×

การประท้วงในอินโดนีเซีย กับการตื่นขึ้นอีกครั้งของพลังนักเรียนนักศึกษาในรอบกว่า 20 ปี

16.11.2020
  • LOADING...
การประท้วงในอินโดนีเซีย

HIGHLIGHTS

  • คนอินโดนีเซียกำลังเดินหน้าประท้วงต่อต้านการออก Omnibus Law ร่างกฎหมายหลายฉบับที่เป็นปัญหา ถือเป็นการประท้วงต่อเนื่องมาจากปลายปี 2562 ซึ่งเป็นการต่อต้านร่างกฎหมายหลายฉบับเหมือนกัน โดยหนึ่งในแกนหลักของการประท้วงปี 2562-2563 นี้ก็คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษนับตั้งแต่ล้มระบอบเผด็จการทหารซูฮาร์โตสำเร็จ
  • การตื่นขึ้นอีกครั้งของพลังนักเรียนนักศึกษาอินโดนีเซีย สะท้อนถึงระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กำลังถดถอย รวมถึงระบบการเมืองที่อ่อนแอ และมีทีท่าเดินถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การเรียกร้องของพวกเขาไม่ได้จำกัดแค่การต่อต้านร่างกฎหมายที่มีปัญหา แต่ยังครอบคลุมกว้างไปถึงการปฏิรูปการเมือง

ขณะที่การประท้วงในไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งประเทศอาเซียนอย่างอินโดนีเซียก็กำลังเผชิญกับการประท้วงต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ในเวลาไล่เลี่ยกัน

 

การประท้วงในอินโดนีเซียปะทุขึ้นจากแรงต่อต้านของประชาชนต่อการออกร่างกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงานและการลงทุนในประเทศ ซึ่งถูกเรียกในชื่อ Omnibus Law โดยรัฐบาลอินโดนีเซียให้เหตุผลในการออกกฎหมายเหล่านี้ว่า จะช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ ต่อการลงทุนในประเทศ อำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ และที่สำคัญคือเอื้อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากพิษโควิด-19 

 

แต่เมื่อไล่ดูเนื้อหาอย่างถี่ถ้วน ชาวอินโดนีเซียพบว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน ขณะที่สิทธิแรงงานหลายอย่างถูกลดทอน และยังทำให้สิ่งแวดล้อมรวมถึงวิถีชีวิตชนพื้นเมืองตกอยู่ในอันตราย นอกจากนี้กระบวนการร่างกฎหมายดังกล่าวยังแทบไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น

 

ชาวอินโดนีเซียในหลายเมืองเริ่มออกมาประท้วงกฎหมายนี้ตั้งแต่ที่เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการร่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การประท้วงได้ลุกลามบานปลายขึ้นในเดือนตุลาคมหลังจากที่รัฐสภาลงมติผ่านร่างกฎหมายเสร็จสิ้น 

 

การประท้วงครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการขอขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และการเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด หรือโจโกวีลาออก ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมยืนกรานที่จะประท้วงต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุข้อเรียกร้อง ถึงแม้จำนวนผู้ชุมนุมจะแผ่วลงไปบ้างจากเดือนที่แล้ว แต่การประท้วงก็ยังคงเดินหน้าอยู่เป็นระยะ

 

สิ่งที่หน้าสนใจคือการชุมนุมประท้วงถูกขับเคลื่อนโดยคนอินโดนีเซียหลายกลุ่มก้อนทั้งกลุ่มแรงงาน ภาคประชาสังคม และอีกหนึ่งกลุ่มที่นับว่าเป็นแกนหลักก็คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา

 

การประท้วงในอินโดนีเซีย

 

พลังนักเรียนนักศึกษาอินโดนีเซียในการประท้วงระลอกล่าสุด

ในบรรดาผู้ประท้วงหลายพันหลายหมื่นคน กลุ่มนักเรียนนักศึกษาคือกลุ่มหนึ่งที่ยืนโดดเด่นที่สุด พวกเขามักจะมาในชุดแจ็กเก็ตต่างสีสัน ซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ประจำสถานศึกษาของตัวเอง 

 

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเหมือนกับการเคลื่อนไหวของคนอินโดนีเซียภาคส่วนอื่นๆ ที่แตกแยกย่อยออกเป็นหลายกลุ่มหลายองค์กร ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน สอดคล้องกับรูปแบบของการชุมนุมประท้วงของหลายประเทศในศตวรรษที่ 21

 

ถึงแม้นักเรียนนักศึกษาจะไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากร่างกฎหมาย Omnibus Law เหมือนอย่างกลุ่มแรงงาน แต่พวกเขาตระหนักดีว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พวกเขาก็กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือพวกเขากำลังจะตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายชุดนี้ การมองเห็นอนาคตของตัวเองที่มืดมนในตลาดแรงงานภายใต้กฎระเบียบใหม่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน Omnibus Law ขณะเดียวกันพวกเขายังถือว่าตัวเองได้ช่วยเรียกร้องสิทธิให้กับแรงงานเพื่อนร่วมชาติ รวมถึงปกป้องชนพื้นเมืองและสิ่งแวดล้อมจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมด้วย

 

อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาระลอกล่าสุดนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเพียงเพราะ Omnibus Law แต่นับย้อนไปถึงช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว การปะทุของพลังนักเรียนนักศึกษาอินโดนีเซียเกิดขึ้นจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดไล่เลี่ยกันในช่วงเวลานั้น ได้แก่ การแก้ไขกฎหมายที่ไปลดทอนอำนาจขององค์กรปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งถูกมองว่าเอื้อให้เกิดการโกงกินมากขึ้น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดให้การหมิ่นประธานาธิบดีเป็นอาชญากรรม ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และยังใช้ข้อกฎหมายค่อนไปทางอนุรักษนิยมสุดโต่ง อย่างเช่นการห้ามการมีเพศสัมพันธ์นอกสมรส นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อย่างการที่รัฐสภาชะลอร่างกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ และการออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์นายทุนแต่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน คุกคามสิทธิเหนือที่ดินทำกินของชาวบ้าน และยังทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจัยหลายอย่างประกอบกันนี้ทำให้บรรดานักเรียนนักศึกษาในอินโดนีเซียมองว่า รัฐบาลกำลังพาประเทศเดินถอยหลัง เพราะกฎหมายบางอย่างที่เพิ่งถูกเสนอขึ้นมาใหม่นี้เป็นการรื้อฟื้นกฎหมายที่เคยถูกยกเลิกไปนานแล้วตั้งแต่สมัยอาณานิคม รวมทั้งยังทำลายหลักประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน และความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ แนวคิดนี้ปลุกให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาออกมาเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ชะลอหรือยกเลิกการออกกฎหมายเหล่านี้ และยังขยับขยายไปสู่ข้อเรียกร้องอื่นๆ อีกจำนวนมากอย่าง เช่น การเรียกร้องให้หยุดเล่นงานและปล่อยตัวบรรดานักกิจกรรม สอบสวนและลงโทษการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ และยุติการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารมารับตำแหน่งของพลเรือน

 

การประท้วงของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาปลายปี 2562 จัดว่าประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่ง เพราะทำให้รัฐสภายอมตัดสินใจชะลอกระบวนการผ่านข้อกฎหมายเหล่านั้นออกไปไม่มีกำหนด แต่แล้วเมื่อเข้าสู่ปี 2563 การออกกฎหมาย Omnibus Law ก็ได้ปลุกให้นักเรียนนักศึกษาลุกฮือขึ้นมาอีก Omnibus Law นี้ยังถูกมองว่าแอบสอดไส้ข้อกฎหมายบางประเด็นที่ถูกต่อต้านในการชุมนุมปลายปี 2562 ด้วย ดังนั้นการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาอินโดนีเซียในห้วงเวลานี้จึงถือเป็นระลอกที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมในปลายปีที่แล้ว

 

การชุมนุมในบางครั้งทวีความตึงเครียดจนเกิดภาพของความรุนแรงในการปะทะกันระหว่างมวลชนกับตำรวจ เจ้าหน้าที่พยายามสลายการชุมนุมด้วยอาวุธต่างๆ จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่ง และมีหลายพันคนถูกจับกุม นอกจากความพยายามหยุดยั้งการชุมนุมด้วยการปราบปรามและจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ภาครัฐยังคอยสกัดไม่ให้ประชาชนรวมทั้งนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมชุมนุม อย่างเช่น การออกจดหมายเวียนของกระทรวงศึกษาธิการที่มีข้อความร้องขอไม่ให้นักเรียนนักศึกษาไปร่วมการประท้วง โดยอ้างเรื่องความรุนแรงและความเสี่ยงของการติดโควิด-19 รวมทั้งยังปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทางการพยายามกดดันสถานศึกษาให้ดำเนินการลงโทษนักเรียนนักศึกษาที่ร่วมชุมนุม 

 

นอกจากนี้ภาครัฐยังพยายามด้อยค่าการชุมนุมด้วยการให้ข่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีนักการเมืองและต่างประเทศชักใยอยู่เบื้องหลัง จงใจทำลายประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจหยุดยั้งนักเรียนนักศึกษาไม่ให้ออกมาแสดงพลังได้

 

การประท้วงในอินโดนีเซีย

 

การตื่นขึ้นอีกครั้งของพลังนักเรียนนักศึกษา สะท้อนความถดถอยของประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพลังนักเรียนนักศึกษามายาวนาน ย้อนไปได้ไกลถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่เน้นการต่อต้านเจ้าอาณานิคมดัตช์ หลังได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี 2492 กลุ่มนักเรียนนักศึกษาก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญ อย่างเช่นการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2508-2509 ที่มีส่วนช่วยโค่นล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) ภายใต้ซูการ์โน ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย นำไปสู่ยุคของนายพลซูฮาร์โต ซึ่งทำให้อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารยาวนานถึง 3 ทศวรรษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาถูกควบคุมอย่างหนัก จนไม่สามารถจัดกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเป็นรูปเป็นร่างมากนัก 

 

จนกระทั่งในปี 2540-2541 พลังนักเรียนนักศึกษากลับมารวมตัวกันเข้มแข็งอีกครั้งเพื่อขับไล่ซูฮาร์โต ซึ่งล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากพิษของวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาในตอนนั้นมีส่วนช่วยให้การโค่นล้มระบอบซูฮาร์โตสำเร็จ

 

อินโดนีเซียในยุคหลังการปิดฉากระบอบซูฮาร์โตจนถึงปัจจุบันนี้ถูกเรียกว่าเป็นยุค Reformasi หรือยุคแห่งการปฏิรูป เป็นช่วงที่ประเทศเริ่มเดินหน้าเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น กิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเริ่มได้รับการเปิดกว้าง บรรดาองค์การนักศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ เริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างมีอิสระ หลังจากที่ถูกจำกัดมานานในยุคซูฮาร์โต 

 

อย่างไรก็ตามในยุค Reformasi การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาก็แทบไม่ได้มีอิทธิพลต่อการเมืองมากเท่าไรแล้ว เนื่องจากระบบการเมืองของประเทศกำลังเดินตามครรลองประชาธิปไตย จึงไม่ได้มีเหตุให้พวกเขาออกมาเคลื่อนไหวมากนัก การเคลื่อนไหวกระจัดกระจายแยกกันไปในแต่ละองค์กร และมักเป็นการเคลื่อนไหวในประเด็นสังคมและการเมืองเล็กๆ น้อยๆ ตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม

 

เหตุการณ์การออกและแก้ไขกฎหมายหลายชุดในช่วงปลายปี 2562 ที่ถูกมองว่าล้าหลัง และลิดรอนสิทธิเสรีภาพบางอย่างของประชาชน ได้ปลุกให้พลังนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ซึ่งนับว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษนับตั้งแต่การเคลื่อนไหวโค่นล้มระบอบซูฮาร์โตในปี 2541 และการผ่านร่างกฎหมาย Omnibus Law ล่าสุดก็โหมไฟให้การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาลากยาวมาจนถึงตอนนี้

 

หากมองให้กว้างกว่าเพียงการต่อต้านร่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การกลับมาของพลังนักเรียนนักศึกษาในอินโดนีเซียหลังจากที่เงียบไปนานสะท้อนภาพว่าประชาธิปไตยของประเทศตอนนี้กำลังมีปัญหา และระบบการเมืองที่มีทีท่าจะย้อนกลับไปสู่ยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถึงแม้ 20 กว่าปีในยุค Reformasi จะปฏิรูปการเมืองอินโดนีเซียได้หลายเรื่อง แต่ประเทศก็ยังคงเจอปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึก กลไกการตรวจสอบที่มีปัญหา สถาบันการเมืองที่ขาดประสิทธิภาพ และชนชั้นนำที่ยังคอยแก่งแย่งตักตวงผลประโยชน์ 

 

การเข้ามารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจโกวีในตอนแรกถูกมองว่าจะช่วยให้การเมืองอินโดนีเซียสะอาดขึ้น เพราะโจโกวีมีภาพลักษณ์ที่ใสสะอาด ไม่ได้อิงอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำเดิม แต่ไปๆ มาๆ เขาก็ได้กลายเป็นชนชั้นนำคนใหม่ ขยายเครือข่ายอำนาจของตัวเอง สมคบผลประโยชน์กับชนชั้นนำเดิม และยังทำให้หลักประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนถดถอย อย่างเช่น การเล่นงานผู้เห็นต่าง และการเอื้อให้กองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยมขยายบทบาทมากขึ้น

 

การประท้วงในอินโดนีเซีย

 

ความอัดอั้นใจของชาวอินโดนีเซียต่อการเมืองประเทศตัวเองสะท้อนให้เห็นผ่านข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ได้มีแค่ความต้องการให้ยกเลิกหรือชะลอร่างกฎหมายที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ได้ขยายกว้างครอบคลุมถึงการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันการเมืองในบางประเด็นให้สอดรับกับประชาธิปไตยมากขึ้น รวมทั้งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่กำลังถดถอย นอกจากนี้ความไม่พอใจของคนอินโดนีเซียยังถูกถ่ายทอดออกมาเป็นหนึ่งในสโลแกนสั้นๆ ของการชุมนุมที่ว่า Reformasi Dikorupsi (Reformasi Corrupted) มีความหมายว่ายุคแห่งการปฏิรูปของอินโดนีเซียกำลังถูกทำลายด้วยกลุ่มชนชั้นนำที่ฉ้อฉล และเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง พวกเขารู้สึกว่าอินโดนีเซียเหมือนกำลังย้อนยุคไปในสมัยซูฮาร์โตที่มีระบบการเมืองย่ำแย่ล้าหลัง

 

เอ็ดเวิร์ด แอสปินาล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ความเห็นว่า การลุกฮือขึ้นมาอีกครั้งในรอบกว่า 20 ปีของกลุ่มนักเรียนนักศึกษา นอกจากจะสะท้อนถึงประชาธิปไตยของอินโดนีเซียที่กำลังเดินผิดทาง แต่ยังบ่งบอกว่า สถาบันการเมืองที่ควรเป็นตัวแทนของประชาชน อย่างเช่น พรรคการเมือง รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่ทำให้ประชาชนและนักเรียนนักศึกษาต้องออกมาเรียกร้องด้วยตัวเอง ต่างจากช่วงปฏิรูปหลังระบอบซูฮาร์โตล่มสลายใหม่ๆ ที่กลไกการเมืองทำงานไปได้ดี จนทำให้ประชาชนไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวใหญ่มากมายนัก

 

แอสปินาลยังชี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้นักเรียนนักศึกษาออกมาเป็นแกนหลักในการชุมนุมประท้วงตอนนี้ก็คือ ผลพวงจากการเข้าสู่ยุค Reformasi ที่ทำให้องค์กรของนักเรียนนักศึกษาได้รับการจัดตั้งอย่างเข้มแข็ง มีอิสระในการทำงาน ส่งผลให้การจัดการเคลื่อนไหวระดับชาติเกิดขึ้นได้ง่าย และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือการได้รับแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ที่รุ่นพี่นักเรียนนักศึกษาได้มีส่วนร่วมต่อสู้ทางการเมืองมาหลายครั้ง รวมไปถึงการต่อสู้ในปี 2540-2541 ที่โค่นล้มระบอบซูฮาร์โตสำเร็จ นำไปสู่ยุคแห่งการปฏิรูป ซึ่งนักเรียนนักศึกษามองว่าคือมรดกอันล้ำค่าที่รุ่นพี่ทิ้งไว้ให้ประเทศชาติ แต่เมื่อผู้ปกครองและชนชั้นนำกำลังทำลายมรดกนี้ นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันจึงรู้สึกว่า ภารกิจที่รุ่นพี่ของพวกเขาทำไว้ยังไม่เสร็จสิ้น และเป็นหน้าที่ของพวกเขาที่ต้องสานต่อ

 

การตื่นขึ้นมาอีกครั้งของพลังนักเรียนนักศึกษาเป็นตัวบ่งชี้ถึงประชาธิปไตย และประสิทธิภาพระบบการเมืองของประเทศที่กำลังโอนเอน ออกนอกลู่นอกทาง และอาจย้อนหวนไปสู่ยุคเผด็จการ หากปัญหาฐานรากนี้ไม่ได้รับการแก้ไข พลังนักเรียนนักศึกษาก็คงไม่อาจหลับใหลลงไปได้ง่ายๆ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X