กองทัพเรืออินโดนีเซียเปิดเผยเมื่อวานนี้ (28 ธันวาคม) ว่าได้สกัดเรือไม้บรรทุกกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮีนจากว่า 120 คน ที่พบลอยลำเข้ามาในน่านน้ำนอกชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์เมื่อ 2 วันก่อน และได้ให้ความช่วยเหลือชั่วคราว ทั้งซ่อมเรือและให้เสบียงอาหาร ก่อนที่จะพยายามผลักดันให้เดินทางต่อไปยังน่านน้ำมาเลเซีย
โดยกองทัพเรืออินโดนีเซียยืนยันว่า ไม่สามารถรับกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮีนจาทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิงที่โดยสารกันอย่างแออัดอยู่ภายในเรือไม้ เนื่องจากเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งกลุ่มผู้อพยพทั้งหมดไม่ใช่พลเมืองอินโดนีเซีย
“ชาวโรฮีนจาไม่ใช่พลเมืองอินโดนีเซีย และกองทัพไม่สามารถนำพวกเขาเข้ามาในฐานะผู้ลี้ภัยได้ นี่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล” เดียน เซอร์ยันสยาห์ เจ้าหน้าที่กองทัพเรืออินโดนีเซียกล่าว
ขณะที่ บัดรุดดิน ยูนุส ผู้นำชุมชนชาวประมงท้องถิ่น เปิดเผยว่ามีชาวประมงได้เข้าไปเยี่ยมกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮีนจาบนเรือ และพบว่า กลุ่มผู้อพยพชาวโรฮีนจานั้นล่องเรืออยู่กลางทะเลมานานกว่า 28 วันแล้ว ซึ่งบางคนนั้นล้มป่วยและมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน โดยเครื่องยนต์ของเรือนั้นเกิดเสียและพวกเขาไม่สามารถสื่อสารกับชาวประมงได้เนื่องจากพูดคนละภาษา
ทั้งนี้ ทางการอินโดนีเซียได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ด้วยการช่วยซ่อมแซมเรือที่เสียหาย พร้อมทั้งให้อาหาร น้ำและยา รวมถึงเสื้อผ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง ก่อนที่จะผลักดันเรือให้เดินทางต่อไปยังน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
ซึ่งการดำเนินการมีขึ้นท่ามกลางเสียงเรียกร้องจาก Amnesty International และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เรียกร้องให้อินโดนีเซียรับกลุ่มผู้อพยพทั้งหมด โดยแถลงการณ์ของ UNHCR ระบุว่า เรือของผู้อพยพเกิดปัญหาเครื่องยนต์เสียหายและควรได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่ง
“UNHCR กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและชีวิตของผู้อพยพบนเรือ” แถลงการณ์ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2020 พบว่ามีชาวโรฮีนจาหลายร้อยคนที่อพยพลี้ภัยจากเมียนมาและเดินทางข้ามทะเลไปถึงอินโดนีเซีย ขณะที่อินโดนีเซียนั้นไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี 1951 และถูกมองว่าเป็นประเทศทางผ่านสำหรับผู้ลี้ภัยที่ต้องการอพยพไปยังประเทศที่สาม
อ้างอิง: