายเออร์หรือผู้จัดหาสินค้าและวัตถุดิบรายใหญ่ที่มีความสำคัญต่อบริษัทต่างชาติหลายแห่ง 

 

นอกจากนี้ยังเป็นประเทศหมู่เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอีกด้วย

 

ในส่วนของไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ทางการทูตมาอย่างยาวนานถึง 74 ปี โดยรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของปราโบโวเชื่อว่าจะมีผลกระทบในแง่บวกต่อความร่วมมือด้านอื่นๆ รวมถึงเศรษฐกิจ การค้า และการส่งออก

 

รศ.ดร.พรรณชฎา เชื่อว่า การเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลปราโบโวนั้นน่าจะเอื้อต่อผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจระหว่างสองประเทศ และน่าจะสานต่อความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันที่ดำเนินมาด้วยดี โดยที่ผ่านมาบริษัทของไทยที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียก็ยังดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising