×

อีกกรณีศึกษา อินโดนีเซียแจงสาเหตุเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนวัยทำงานก่อนผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

05.01.2021
  • LOADING...
อีกกรณีศึกษา อินโดนีเซียแจงสาเหตุเตรียมฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้คนวัยทำงานก่อนผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง

รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมแจกจ่ายวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชน แต่แทนที่จะมุ่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนเหมือนกับประเทศอื่นๆ ทว่ารัฐบาลมีแผนจะฉีดให้กับประชากรวัยทำงานเป็นกลุ่มแรกๆ โดยหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

 

วัคซีนที่อินโดนีเซียเตรียมแจกจ่ายให้ประชาชนในเฟสแรก เป็นวัคซีนที่บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ของจีน เป็นผู้พัฒนา โดยรัฐบาลได้ทำข้อตกลงซื้อวัคซีน 125.5 ล้านโดสจากซิโนแวค ไบโอเทค และตอนนี้วัคซีนล็อตแรก 3 ล้านโดสได้มาถึงอินโดนีเซียแล้ว

 

การฉีดวัคซีนของอินโดนีเซียจะเริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการก่อน จากนั้นจะแจกจ่ายให้คนวัยทำงานอายุระหว่าง 18-59 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบที่แตกต่างจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่เน้นให้ความสำคัญกับผู้สูงวัยก่อน ทำให้เชื่อว่าจะถูกจับตาจากนานาประเทศเป็นพิเศษ 

 

ซิติ นาเดีย ทาร์มิซิ (Siti Nadia Tarmizi) เจ้าหน้าที่อาวุโส กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย ให้อีกเหตุผลที่ควรฉีดวัคซีนให้คนวัยทำงานก่อนว่า ยังมีข้อมูลไม่มากพอว่าวัคซีนของซิโนแวค ไบโอเทค จะใช้ได้ผลกับผู้สูงวัยมากแค่ไหน เพราะช่วงการทดลองฉีดวัคซีนในมนุษย์นั้นทดสอบในประชาชนอายุ 18-59 ปีเท่านั้น

 

ทั้งนี้ วัคซีนของ Pfizer-BioNTech ที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเริ่มแจกจ่ายให้ประชาชนนั้น แสดงผลต้านทานโควิด-19 ในประชากรทุกช่วงวัย รวมถึงผู้สูงอายุด้วย 

 

อินโดนีเซียได้จัดหาวัคซีนของ Pfizer-BioNTech เช่นกัน แต่คาดว่าจะเริ่มจัดส่งให้ได้ในไตรมาสที่ 3/21 ส่วนวัคซีนของ AstraZeneca ที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักรนั้น มีกำหนดส่งให้อินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2 

 

ปีเตอร์ โคลลิกนอน (Peter Collignon) ศาสตราจารย์ด้านโรคระบาดจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ยอมรับว่า “ไม่มีใครฟันธงได้ว่าวิธีไหนเป็นวิธีที่ถูกต้อง” และไม่แน่ว่ายุทธศาสตร์การแจกจ่ายวัคซีนของอินโดนีเซียอาจช่วยชะลอการระบาดของโรคได้จริง 

 

“วิธีการของรัฐบาลอินโดนีเซียที่แตกต่างจากสหรัฐฯ และยุโรป ถือว่าเป็นประโยชน์เชิงข้อมูล เพราะเราจะได้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่าง แต่เป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่นั้น ต้องรอดูต่อไป” 

 

ศาสตราจารย์ เดล ฟิชเชอร์ จากคณะเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า เขาเข้าใจถึงเหตุผลที่อินโดนีเซียเลือกวิธีนี้ เพราะ “คนวัยทำงานมีกิจกรรมมากกว่า เข้าสังคมมากกว่า และเดินทางบ่อยกว่า ดังนั้นยุทธศาสตร์นี้น่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคในชุมชนได้เร็วกว่าการมุ่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงวัย”

 

รัฐบาลอินโดนีเซียยังหวังว่ารูปแบบการฉีดวัคซีนนี้จะช่วยให้ประเทศบรรลุภาวะ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ เร็วขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สัดส่วนของประชากรมีภูมิคุ้มกันเองตามธรรมชาติ หรือได้รับวัคซีน จนเชื้อไวรัสไม่สามารถแพร่กระจายได้ 

 

บูดิ กูนาดิ สาดิกิน (Budi Gunadi Sadikin) รัฐมนตรีสาธารณสุขอินโดนีเซีย ระบุว่าต้องฉีดวัคซีนประชากรมากถึง 181.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 67% ของประชากรทั้งหมด เพื่อสร้างภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ นั่นหมายความว่าอินโดนีเซียต้องจัดหาวัคซีนให้ได้ราว 427 ล้านโดส เมื่อคำนึงว่าประชาชนคนหนึ่งต้องฉีดวัคซีน 2 ครั้ง

 

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า การเน้นฉีดวัคซีนให้คนวัยทำงานอายุ 18-59 ปีก่อน อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นจริง เพราะประชากรวัยนี้มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการมากกว่าประชาชนวัยอื่นๆ 

 

อินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่วิกฤตโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวถึง 2.2%  

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X